ยานอวกาศ BepiColombo ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ประสบความสำเร็จในการบินผ่าน ดาวพุธ เป็นครั้งที่ 4 พร้อมเผยภาพถ่ายสุดคมชัดของดาวเคราะห์ที่โคจรใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
วันที่ 5 กันยายน เวลา 04.48 น. ตามเวลาประเทศไทย ยาน BepiColombo ได้บินเฉียดผ่านดาวพุธที่ความสูง 165 กิโลเมตรจากพื้นผิว เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวช่วยปรับทิศให้ยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธในเดือนพฤศจิกายน 2026
Frank Budnik ผู้จัดการด้านวิเคราะห์วงโคจรของภารกิจ ระบุว่า “เป้าหมายหลักในการบินผ่านดาวพุธรอบนี้คือการชะลอความเร็วสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์ของ BepiColombo เพื่อให้ยานมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์นาน 88 วัน หรือใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ดาวพุธใช้หมุนรอบดวงอาทิตย์”
นอกจากนี้ทีมภารกิจยังใช้โอกาสดังกล่าวสำรวจหลุมอุกกาบาตต่างๆ ผ่านกล้องถ่ายภาพ Monitoring Camera ทั้ง 3 ตัว ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสภาพของยานอวกาศเป็นหลักเท่านั้น ส่วนกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ยังถูกห่อหุ้มป้องกันไว้ในระหว่างที่ยานเดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธ
ESA ระบุว่า ยาน BepiColombo จะเริ่มภารกิจสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในปี 2027 โดยแบ่งเป็นยาน Mercury Planetary Orbiter และ Mercury Magnetospheric Orbiter ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ที่จะแยกออกจากกันเมื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธเป็นที่เรียบร้อย
BepiColombo เป็นยานอวกาศลำที่ 3 ที่เดินทางไปถึงดาวพุธ ต่อจากภารกิจ Mariner 10 และ MESSENGER ของ NASA โดยจะใช้การบินผ่านดาวพุธอีก 2 ครั้ง เพื่อปรับวงโคจรให้ยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธในเดือนพฤศจิกายน 2026 ได้อย่างปลอดภัย
ภาพ: ESA / BepiColombo / MTM
อ้างอิง: