ตลาดหุ้นไทยช่วงเช้านี้ (10 สิงหาคม) ดัชนี SET ปรับตัวลงแตะระดับ 1,609.50 จุด ลดลงต่ำสุด 9.30 จุด โดยกลุ่มหุ้นที่กดดันดัชนีมากสุดคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) กดดันดัชนีราว 1.7 จุด
โดยหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงหนักในวันนี้ คือ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) -6.8%, บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) -4.92%, บมจ.เอสวีไอ (SVI) -4.14% ส่วนหุ้นที่มีมูลค่ามากที่สุดในกลุ่ม คือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) -1.86%
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้น KCE ที่ลดลงหนักสุดวันนี้เป็นผลจากการที่กำไรไตรมาส 2 ของบริษัทออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ 12% และเมื่อคืนที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน เนื่องจากหลายบริษัทออกมาปรับลดมุมมองการเติบโตลง
“กำไรที่ต่ำคาดของ KCE เป็นผลจากเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และสายการผลิตใหม่ยังเดินเครื่องได้ต่ำกว่าที่คาดไว้”
นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันอาจจะนำไปสู่ปัญหา Supply Disruption อย่างเช่น การขาดแคลนชิปของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
การซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันของจีนอาจจะลากยาวไปถึงกลางเดือนสิงหาคม อาจจะไม่ถึงขั้นบุกเข้าไปในไต้หวัน แต่แค่การปิดล้อมไว้นานก็เป็นแรงกดดันค่อนข้างมาก เพราะการที่ไต้หวันมีลักษณะเป็นเกาะ จึงจำเป็นต้องนำเข้าอาหารในสัดส่วนที่มาก เพราะไต้หวันมีอัตราส่วน Food Self-Sufficiency หรืออัตราส่วนการผลิตอาหารได้เองเพียง 35%
“หากมีการปิดล้อมไต้หวันต่อเนื่อง ถือเป็น Downside ต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพราะสินค้าจะไม่สามารถผลิตได้เสร็จสมบูรณ์ อย่างรถยนต์ทั้งคันหากขาดชิ้นส่วนแค่ 1-2 ตัว ก็ผลิตได้ไม่เสร็จ”
แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวลดลงแรง แต่นักลงทุนควรรอให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันเริ่มคลี่คลายเสียก่อน สำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่ควรจะยอมตัดขาดทุนเพื่อปิดความเสี่ยง เพราะประเด็นไต้หวันอาจจะลากยาวได้
นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนใหม่ๆ ก็ยังไม่มี และหากมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ต่อเนื่อง และเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่า ต่างก็เป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรม
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ผลกระทบจากกรณีที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันก่อนหน้านี้ เป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการของจีนต่อไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันยังเข้าข่าย ‘กรณีไม่มีความรุนแรง’
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มที่มีความเกี่ยวเนื่องกับไต้หวัน เช่น DELTA และหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับจีน เช่น IVL, PTTGC, TOP และ HANA รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน การลงทุนภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าวควรจะเลือกหุ้นที่ได้อานิสงส์ทางอ้อม อาทิ กลุ่มนิคมที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ เช่น AMATA และ WHA กลุ่มอื่นที่ตลาดน่าจะมองเป็นทางเลือก คาดว่าอยู่ในกลุ่มหุ้นเชิงรับรองรับความเสี่ยงผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจได้ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล อย่าง BDMS, BCH และ CHG รวมถึงหุ้นเติบโตสูงที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ เช่น IIG, BE8, BBIK, JMT, CHAYO และ SINGER
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP