×

“อย่าไปสาระแน ให้ประชาชนตัดสิน” พรรณิการ์ชี้ ถ้ามาตรฐานจริยธรรมสำคัญกว่ากฎหมาย ไทยอาจต้องเปลี่ยนการปกครอง

07.02.2024
  • LOADING...

วานนี้ (6 กุมภาพันธ์) พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงกรณีการยื่นสอบมาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองไทยของนักร้องเรียน

 

พรรณิการ์กล่าวว่า หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อตรวจสอบความประพฤติของนักการเมืองไทย ซึ่งจำแนกเป็น 4 หมวด ได้แก่ 

 

หมวดหนึ่งคือ มาตรฐานทางจริยธรรมที่เป็นอุดมการณ์, หมวดสองคือ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก, หมวดสามคือ จริยธรรมทั่วไป และหมวดสี่คือ หมวดที่ว่าด้วยการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการกระทำในลักษณะที่ร้ายแรง

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 ระบุว่า การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมจะถูกดำเนินคดี โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หากเห็นว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ไม่เกิน 10 ปี

 

พรรณิการ์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยถูกออกแบบด้วยระบอบนิติรัฐนิติธรรมให้มีสถาบันบังคับใช้และเสนอกฎหมาย แต่ไม่ได้ออกแบบให้มีสถาบันที่บังคับใช้และออกกฎจริยธรรมอย่างเป็นทางการในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจแทนประชาชนในประเทศ  

 

ดังนั้น หากนักร้องเรียนคิดว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนักการเมืองสำคัญกว่ากฎหมาย ประเทศไทยอาจต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเข้าข่ายรัฐศาสนา เนื่องจากประเทศไทยปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

 

“ถ้าคุณให้ความสำคัญกับมาตรฐานทางจริยธรรมมากกว่ากฎหมาย ดิฉันคิดว่านี่มันล้มล้างการปกครองได้หรือไม่ เพราะคุณกำลังบอกว่าบ้านเมืองนี้ไม่ต้องมีกฎหมาย ใช้มาตรฐานจริยธรรม ขอให้เป็นคนดีก็เพียงพอแล้วเหรอ” พรรณิการ์กล่าวเพิ่ม

 

ส่วนการวัดมาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองไทยนั้น พรรณิการ์มองว่าประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน โดยไม่ต้องรอให้ใครมาชี้วัด เนื่องจากมาตรฐานขั้นต่ำได้ถูกกำหนดคุณสมบัติไว้ในการสมัครเลือกตั้งอยู่แล้ว และอาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพเดียวที่ได้รับการแต่งตั้งจากประชาชน 

 

“ถ้าคุณเชื่อว่าประชาชนมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดีพอ ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ถ้านักการเมืองคนนี้มันโกงมาก เลวมาก ประชาชนก็ไม่เลือก อย่าไปสาระแน ทำไมต้องไปคิดแทนประชาชน” พรรณิการ์กล่าวเพิ่ม

 

สำหรับมาตรฐานจริยธรรมการเมืองได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 219 ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกร่างขึ้นภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้จัดทำ และให้บังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ, สส., สว. และคณะรัฐมนตรี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising