×

เกิดอะไรขึ้นในอินเดีย เมื่อความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ลุกลามสู่การปะทะเดือด จนมีคนตายครึ่งร้อยในไม่กี่วัน

09.05.2023
  • LOADING...

นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมณีปุระของอินเดียได้เผชิญกับเหตุการณ์ปะทะรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนให้ถนนหนทางในเมืองมีสภาพไม่ต่างจากสมรภูมิรบ อาคารบ้านเรือนหลายนับพันหลังถูกเผาทำลาย รถยนต์หลายคันถูกจุดไฟเผาวอดอยู่กลางถนน ควันดำจากเพลิงไหม้ลอยโขมงอยู่เต็มท้องฟ้า ขณะที่มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 55 คน ส่วนประชาชนอีกกว่า 23,000 คนต้องหนีตายออกจากบ้านเรือนของตนเองเพราะหวั่นเกรงว่าจะถูกลูกหลงเข้าสักวัน 

 

แม้ทางการอินเดียจะวิงวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้ง แต่ดูเหมือนว่าคำขอเหล่านั้นจะไร้ความหมาย ส่งผลให้ทางการต้องงัดใช้ไม้แข็งเข้ามาปราบเหตุจลาจลให้สงบโดยเร็ว ด้วยการส่งทหารลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ พร้อมสั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตมือถือในรัฐที่มีประชากรราว 3 ล้านคนเป็นเวลา 5 วัน ขณะที่ อนุสุยยา อุยกี (Anusuiya Uikey) ผู้ว่าการรัฐมณีปุระ ได้ออกคำสั่งให้ ‘ยิงทันที’ หากเจ้าหน้าที่พบเห็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงจนไม่สามารถควบคุมด้วยวิธีการอื่นๆ 

 

แม้เจ้าหน้าที่จะระบุว่าพวกเขากำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่ความตึงเครียดยังคงคุกรุ่น ด้วยท่าทีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังคงเป็นปรปักษ์ต่อกัน จากปูมหลังของพื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง และมีประวัติความขัดแย้งฝังรากลึก รวมถึงการต่อสู้ในฐานะคนชายชอบมาอย่างยาวนาน

 

เกิดอะไรขึ้นในรัฐมณีปุระ ปมความขัดแย้งที่ทำให้คนครึ่งร้อยตายในเวลาไม่กี่วันเกิดจากอะไร? ติดตามได้ในบทความชิ้นนี้

 


 

กลุ่มชาติพันธุ์คู่ขัดแย้งคือใคร 

 

ก่อนจะลงลึกสู่รายละเอียดของเหตุความรุนแรง THE STANDARD ขอไล่เรียงข้อมูลเพื่อปูพื้นความรู้ให้กับผู้อ่านกันสักนิด โดยเริ่มจากตัวละครสำคัญซึ่งกำลังเป็นคู่ขัดแย้งในรัฐมณีปุระ

 

กลุ่มแรกคือ ‘กลุ่มชาติพันธุ์เมเต’ (Meitei) ชุมชนชาวฮินดู ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในรัฐมณีปุระ ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของอินเดียเมื่อปี 2011 ระบุว่า ในจำนวนประชากรทั้งรัฐที่ราว 3.5 ล้านคน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เมเตไปแล้วเกิน 50% โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองอิมผาล (Imphal) เมืองเอกของรัฐมณีปุระ

 

กลุ่มต่อมาคือชนเผ่า ‘นากา’ (Naga) และ ‘กูกิ’ (Kuki) โดยสมาชิกชนเผ่าทั้ง 2 ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ มีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของรัฐมณีปุระ โดยพวกเขามีสถานะเป็น ‘ชนเผ่าที่ถูกกำหนด’ (Scheduled Tribe) หรือเป็นชนเผ่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ และได้รับสิทธิ์ต่างๆ ตามที่กฎหมายอินเดียกำหนด รวมถึงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินบนเนินเขาและป่าไม้ โดยทั้งสองชนเผ่านับเป็นชนเผ่าสำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่ตามเนินเขา

 

ด้วยความที่รัฐมณีปุระเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง นอกจาก 3 กลุ่มข้างต้นแล้วก็ยังมีชนเผ่าอื่นๆ อีก เช่น ชนเผ่ามิโซ (Mizo) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา

 

ทำไมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ถึงขัดแย้งกัน

 

ความขัดแย้งปะทุขึ้นในเขตจุราจันทปุระ (Churachandpur) ของรัฐมณีปุระ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชนเผ่ากูกิมีอำนาจอยู่ โดยชนเผ่ากูกิได้ประท้วงต่อต้านข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์เมเตที่หวังจะได้รับสถานะชนเผ่าที่ถูกกำหนด 

 

โดยนิยามของคำว่าชนเผ่าที่ถูกกำหนดนั้น คือชนเผ่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และจะได้รับสิทธิ์ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองที่ดิน สิทธิ์การรักษาพยาบาล การศึกษา หรือการทำงานในหน่วยงานของรัฐ 

 

สำหรับในรัฐมณีปุระเอง หลายชนเผ่าก็ได้รับสถานะดังกล่าวแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดอย่างเมเตกลับไม่ได้รับการยืนยันสถานะนี้ ซึ่งทางกลุ่มเองก็ได้เดินหน้าเรียกร้องประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากมองว่าสมาชิกของเมเตยังคงมีสภาพเป็นคนชายขอบเมื่อเทียบกับชุมชนหลักอื่นๆ ในมณีปุระ

 

แต่ชนเผ่าอื่นๆ ไม่ได้คิดเช่นนั้น พวกเขามองว่าการให้สถานะชนเผ่าที่ถูกกำหนดแก่เมเตถือจะทำให้สมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ถูกแย่งงานและเสียสิทธิประโยชน์ของตนเองไป อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า พวกเขาต่างหากที่เป็นคนชายขอบ ไม่ใช่กลุ่มเมเตที่มีความโดดเด่นและเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในภูมิภาคนี้

 

จากความขัดแย้งสู่การประท้วงใหญ่

 

ชนเผ่าต่างๆ มองว่ากลุ่มเมเตมีอิทธิพลมากที่สุดในรัฐมณีปุระอยู่แล้ว โดยสมาชิกของกลุ่มเมเตหลายคนมีตำแหน่งในรัฐบาลของมณีปุระ จึงทำให้ทางกลุ่มมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ อีกทั้งการเข้าสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานก็มีมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มเมเตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเอกของรัฐซึ่งมีความพัฒนาก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่กลุ่มนากาและกูกิส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเนินเขาที่ได้รับการคุ้มครอง

 

แล้วเหตุใดเล่า…กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอภิสิทธิ์เช่นนี้อยู่แล้วจึงจะต้องได้รับสถานะยืนยันดังกล่าวด้วย? ทำไมจะต้องแบ่งเค้กก้อนใหญ่ให้พวกเขามีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม?

 

เมื่อคำถามนี้ดังขึ้น สมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐมณีปุระรวมหลายพันคนจึงได้ออกมาชุมนุมประท้วง เพื่อต่อต้านการอนุญาตให้กลุ่มชาติพันธุ์เมเตมีสถานะเป็นชนเผ่าที่ถูกกำหนด โดยพวกเขากังวลว่าหากเมเตได้รับสถานะนี้ไป เมเตก็จะมีสิทธิ์ถือครองที่ดินและพื้นที่บนภูเขา ซึ่งมีชนเผ่าอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิ์ครอบครองอยู่

 

กระแสความไม่พอใจได้ลุกลามไปสู่เหตุนองเลือดกลางเมืองอิมผาล ตลอดจนพื้นที่อื่นๆ ของรัฐ ภาพจากวิดีโอเผยให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาอาคารบ้านเรือนของประชาชนและโบสถ์ในพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วอย่างน้อย 55 คน มีคนเจ็บที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 260 คน ขณะที่มีพลเรือนกว่า 23,000 ชีวิตที่ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ดังกล่าว และต้องระหกระเหินไปพักอาศัยในฐานทัพทหารและที่ตั้งของกองทหารรักษาการณ์ของรัฐเป็นการชั่วคราว

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดข้อขัดแย้งกัน โดยที่ผ่านมานั้น ชุมชนเมเตและชนเผ่าต่างๆ มีประวัติต่อสู้กันอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปมมาจากความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ที่เรื้อรังมายาวนาน รวมถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ เช่น สิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน และการปราบปรามชนกลุ่มน้อย

 

สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร

 

วานนี้ (8 พฤษภาคม) เอ็น. บิเรน ซิงห์ (N. Biren Singh) มุขมนตรีของรัฐมณีปุระกล่าวว่า เขาติดต่อกับ อามิต ชาห์ (Amit Shah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอินเดียเพื่อติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด โดยเสริมว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ประชาชนหลายพันคนเริ่มทยอยกลับบ้านของตนเองโดยมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอินเดียคอยช่วยเหลือ แต่ถึงเช่นนั้น สถานการณ์ก็ยังคงตึงเครียด หลายคนยังไม่กล้ากลับหมู่บ้านเพราะกลัวว่าความรุนแรงจะปะทุขึ้นอีก

 

ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งขณะนี้อยู่ที่รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ในภารกิจหาเสียงเลือกตั้งระดับรัฐ ยังไม่ได้ออกมากล่าวอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งจุดชนวนความโกรธแค้นให้กับคนในรัฐมณีปุระเป็นอย่างมาก

 

ขณะเดียวกัน นักการเมืองจากพรรคฝ่านค้านก็ได้จวกโมดีและพรรครัฐบาลว่าไร้ประสิทธิภาพในการปกครองประเทศ

 

“ในขณะที่ความรุนแรงในรัฐมณีปุระยังดำเนินอยู่นี้ ชาวอินเดียที่มีแนวคิดขวาจัดต้องถามตัวเองแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับธรรมาภิบาลที่เคยโอ้อวดกันไว้” ชาชิ ธาโรร์ (Shashi Tharoor) สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคฝ่ายค้านกล่าว

 

ภาพ: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising