×

สรุปแนวทาง ‘ร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ จากแนวคิดผู้นำหลายสาขา ระดับประเทศและโลก ในงาน ‘ESG Symposium 2023’ [ADVERTORIAL]

30.10.2023
  • LOADING...
ESG Symposium 2023

HIGHLIGHTS

  • เพราะภาวะโลกเดือด คือเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ 
  • ESG Symposium 2023’ เวทีความร่วมมือครั้งสำคัญที่จัดโดย SCG และเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จึงเกิดขึ้นในแนวคิด ‘ร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’  
  • เวทีนี้มีผู้นำทั้งรัฐ เอกชน และคนรุ่นใหม่ ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ที่มีการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำมาแชร์ประสบการณ์และแนวทางการนำ ESG ไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง ในหัวข้อ ‘ESG in Actions’

โลกส่งสัญญาณเตือนมาตลอดว่าใกล้จะหมดเวลา ถ้ามนุษยชาติยังไม่ร่วมมือกันเร่งเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพราะหากเราไม่สามารถหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสไว้ได้ เตรียมนับถอยหลังสู่ ‘ภาวะโลกเดือด’ (Boiling World) กันได้เลย 

 

เข้าขวบปีที่ 11 แล้วที่ SCG ยังคงมุ่งสร้างความร่วมมือให้เกิดการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติจริง ผ่านการจัดงาน ‘ESG Symposium’ ทว่าหัวข้อพูดคุยในปีนี้ต่างไป เพราะโลกกำลังเข้าสู่จุดเดือดที่ทุกภาคส่วนยิ่งต้องเร่งลงมือแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น 

 

‘ESG Symposium 2023’ จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’  

 

ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมงาน ESG Symposium 2023

 

โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการจัด Pre-Session ใช้เวลาร่วมเดือน ระดมสมองภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน เพื่อร่วมหาข้อเสนอเร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ บูรณาการพิชิต Net Zero ปี 2065 จนได้ออกมาเป็น 4 แนวทาง ได้แก่

 

  • ร่วมสร้าง ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
  • เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากวัสดุที่ใช้แล้ว โดยนำร่อง 3 อุตสาหกรรมหลัก บรรจุภัณฑ์-ยานยนต์-ก่อสร้าง 
  • เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด และส่งเสริมพลังงานทางเลือก 
  • ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยความรู้ เทคโนโลยีลดคาร์บอน แหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม 

 

 

ส่วนวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีให้ผู้นำหลากวัยหลายองค์กรชั้นนำ ทั้งระดับประเทศและโลก ที่ได้มีการดำเนินงานมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มาแชร์ไอเดียการทำงานภายใต้หัวข้อ ‘ESG in Actions’

 

THE STANDARD WEALTH ถือโอกาสสรุปสาระสำคัญของเหล่าผู้นำ ข้อเสนอแนะ ไปจนถึงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนการลงมือทำเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืนของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงท้ายของงาน 

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนตระหนักร่วมกันว่า ถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อกู้โลกเดือดเดี๋ยวนี้

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวเปิดงานพร้อมส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนตระหนักร่วมกันว่า ถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อกู้โลกเดือดเดี๋ยวนี้ “สหประชาชาติประกาศว่า เราอยู่ในยุคโลกเดือด  จึงอยากเชิญทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ SMEs มาช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ผมเชื่อมั่นว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน มุ่งมั่นพัฒนา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะทำให้ไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างแท้จริง” 

 

เปโดร สวาห์เลน (H.E. Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย

เปโดร สวาห์เลน (H.E. Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย แสดงความมุ่งมั่นในการผลักดัน ทั้งสวิตเซอร์แลนด์และไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ


เปโดร สวาห์เลน (H.E. Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันแสดงความมุ่งมั่นในการผลักดันประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

 

“เหตุผลที่สวิตเซอร์แลนด์ต้องร่วมมือกับประเทศอื่น เพราะการทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ปี 1990 กว่า 160 ประเทศร่วมลงนามเป็นภาคีเครือข่ายในข้อตกลงปารีส เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ดังนั้น เราต้องช่วยประเทศอื่นด้วย ผ่านการสนับสนุนต่างๆ 

 

สำหรับการช่วยเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เราทำผ่านการสนับสนุนของ KliK Foundation หรือมูลนิธิเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมของสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้ให้เงินทุนแก่บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน เพื่อให้บริการรถเมล์ไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2022”  

 

ชาวนา 3 คนกลางทุ่งนา

 

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ยังกล่าวว่า สวิตเซอร์แลนด์ยังมีแผนจะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการผลิตปูนซีเมนต์แบบใหม่ที่ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ เพื่อช่วยไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

 

“ด้านการเกษตร สวิตเซอร์แลนด์ จะนำเทคนิคการจัดการน้ำเพื่อลดก๊าซมีเทนในการปลูกข้าว หรือเทคนิคทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว (Alternate Wetting and Drying: AWD) เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้น้ำและปริมาณก๊าซมีเทนได้ถึง 48% โดย KliK Foundation อาจช่วยให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีนี้ได้”   

 

 

ด้านการผลิตปูนซีเมนต์ มีการผลิต Limestone Calcined Clay Cement หรือ LC3 ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้การผลิตปล่อยคาร์บอนน้อยลงสูงสุดถึง 40% ซึ่ง LC3 มีการใช้งานจริงในหลายประเทศทั่วโลก และ SCG สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ผลิตซีเมนต์คาร์บอนต่ำในประเทศไทยได้ 

 

“เรามั่นใจว่าการลงทุนและความร่วมมือของสวิตเซอร์แลนด์และไทยจะเดินหน้าต่อไป เพื่อช่วยกันส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เติบโต และลดผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย” เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทยกล่าวในตอนท้าย

 

มร.ฮิโรกิ นากาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ CJPT และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น

มร.ฮิโรกิ นากาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ CJPT และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงความตั้งใจในการร่วมสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น พร้อมนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้กระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนลดลง

 

มร.ฮิโรกิ นากาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Commercial Japan Partnership Technologies Corporation  (CJPT) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่สนับสนุนการสร้างการขนส่งคาร์บอนต่ำ หรือ Green Logistics ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งบริษัท Commercial Japan Partnership Technologies (CJPT) – Asia ในไทย กล่าวว่า 

 

“ในฐานะบริษัทที่มุ่งสร้างการขับเคลื่อนความสุขให้กับผู้คน เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่รัฐบาลที่ตั้งเป้าให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งตลาด 30% และในฐานะผู้ผลิตก็จะสนับสนุน พร้อมนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้ทุกกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนลดลงกับส่วนที่เหลือ 70% ด้วย” 

 

การดำเนินการนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง CJPT ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้ผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ญี่ปุ่นประกอบด้วย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง และบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด เพื่อ 1. สนับสนุนประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 2. แก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมด้านการขนส่งที่เผชิญอยู่ และ 3. เร่งให้มีการนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดไปใช้ให้มากขึ้น

 

 

“แต่ละประเทศสามารถเปลี่ยนการขนส่งให้ปล่อยคาร์บอนต่ำลงได้ ด้วยการใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงพลังงานไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่มีคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สำหรับประเทศไทยได้ร่วมมือกับ SCG ในภาคการขนส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้น ไปจนถึงความร่วมมือกับ CP ในการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากพลังงานไบโอก๊าซ หรือ ‘ก๊าซชีวภาพ’ ต่างๆ เช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีการเริ่มใช้รถบรรทุกไฮโดรเจนในเมืองนากาชิม่าและเกียวโตแล้ว” มร.นาคาจิม่ากล่าว

 

จอห์น โอดอนเนลล์ ซีอีโอของ Rondo Energy

จอห์น โอดอนเนลล์ ซีอีโอของ Rondo Energy เล่าถึงนวัตกรรม Heat Battery ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและยั่งยืนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้

 

จอห์น โอดอนเนลล์ ซีอีโอของ Rondo Energy ประกาศชัดเจนว่า “พลังงานความร้อนส่งต่อและกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้” เขาบอกว่า Rondo Energy ได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Heat Battery เพื่อกักเก็บความร้อน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและยั่งยืนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้

 

“Heat Battery คือแบตเตอรี่ที่นำความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์มาเก็บในก้อนอิฐทนไฟ (Refractory Brick) และเมื่ออุตสาหกรรมต้องการใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต ระบบจะปล่อยลมเข้าไปกระทบกับอิฐทนไฟนี้เพื่อให้ปล่อยความร้อนออกมา โดยสามารถควบคุมระดับความร้อนได้ด้วยการใช้ AI จึงเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ต้องสร้างความร้อนจากการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 25% ของโลก” 

 

โอดอนเนลล์ยังมองว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดที่ดีจะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวหน้าแม้จะมีความท้าทาย เพราะหากภาคส่วนต่างๆ ไม่ปรับตัว เช่น ภาคอุตสาหกรรม ก็จะไม่สามารถอยู่ได้

 

“หลายคนบอกว่าภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ยาก แต่ตอนนี้เรามีเทคโนโลยี Heat Battery แล้ว เราเลยอยากเดินหน้าสิ่งนี้ เช่นเดียวกับที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราประกาศความร่วมมือกับ SRIC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCG เพื่อผลิตอิฐทนไฟป้อนโรงงานผลิต Heat Battery ของเรา ปัจจุบันสามารถผลิตอิฐทนไฟที่กักเก็บความร้อนได้ 2.4 GWh ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 90 GWh ต่อปีในอนาคต ถ้าหากทำสำเร็จจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12 ล้านตันต่อปี คนรุ่นหลังจะได้มีโลกที่เป็นธรรมกับเขามากขึ้น” 

 

โรเจอร์ มาร์คิโอนี ผู้อำนวยการเอเชีย ฝ่ายโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์ ของ Braskem

โรเจอร์ มาร์คิโอนี ผู้อำนวยการเอเชีย ฝ่ายโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์ ของ Braskem ฉายภาพการร่วมมือกับ SCGC ผลิตเอทิลีนชีวภาพเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก

 

โรเจอร์ มาร์คิโอนี ผู้อำนวยการเอเชีย ฝ่ายโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์ ของ Braskem ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิล ที่ร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพในประเทศไทยร่วมกับ SCGC เล่าถึงข้อดีของพลาสติกชีวภาพว่า

 

“พลาสติกชีวภาพเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ช่วยพาเราไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ เพราะนอกจากจะผลิตมาจากวัตถุดิบชีวมวล เช่น ชานอ้อย ซังข้าวโพด เศษไม้ เศษอาหาร ที่ทำให้พลาสติกชนิดนี้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศจากการปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกด้วย”

 

นอกจากนี้ การผลิตพลาสติกชีวภาพยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการผลิตเม็ดพลาสติกทั่วไปด้วย

 

“เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตพลาสติกชีวภาพในไทย เราจึงร่วมมือกับ SCGC เพื่อสร้างโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี ภายใต้แบรนด์ I’m green™ (แอมกรีน) และยังสามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนบุคคล และอุปกรณ์ดูแลบ้าน ของเล่น เครื่องใช้ในบ้าน ถุงพลาสติก เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก” มาร์คิโอนีกล่าว

 

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไท เล่าถึง ‘Thailand Taxonomy’ ที่จะเป็นมาตรฐานกลางในการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยเพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยว่า “ตอนนี้ไทยอยู่ในช่วงของเศรษฐกิจเกิดใหม่ แม้เราจะต้องการให้เศรษฐกิจเดินหน้าเร็ว แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กตามไม่ทัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงทำงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้ทุกคนโตไปได้เร็วและไปพร้อมๆ กัน” 

 

รณดลบอกว่า ‘Thailand Taxonomy’ จะเป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยเพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำโดยคณะทำงาน ที่มีภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงินเป็นสมาชิก โดยจัดทำออกมาเป็น Traffic Light System คล้ายกับระบบสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ 

 

  • สีเขียว เป็นกิจกรรมที่มีการดำเนินงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส เช่น การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม 
  • สีเหลือง กิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้จะไม่ใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ แต่มีส่วนช่วยในการทำให้เข้าใกล้เป้าหมาย และอาจเข้าข่ายสีเขียวได้ในอนาคต 
  • สีแดง กิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่สามารถแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมของประเทศได้  

 

“การจัดกลุ่มกิจกรรมจะเป็นคะแนนในการพิจารณาสำหรับธนาคารต่างๆ ว่าจะช่วยธุรกิจคุณได้แค่ไหน รวมทั้งจะเป็นมาตรฐานกลางของภาครัฐในการหาแหล่งลงทุนเพื่อความยั่งยืนหรือจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ซึ่งใช้ได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพาประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” 

 

สุทธิโชค จิตรศรีสมบัติ ผู้ก่อตั้งและประธานสมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA)

สุทธิโชค จิตรศรีสมบัติ ผู้ก่อตั้งและประธานสมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA) เล่าถึงความตั้งใจในการชวนทุกคนมาร่วมมือกัทำโลกนี้ให้ดีขึ้นด้วยกัน

 

สุทธิโชค จิตรศรีสมบัติ ผู้ก่อตั้งและประธานสมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA)
“ผมเชื่อในตัวคุณ” เขาบอกว่านี่คือประโยคง่ายๆ จาก ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ที่ทำให้สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA) เริ่มต้นขึ้นในปี 2019

 

“เมื่อไรที่คุณเชื่อ ปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้น…จากวันนั้นที่ผมเริ่มต้นเพียงลำพัง มีเพียงความเชื่อที่ส่งต่อไปยังผู้คนและชวนให้คนเหล่านั้นมาร่วมมือกับผม จากคนหลักหน่วย เพิ่มเป็นหลักสิบ หลักร้อย ปัจจุบันมีเยาวชนจากทุกพื้นที่ทั่วไทยกว่า 4,000 คน ที่มาผลักดัน YSDA สู่การสร้างความยั่งยืนในพื้นที่ของตัวเองในชื่อ SDGs Hub” 

 

หนึ่งในโครงการที่สุทธิโชคยกตัวอย่าง คือ โครงการ Waste Money ที่รับสมัครประชาชน 500 ครัวเรือนในหนึ่งตำบล ร่วมคัดแยกขยะในครัวเรือนตนเอง แล้วรวบรวมนำไปขายเพื่อเปลี่ยนขยะกลายเป็นทุน และนำไปต่อยอดในโครงการอื่นๆ ปัจจุบัน YSDA ดำเนินโครงการ Waste Money ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน สามารถคัดแยกขยะและนำไปรีไซเคิลกว่า 43 ตัน 

 

“เราไม่มีโลกอื่นที่จะอาศัยอยู่ได้อีกแล้ว มาร่วมมือกับผมในการทำโลกนี้ให้ดีขึ้นด้วยกัน” สุทธิโชคกล่าวทิ้งท้าย 

 

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี นำเสนอแนวทางเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

นอกจากแนวทางขับเคลื่อน ESG หรือ ESG in Actions ที่ได้สรุปไป ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ยังนำเสนอแนวทาง ‘เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ ต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนำเสนอ 4 แนวทางข้างต้น พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า “เราต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฟังดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่มีหลายประเทศชั้นนำที่ทำได้แล้ว เอสซีจีเองก็พร้อมเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมกรีน เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อีกทั้งผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้วิกฤตโลกเดือด ซึ่งมั่นใจว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตพร้อมโลว์คาร์บอนเป็นจริงได้แน่นอน” 

 

เศรษฐา ทวีสิน หน้าโพเดียมบนเวทีงาน ESG Symposium 2023

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย แสดงความมุ่งมั่นว่าการเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นจริงได้แน่นอน หากทุกภาคส่วนมาร่วมบูรณาการกันอย่างจริงจัง 

 

ปิดท้ายที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงความเชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจเติบโต ควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ เราช่วยกันจะกู้โลกให้กลับมาดีขึ้นได้ 

 

“ขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงินกว่า 4.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และผลักดัน Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจไทย โดย Global Compact Network Thailand กว่า 100 บริษัททั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และตั้งเป้าลงทุน 1.6 ล้านล้านบาทในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี 2030

 

“ผมมั่นใจว่าการเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นจริงได้แน่นอน หากทุกภาคส่วนมาร่วมบูรณาการ โดยเห็นประโยชน์ของประเทศและของโลกเป็นสำคัญ” นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบงาน ESG Symposium 2023 อย่างสมบูรณ์

 

ผู้สนใจสามารถติดตามชมคลิปย้อนหลังจากงาน ‘ESG Symposium 2023’ เพื่อร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยกัน ได้ที่ https://bit.ly/esg-symposium-2023

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X