คณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) กำหนดให้ปี 2593 เป็นปีที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยจะลดลงก่อน 45% ระหว่างปี 2553-2573 เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ภูมิอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ในเดือนสิงหาคม 2564 รัฐบาลจาก 195 ประเทศทั่วโลก ยอมรับว่ามนุษย์เป็นเหตุให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียสในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า และถ้าไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกอย่างรวดเร็วและจริงจัง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจะไม่หยุดที่แค่ 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น โดยที่แต่ละประเทศได้ตั้งปณิธานบรรลุ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
จากการศึกษาดัชนีชี้วัดความพร้อมด้าน Net Zero (Net Zero Readiness Index: NZRI) เพื่อประเมินความพร้อมของแต่ละประเทศในการบรรลุ Net Zero ชี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ ‘น่าจับตามอง’ ในการบรรลุ Net Zero ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่มีโอกาสชัดเจนที่จะก้าวหน้าในความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการใหญ่ๆ และความพยายามที่เพิ่มขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ‘รัฐ-เอกชน’ เห็นพ้องไทยต้องเร่งลงมือเพื่อเป้าหมาย Net Zero ในปี 2060 แนะสร้างโรดแมประยะยาว รวมเครื่องมือชี้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเชื่อมโยงแผนของทุกภาคส่วน
- จับตากระแส Green Finance กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์การเงินโลก เมื่อแบงก์ยักษ์ 450 แห่ง พร้อมทุ่มเงินเพื่อบรรลุเป้า Net Zero ในปี 2050
- McDonald’s เปิดสาขาที่ใช้พลังงานลมตามนโยบาย Net Zero ร้านแรกที่ Market Drayton ประเทศอังกฤษ
ประเทศไทยมีแผนที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ภายใต้แผนจัดการพลังงานของประเทศ ซึ่งกำหนดให้ใช้พลังงานหมุนเวียนในอัตรา 50% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จึงทำให้มีโครงการหลายโครงการออกมา เช่น จากปี 2578 เป็นต้นไป ยานพาหนะที่ไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้นที่จะจดทะเบียนได้ รัฐบาลไทยประกาศว่าจะสนับสนุนภาคเอกชนในการเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และมีความพยายามที่จะให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและมีผลกระทบน้อยที่สุด ความพยายามนี้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งจะเป็นหนทางสู่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
นอกจากความพยายามในระดับประเทศและระดับรัฐบาลแล้ว ภาคเอกชนเองก็กำลังเตรียมพร้อมสู่เส้นทางแห่ง Net Zero เช่นกัน ไม่ว่าจะสาเหตุเนื่องมาจากมาตรการและข้อบังคับที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การรายงาน One Report ความต้องการของผู้บริโภค หรือความเรียกร้องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร แต่การเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นการปฏิบัติได้จริงนั้นต้องมีการวางแผนที่ครอบคลุมและตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกของการลดคาร์บอนในธุรกิจ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้จริงและมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อตอบรับกับแนวคิด เทคโนโลยี และกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ
ในรายงาน Net-zero commitments: Where’s the plan? เคพีเอ็มจีได้เสนอแผน 8 ขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง เพื่อช่วยให้ธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน พนักงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อเพิ่มความความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับผลกระทบในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
8 ขั้นตอนสำหรับแผนการเปิดเผยข้อมูลการลดการปล่อยคาร์บอน
- เปิดเผยการกำกับดูแลการลดการปล่อยคาร์บอนขององค์กร: Net Zero เป็นประเด็นสำคัญ และคณะกรรมการบริษัทควรมีบทบาทหลักในแผนการลดการปล่อยคาร์บอนขององค์กร นอกจากนี้บริษัทอาจสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริหารและพนักงาน โดยกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารและคณะกรรมการ และกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานหลัก (KPI) ของพนักงาน
- ความโปร่งใสด้านการลดการปล่อยคาร์บอนในปณิธานขององค์กร: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหรือ ‘ขอบเขต’ ซึ่งกำหนดตามมาตรฐานการจัดทำบัญชีระหว่างประเทศในการรายงานก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด โดยขอบเขตที่ 1 คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรโดยตรง ขอบเขตที่ 2 คือ การซื้อพลังงาน และขอบเขตที่ 3 คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมทางอ้อมอื่นๆ ทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท เช่น การเดินทางและการกำจัดของเสีย การแจกแจงเป้าหมายโดยละเอียดนั้นสามารถแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีแผนการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรจึงควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนที่ระบุไว้ในปณิธาน Net Zero ขององค์กร
- เปิดเผยเป้าหมาย Net Zero ทั้งในระยะยาวและระยะกลาง: การตั้งเป้าหมายสำหรับการมุ่งสู่ Net Zero นั้นควรมีเป้าหมายภายในปี 2593 เพื่อให้มั่นใจว่าแผนดังกล่าวนำเอาไปใช้ได้จริง และหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่เกิดจากการตั้งเป้าหมายที่ไกลเกินไป นอกจากนี้องค์กรควรกำหนดเป้าหมายระยะกลางที่ใกล้เข้ามา เพื่อตอบโทย์ความคาดหวังของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นส่วนสร้างแรงกดดันให้องค์กรเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว
- นำเสนอแผน Net Zero ที่มีรายละเอียดและน่าเชื่อถือ: บริษัทต่างๆ ควรนำเสนอกลยุทธ์การลดคาร์บอนที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด และชี้แจงว่าครอบคลุมถึงการปล่อยคาร์บอนประเภทใดบ้าง ซึ่งรวมถึงการเปิดแผนการดำเนินงานหลัก ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีที่ใช้ในแผนงาน รายละเอียดการลงทุน และเทคนิคต่างๆ ในแผนงานนั้น
- อธิบายการบูรณาการแผน Net Zero กับกลยุทธ์องค์กร: แผน Net Zero ควรเป็นกลยุทธ์หลักที่รวมอยู่ในการวางแผนธุรกิจ และสอดคล้องกับกลยุทธ์โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างๆ ควรคาดการณ์ผลกระทบในอนาคตของการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ด้วยการเริ่มกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Price) ตลอดจนการใช้กลไกอื่นๆ ในการตัดสินใจลงทุน
- ให้ความสำคัญกับความเสี่ยง ความท้าทาย และความไม่แน่นอน: บริษัทต่างๆ ควรอธิบายถึงความเสี่ยง ความท้าทาย และความไม่แน่นอนในการบรรลุแผน Net Zero ซึ่งรวมไปถึงต้นทุนการลดคาร์บอนที่ผันผวน ปัจจัยทางการเมือง การผสมผสานพลังงานในอนาคตของประเทศต่างๆ ความพร้อมของเทคนิคการกำจัดคาร์บอน ราคาการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsets) ราคาคาร์บอน และความไม่แน่นอนในเรื่องเทคโนโลยี
- ให้รายละเอียดผลกระทบของแผน Net Zero ขององค์กร: บริษัทต่างๆ ควรแสดงให้เห็นว่าแผนดังกล่าวส่งผลต่อกลยุทธ์ขององค์กรอย่างไรในแง่ของโมเดลธุรกิจ การลงทุน และห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริษัทอาจต้องลงทุนในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงาน คณะกรรมการ และผู้บริหาร องค์กรควรพิจารณายกเลิกการใช้กระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยมลพิษในปริมาณที่สูง และเร่งกระตุ้นผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ โดยใช้โครงสร้างการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน บริษัทต่างๆ ควรคิดแผนโลจิสติกส์ใหม่ เพื่อช่วยลดระยะทางในการขนส่ง และใช้แหล่งที่มาในท้องถิ่นหากเป็นไปได้
- ทบทวนและรายงานความก้าวหน้าประจำปี: บริษัทต่างๆ สามารถเปิดเผยแผนและความคืบหน้าในรายงานประจำปี รายงานด้านการเงิน และบนเว็บไซต์ของบริษัท เนื่องจากแผนการลดคาร์บอนถูกคาดหวังให้สอดรับกับแง่มุมต่างๆ เช่น กลยุทธ์ โมเดลธุรกิจ การลงทุน ความพร้อมของค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา บุคลากร และห่วงโซ่อุปทาน การเปิดเผยแผนในบริบทความยั่งยืนเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนในการทำความเข้าใจผลกระทบทางการเงินของแผนงาน ตลอดจนความเสี่ยงหากแผนไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ
ทั้งนี้ องค์กรควรเริ่มวางแผนและดำเนินงานไปสู่ Net Zero ได้แล้ว โดยที่กำหนดแผนการที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร โดยไม่ใช่การดำเนินการเพียงเพื่อตอบโจทย์ข้อกำหนดกฎหมายเท่านั้น การดำเนินการดังกล่าว การมีแผนและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และการดำเนินการสู่ Net Zero นอกจากสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงทางการเงินและการปฏิบัติการขององค์กรได้อีกด้วย
ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD