×

รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสถานะบุคคลกลุ่มชาติพันธุ์ – ชนกลุ่มน้อยที่เกิดและอาศัยในไทยมานานราว 1.4 แสนราย ไม่รวมแรงงานต่างด้าว

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2025
  • LOADING...
รัฐบาลไทยเดินหน้าแก้ปัญหาสถานะบุคคลให้ชนกลุ่มน้อยกว่า 1.4 แสนรายที่เกิดและอาศัยในไทยมานาน

วันนี้ (12 กรกฎาคม) ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ว่า จากมติ ครม. ดังกล่าว ได้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และการสั่งให้บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา 

 

โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ประมาณ 1.4 แสนราย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและมีข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรไว้แล้ว อาทิ ภาพถ่ายใบหน้า ลายพิมพ์นิ้วมือ

 

กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

 

  1. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักร โดยมีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มต่าง ๆ หรือมีชื่อในทะเบียนบ้าน มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 6 และเลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 50 ถึงเลข 72 รวมถึงคนที่มีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ มีชื่อในทะเบียนบ้าน มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 5 หรือเลข 8 ด้วย

 

  1. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักร โดยมีบิดาหรือมารดาได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 รวมถึงชาวมอร์แกน โดยคนกลุ่มนี้จะมีชื่อในทะเบียนประวัติ มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 0 และเลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 89 ซึ่งหมายรวมถึงบิดาหรือมารดาที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติด้วย

 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลขอยืนยันว่า การดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 29 ตุลาคม 2567 มิใช่การให้สัญชาติแก่แรงงานต่างด้าว ผู้มีสัญชาติอื่น หรือผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแต่อย่างใด

 

แต่เป็นการแก้ไขปัญหาความไร้สถานะทางทะเบียนของบุคคลกลุ่มเป้าหมายประมาณ 1.4 แสนราย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และผ่านการจัดทำทะเบียนประวัติอย่างเป็นระบบแล้ว 

 

โดยรัฐบาลได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เข้มงวด และตรวจสอบได้ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องโหว่ในการแสวงหาประโยชน์ และที่สำคัญคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีสิทธิอย่างแท้จริงบนหลักของความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising