×

ที่ประชุม กพช. เคาะกรอบ ‘แผนพลังงานชาติ’ ไทยประกาศลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065-2070

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2021
  • LOADING...
Prayut Chan-o-cha

วันนี้ (4 สิงหาคม) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2021 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีแผนที่จะปรับในเรื่องแหล่งพลังงานของประเทศที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต ที่จะต้องดำเนินการให้ได้ตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์ รวมทั้งเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลก็ต้องได้ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม หากมีปัญหาในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย ก็จะต้องปรับแก้ไขเพื่อจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยนายกฯ อยากให้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องของการ Reshape ประเทศไทยใหม่ ซึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจมีต้นทางมาจากพลังงานเกือบทั้งสิ้น จึงขอฝากให้ กพช. ได้พิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งภาคการเกษตร ภาคการผลิต การอุตสาหกรรม และผู้บริโภค  

 

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าสู่รูปแบบใหม่ Hydro-Floating Solar Hybrid System หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด คือระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานระหว่าง ‘พลังน้ำจากเขื่อน’ และ ‘พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำบนเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ขณะนี้ดำเนินโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีเป็นแห่งแรก กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ และจะดำเนินการอีก 7 เขื่อนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีแผนขยายเป็น 2,700 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี โดยนายกฯ ขอให้ดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย 

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องยานยนต์พลังงานไฟฟ้าว่าจะต้องทำให้ครบวงจร ทั้งเรื่องรถและสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อจูงใจให้คนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานของโลกที่ต้องเตรียมการให้พร้อม ซึ่งการเตรียมการเรื่องพลังงานเป็นการทำเพื่อวันนี้และอนาคต ทำให้คนรุ่นใหม่ โดยการทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ทุกอย่างต้องชี้แจงได้ ตรวจสอบได้ และประเทศต้องได้รับประโยชน์สูงสุด พร้อมย้ำว่าวันนี้ประเทศไทยต้องเดินหน้าไปด้วยกัน 

 

สำหรับมติที่ประชุม กพช. ที่สำคัญมีดังนี้ 

 

  • เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ. 2065-2070

 

  • สำหรับแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ 

 

  • 1. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 พิจารณาร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว

 

  • 2. ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตามนโยบาย 30@30 การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งมาเป็น EV เป็นแนวทางที่ช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM2.5

 

  • 3. ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ 30 โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน 

 

  • 4. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน, Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน, Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน, Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า) 

 

  • ทั้งนี้ เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงดังกล่าว (ค.ศ. 2065-2070) ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน  

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality ภายใน ค.ศ. 2065-2070 อย่างต่อเนื่อง และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่ Neutral-Carbon Economy การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดภายในช่วงเวลา 1-10 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2021-2030) กพช. จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการระยะเร่งด่วน ดังนี้

 

  1. จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ Neutral-Carbon Economy ได้ในระยะยาว ครอบคลุมการขับเคลื่อนพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน

 

  1. พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 Rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2021-2030) ตามความเหมาะสม อาทิ ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มีความผูกพันเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าที่จำเป็น และสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในระยะยาว การคำนึงถึงต้นทุนและความก้าวหน้าเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้นำหลักการวางแผนเชิงความน่าจะเป็นโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) มาใช้เป็นเกณฑ์ แทนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งไม่สามารถวิเคราะห์ผลจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้น 

 

  1. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงที โดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ 

 

สำหรับกระบวนการจัดทำแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ค.ศ. 2022 โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2021 เพื่อนำความเห็นมาประกอบการจัดทำแผน 5 แผนหลัก และรวมเป็นแผนพลังงานชาติ หลังจากนั้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพลังงานชาติ ก่อนนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบต่อไป

 

ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (ใหม่) โดยโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ 

 

  1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย 

 

1.1 ราคาเฉลี่ยก๊าซฯ อ่าวไทย (Gulf Gas) 

1.2 ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (Zone 1)   

 

  1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ปตท. ขายในกลุ่ม Old Supply ประกอบด้วย 

 

2.1 ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยก (รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล) ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ณ ชายแดน และก๊าซ LNG (รวมค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ) (Pool Gas) 

2.2 ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 2-4) (โรงไฟฟ้าน้ำพอง ราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซให้เป็นไปตามที่ ปตท. รับซื้อจากผู้รับสัมปทานค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 5)) และ

 

  1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ New Shipper ขายไฟฟ้าเข้าระบบใน Regulated Market ประกอบด้วย 

 

3.1 ราคา LNG 

3.2 ค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ 

3.3 ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และ

3.4 ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 3) 

 

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการทบทวนพื้นที่ (Zone) ในการคิดค่าบริการตามการใช้ระบบท่อส่งก๊าซของผู้ซื้อก๊าซ โดยคำนวณค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติพื้นที่ 1 ที่รวมค่าผ่านท่อในทะเลทั้งหมด ซึ่งนำค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (TTM) นำมาคำนวณรวมในอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลของ ปตท. ด้วย และกำหนดให้โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ มีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ระหว่างกำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่ง (S) และค่าผ่านท่อ (T) ตามโครงสร้างใหม่ ให้กำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่ง (ในแต่ละประเภทผู้ใช้ก๊าซ คิดตาม % Margin โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ย (Pool Gas) ตามวิธีปัจจุบัน และกำหนดค่าผ่านท่อ (T) สำหรับ Shipper รายใหม่ที่นำเข้า LNG เท่ากับอัตราค่าผ่านท่อบนบก (Zone 3 ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าในภาพรวมลดลงประมาณ 56 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นค่า Ft ลดลงประมาณ 0.39 สตางค์ต่อหน่วย

 

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบการนำเข้า Liquefied Natural Gas (LNG) ที่ไม่กระทบต่อ Take or Pay สำหรับ ค.ศ. 2021-2023 เท่ากับ 0.48, 1.74 และ 3.02 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณาทบทวนหากพบว่าปริมาณความสามารถในการนำเข้า LNG มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าว และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรปริมาณการนำเข้า LNG ตามโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติ ในระยะที่ 2 คือ Regulated Market และ Partially Regulated Market สำหรับ New Demand และกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของ Shipper รวมทั้งกำกับดูแลต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising