องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA เผยภาพถ่ายกระจุกดาว Westerlund 1 ที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์น้อยใหญ่อยู่ใกล้กันอย่างหนาแน่น จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์
กระจุกดาวดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 12,000 ปีแสง พบครั้งแรกโดยนักดาราศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ Bengt Westerlund ในปี 1961 และกลายเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ทั่วโลก เพื่อศึกษาวิวัฒนาการและวัฏจักรชีวิตของดาวฤกษ์มหึมาว่าเกิดขึ้นมา ดำรงอยู่ และตายจากไปอย่างไร
Westerlund 1 เป็นกระจุกดาวที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์มวลมหึมาหลายร้อยดวง อยู่ในพื้นที่รัศมีเพียง 3 ปีแสง (ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างไป 4 ปีแสง) โดยหนึ่งในดาวฤกษ์ของกระจุกดาวนี้คือ Westerlund 1 W26 ดาวยักษ์ใหญ่แดงที่มีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2 แสนเท่า และมีขนาดใหญ่จนหากนำมาวางไว้ในระบบสุริยะ จะกินพื้นที่ไปถึงวงโคจรของดาวพฤหัสบดี
หากนำกระจุกดาว Westerlund 1 มาห้อมล้อมโลกไว้ (และไม่คำนึงถึงปัจจัยความอยู่รอดของโลก หรือความปั่นป่วนของระบบสุริยะ) เราจะเห็นดาวฤกษ์หลายร้อยดวงสว่างจรัสอยู่เต็มท้องฟ้า ด้วยความสว่างเทียบเท่าดวงจันทร์เต็มดวง และอาจมองเห็นได้ในท้องฟ้ายามกลางวันเช่นกัน
กระจุกดาวแห่งนี้มีอายุประมาณ 3.5-5 ล้านปีเท่านั้น ทำให้เป็นกระจุกดาวอายุน้อยในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีสภาพแวดล้อมอย่างสุดขั้ว จากการอัดแน่นกันอยู่ของดาวฤกษ์มวลมหึมาจำนวนมาก พร้อมกับมีการกำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนนักดาราศาสตร์เรียกกระจุกดาวแบบ Westerlund 1 ว่าเป็น ‘ซูเปอร์กระจุกดาว’ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในปัจจุบัน แต่คาดการณ์ว่าในช่วงประมาณ 10,000 ล้านปีที่แล้ว กาแล็กซีทางช้างเผือกเต็มไปด้วยซูเปอร์กระจุกดาวเหล่านี้ที่ให้กำเนิดดาวฤกษ์น้อยใหญ่ขึ้นมาในจักรวาล
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ทำให้ Westerlund 1 เป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วของดาวฤกษ์ เช่นเดียวกับทำความเข้าใจวิวัฒนาการของดาวฤกษ์มวลมหึมา ไปจนถึงสภาพอดีตของกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยอุปกรณ์ NIRCam บนกล้องเจมส์ เว็บบ์ ได้บันทึกภาพกระจุกดาวดังกล่าวในช่วงอินฟราเรดใกล้ และเผยให้เห็นดวงดาวต่างๆ ที่ซ่อนอยู่หลังฝุ่นก๊าซระหว่างดาวฤกษ์ ซึ่งคอยบดบังการสำรวจผ่านช่วงคลื่นที่ตามองเห็น
ภาพ: ESA / NASA / CSA / EWOCS Team
อ้างอิง: