วันนี้ (9 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงกรณีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบริการในกรุงเทพฯ ว่า จากการตรวจสอบที่เขตจตุจักร ตรวจเจอสถานบริการที่ไม่ถูกต้องมาก เป็นเรื่องดีที่จะได้แก้ไข ซึ่งตามกฎหมายปี 2548 มีการเขียนจำกัดความไว้ค่อนข้างกว้าง คือร้านอาหารที่มีดนตรีแสดงจะต้องมีทางหนีไฟอย่างน้อย 2 ทาง
ดังนั้นร้านใดที่มีดนตรีแสดงจะต้องมี 2 ทางออกตามระเบียบ ซึ่งในเขตจตุจักรมี 49 แห่ง ในหลายๆ ร้านก็เป็นร้านอาหารที่มีดนตรีแสดง หากมีการทำทางออกเพิ่มให้สอดคล้องข้อกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก
ส่วนตัวอยู่ในวงการเรื่องอัคคีภัยมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังคือร้านอาหารที่มีชั้น 2 ถือว่าอันตราย เพราะมีทางขึ้น-ลงทางเดียว หากเกิดเพลิงไหม้ ควันจะลอยอยู่ด้านบน ชั้น 2 จะโดนควันก่อน ก็อาจจะหนีได้ยาก จึงต้องอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อให้มองเห็นปัญหาและเกิดการแก้ไข
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กทม. จะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก และ กทม. มีคำสั่งไปตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนแล้ว จึงทำให้มีข้อมูลที่ต้องกลับมาตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ส่วนเรื่องของระเบียบการจัดโซนนิ่งที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 นั้น แม้เป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ไม่ใช่อำนาจของ กทม. โดยตรง
“ทั้งนี้จะต้องมีข้อเสนอไปกับทางตำรวจ แม้ไม่ใช่อำนาจ แต่ก็เสนอได้ว่าสถานการณ์ต้องทันสมัยหรือไม่ ซึ่งถนนข้าวสารเองก็ไม่ได้อยู่ในโซนนิ่ง และตอนนี้ผับก็อยู่แถวทองหล่อเยอะ ซึ่งไม่ได้อยู่ในโซนนิ่ง แล้วยังมีซอยอารีย์ จึงต้องมีคำแนะนำหรือมีคณะทำงานร่วมกับตำรวจว่าตำรวจมองอย่างไร” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า เรื่องของโซนนิ่งคือเรื่องเวลาเปิด-ปิดเป็นหลัก กทม. อาจจะไม่ได้ออกระเบียบเพิ่ม แต่ กทม. ก็จะดูเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยว่ามีความเข้มข้นมากพอหรือยัง โดยจะนำบทเรียนหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ทั้งเรื่องวัสดุติดไฟต่างๆ อาจจะไปปรับปรุงในเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยจากอัคคีภัย แต่ไม่เกี่ยวกับโซนนิ่ง
ด้าน พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดโซนนิ่งและออกใบอนุญาตว่า เรื่องโซนนิ่งมีรายละเอียดการจัดตั้งแต่ปี 2545 ทั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบ ได้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องเสียงและเรื่องพื้นที่จอดรถ รวมถึงศีลธรรมประเพณี จึงมีการจัดโซนนิ่ง แต่โซนนิ่งก็มีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากชีวิตของคนเปลี่ยน และโซนนิ่งที่มีการจัดไว้คือย่านพัฒน์พงษ์ ย่านมักกะสัน เพชรบุรีตัดใหม่ RCA และย่านรัชดาภิเษก ห้วยขวาง สุทธิสาร แต่ที่ยังทำได้ตามโซนนิ่งจริงๆ คือย่านรัชดาภิเษก
พล.ต.อ. อดิศร์กล่าวอีกว่า โดยเงื่อนไขการดำเนินกิจการคือเรื่องของเวลา ถ้าขายถึงเที่ยงคืน กทม. ได้ออกใบอนุญาตเรื่องเสียงและเรื่องอาหารให้แล้ว รวมถึงเรื่องโครงสร้างในการขอใช้อาคาร ส่วนการขายสุราเป็นของกรมสรรพสามิต ทั้งนี้เมื่อร้านอาหารเปิดเกินเที่ยงคืนก็จะเข้าสู่พระราชบัญญัติสถานบริการ ก็จะเป็นลักษณะของสถานประกอบการที่เปิดบริการเลียนแบบสถานบันเทิง
ดังนั้น หลังจากหารือกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. แล้ว สิ่งที่ กทม. จะเน้นย้ำคือการฝึกหนีภัย ซึ่งการใช้มาตรการเสริมเหล่านี้น่าจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น