กกพ. ยังไม่เคาะค่าไฟลงเหลือ 3.99 บาท แม้ยืนยันตามมติ ครม. หลังถก 2 รัฐวิสาหกิจ ปตท.-กฟผ. หารือแนวทาง เบื้องต้นขอให้ ปตท. ลดค่าก๊าซ พร้อมขอให้ กฟผ. ยืดภาระหนี้ออกไปก่อน ขณะที่สภาผู้บริโภค แนะรัฐบาลเดินหน้านโยบายโซลาร์รูฟท็อปด้วยระบบเน็ตมิเตอร์ริง และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผน PDP ฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาว
รายงานข่าวระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 3.99 บาท
พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน
ล่าสุด (20 กันยายน) สำนักงาน กกพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
โดยระบุว่า การกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาทนั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565
รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อน
แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง
ดังนั้น การปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน จึงกำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู
ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์นั้น เมื่อ ครม. มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ. จึงต้องเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าว
โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้ามายัง กกพ. เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 67 และสามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าให้ได้หน่วยละ 3.99 บาท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2566
สภาผู้บริโภคชี้รัฐยืดหนี้ กฟผ. ช่วยได้ แต่ต้องลดนำเข้าไฟเกินความจำเป็น
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การลดค่าไฟลงเป็นไปได้ หากมีการยืดการชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกไป โดยรัฐบาลควรเจรจายืดชำระหนี้โดยสามารถดำเนินการได้จากราคาค่าใช้จ่ายของค่าก๊าซและค่าซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าลูกของ กฟผ. หรือโรงไฟฟ้าในเครือของบริษัทเอกชนต่างๆ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นค่าซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กซึ่งมีอัตราค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง ดังนั้น กฟผ. กับรัฐบาลต้องตั้งโต๊ะเจรจากับเอกชนมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องดึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมรับภาระความเสี่ยงด้วย เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มาจากการซื้อก๊าซจาก ปตท. ส่วนการจัดการปัญหาหนี้ของ กฟผ. ระยะยาวนั้น สภาผู้บริโภคเสนอให้ลดภาระการซื้อไฟฟ้าเกินความจำเป็นอย่างเร่งด่วน เช่น การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
แนะรัฐงัดนโยบายโซลาร์เซลล์แก้ไฟแพง เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้รัฐบาลควรผลักดันนโยบายโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยค่าไฟฟ้าแบบหักค่าไฟฟ้าจากหน่วยหรือเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควรเปิดช่องให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบเน็ตมิเตอร์ริงและให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวและมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่จะเป็นระบบใหญ่
รวมถึงจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP) รวมทั้งนำแผนในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาในเรื่องการกระจายกำลังการผลิตที่เหมาะสมมาปรับใช้ โดยรัฐบาลควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และประกาศอัตราค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่เข้ามาใหม่ด้วย