วันนี้ (5 ก.ย.) ที่อาคารรัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายในญัตติด่วนเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาและตรวจสอบผลกระทบจากการดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยระบุว่า โครงการใหญ่ที่ให้สิทธินักลงทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถามว่าประเทศได้อะไร ประชาชนได้อะไร และอาจมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อวิถีชีวิตประชาชนหรือไม่
ทั้งนี้ พ.ร.บ. อีอีซี ร่างแรกเคยระบุว่า การจัดตั้งเขตพิเศษนี้ต้องมี การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือเอสอีเอ (SEA) แต่ที่สุดก็หายไป ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะแต่ละโครงการอาจผ่านการประเมินกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) แต่ถ้า 10 โรงงานที่ผ่านอีไอเอ แต่มีการรวมกันของมลพิษอย่างละเล็กๆ น้อยๆ จนในระดับพื้นที่อาจรับไม่ได้ ซึ่งเรามีบทเรียนมาแล้วจากมาบตาพุดที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นอยากให้ทบทวนว่าต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ด้วย
ศิริกัญญากล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ซึ่งเป็นปัญหาในภาคตะวันออกมายาวนาน ตนเองเติบโตในจังหวัดชลบุรี รับรู้เรื่องนี้ดี ดังนั้นถ้ามีการโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม แต่ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ก็อาจจะไม่ใช่ทางออก เพราะอาจต้องกรุกป่าเพิ่มหรือไม่ นอกจากนี้ในการบำบัดน้ำเสีย 3 จังหวัดเขตพื้นที่อีอีซี มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียที่ปล่อยออกมาแล้วเพียง 27% เท่านั้น แม้มีโครงการสร้างเพิ่ม แต่ไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้มีปริมาณที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน 5 ล้านตันต่อปี แต่มีไม่ถึงครึ่งที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง โดยที่ผ่านมามีโรงงานกำจัดของเสียอันตรายหนึ่งแห่งในระยอง ซึ่งตอนนี้เต็มและปิดหลุมแล้ว ทั้งนี้ ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องการลักลอบทิ้งในที่สาธารณะมาโดยตลอด แผนอีอีซีบอกว่าจะมีการสร้างเพิ่ม แต่ไม่ได้ระบุว่าจะทำอย่างไรต่อ ทำให้เกิดข้อกังวลว่าเมื่อขยายออกไปแล้ว เรายังมีศักยภาพกำจัดได้ตามหลักวิชาหรือไม่
“ผลกระทบที่กล่าวมานี้เป็นเพียงหนังตัวอย่าง ญัตติด่วนเรื่องนี้เรายื่นต่อสภาฯ เมื่อต้นกรกฎาคม เพื่อที่จะยับยั้งการอนุมัติผังเมืองอีอีซี ที่สถานะตอนนี้คือเพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอีอีซี และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในระยะเวลาอันใกล้
อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีที่เราได้มาพูด และหวังว่าเสียงนี้จะไปถึง ครม. ให้มีการทบทวนเรื่องการอนุมัติผังเมืองต่อไป เพราะเรื่องผังเมืองรวมนี้มีปัญหาอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. จัดทำขึ้นตามหลักวิชาการผังเมืองหรือไม่ เอื้อประโยชน์เจ้าของที่ดินหรือเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์พื้นที่หรือไม่ ทั้งยังเป็นผังเมืองแบบหยาบไม่ระบุรายละเอียดชัดเจนว่าพื้นที่ไหนควรทำอะไร 2. ความโปร่งใส มีการผ่านเรื่องผังเมืองในปี 2561 แต่หนึ่งปีก่อนหน้านี้ ได้เริ่มมีการจัดประมูลการทำผังเมืองแล้ว เท่ากับว่าผังเมืองได้ประมูลก่อนแผนออก เสมือนหนึ่งว่ามีการรับรู้ก่อนว่าจะมีการทำแผน และยังมีการอนุมัติส่งงานกันอย่างเร่งรัด และ 3. การทำประชาพิจารณ์ ไม่เปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ อีกทั้งความโปร่งใสอย่างการเลือกกลุ่มประชาชนมารับฟัง การกระจายตัวของกลุ่มประชาชนในพื้นที่ หรือข้อครหารเรื่องการทำประชาพิจารณ์ในลักษณะที่เป็นการเพื่อแจ้งให้ทราบ เป็นต้น” ศิริกัญญากล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า