×

ผู้นำแอฟริกันเรียกร้องประเทศมั่งคั่งรักษาสัญญา สนับสนุนเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม

08.10.2022
  • LOADING...
PRECOP27

บรรดาผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกาเรียกร้องให้ประเทศมั่งคั่งรักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะสนับสนุนเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.76 ล้านล้านบาท) สู้วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2009 ขณะเข้าร่วมการประชุม PRECOP27 ที่เมืองกินชาซา ประเทศดีอาร์คองโก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

โดยชี้ว่า ความช่วยเหลือที่ส่งมอบให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกไม่เคยประสบผลสำเร็จตามที่ให้คำมั่นไว้ว่าประเทศมั่งคั่งในประชาคมโลกจะช่วยกันจัดหางบช่วยเหลือราว 3.76 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในปี 2020

 

ความล้มเหลวนี้จะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะได้รับการพูดคุยหารือในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (#COP27) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยประเทศอียิปต์เป็นเจ้าภาพ ก่อนที่จะส่งต่อให้ทางการดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดการประชุม COP28 ในปี 2023

 

ทางด้าน อมีนะ โมฮัมเหม็ด นักการทูตชาวอังกฤษเชื้อสายไนจีเรีย ที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า การลงทุนในแผนปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศของประเทศกำลังพัฒนา นับว่ามีความสำคัญอย่างมากและจะได้รับการหารือในที่ประชุม COP27 ที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าจะปรับเงินทุนสนับสนุนการปรับตัวที่เคยหารือกันในเวที COP26 เป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 ซึ่งเงินทุนดังกล่าวเป็นเพียงเงินส่วนหนึ่งของเงินสนับสนุนจำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องใช้ในการปรับตัวต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมภายในปี 2030

 

ขณะที่ อีฟ บาไซบา รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของดีอาร์คองโกชี้ว่า การขาดแคลนเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศจากประเทศที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ทำให้ประเทศยากจน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบาก อีกทั้งความตกลงที่จะไม่ให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาประเทศนั้น อาจเท่ากับเป็นการปล่อยให้ลูกหลานของเราตาย เพราะเราต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม

 

โดยวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถานเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติกำลังมีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานมากยิ่งขึ้น กระทบต่อชีวิตประชาชนกว่า 33 ล้านคน และอาจมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่ปากีสถานเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่กลับต้องเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีความเสี่ยงสูงมากที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

 

ภาพ: Justin Makangara / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X