×

รู้ลึกรู้รอบ ‘เรือนเวลา’ ก่อนเข้าสู่วงการนักสะสมเครื่องบอกเวลาที่ยิ่งเก่ายิ่งมากคุณค่า

03.11.2023
  • LOADING...
นาฬิกาสะสม

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • นาฬิกา ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือบอกเวลาเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องประดับที่สะท้อนตัวตน รสนิยม รวมถึงความชอบของผู้สวมใส่ ในขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึงประสบการณ์และความเก๋าของผู้ออกแบบและผู้ผลิต
  • การประเมินมูลค่าของนาฬิกาเรือนหนึ่งนั้น สามารถทำได้ด้วยการพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ กลไกการผลิต สถานที่ผลิต และฟังก์ชันการทำงานของนาฬิกาเรือนนั้น 
  • แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้ชื่นชอบนาฬิกายกระดับขึ้นมาเป็นนักสะสมที่ประเมินมูลค่าของนาฬิกาได้ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งก็คือ ‘ความเข้าใจคุณค่าของเวลา’

นาฬิกา คือสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ใช้เป็นสัญญะสากลให้ผู้คนเข้าใจการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องของเวลา โดยประวัติศาสตร์ของนาฬิกานั้นยาวนานมาก และถูกออกแบบและพัฒนามาหลายร้อยปี 

 

จากสิ่งประดิษฐ์เพื่อบอกเวลา ณ ปัจจุบันนาฬิกาเป็นทั้งเครื่องประดับบอกตัวตน รสนิยม และสไตล์ของผู้สวมใส่ บอกสถานะของผู้ครอบครอง ในขณะเดียวกัน นาฬิกาแต่ละรุ่นก็รับหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และความเก๋าของผู้ออกแบบและผลิตได้ด้วย

 

โดยคอลัมน์พิเศษนี้เกิดจากความร่วมมือของ THE STANDARD WEALTH กับ UOB Privilege Banking ที่อยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านทุกท่าน ในการบริหารความมั่งคั่งผ่าน Passion & Lifestyle ส่วนบุคคล เพื่อต่อยอดความสุขของผู้อ่านด้วย Passion ที่มีต่อสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การสะสมนาฬิกา 

 

 

ในบรรดาสิ่งประดิษฐ์ด้วยมือมนุษย์ นาฬิกาเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นเครื่องประดับติดตัวที่สะท้อนตัวตนหรือสไตล์ของผู้ครอบครองได้อย่างลุ่มลึก อีกทั้งยังขึ้นแท่นเป็น ‘ของสะสมยอดนิยม’ ของผู้คนทั่วโลกอีกด้วย โดยเหตุผลสำคัญก็คือ ‘Affordable Price’ หรือราคาที่เป็นมิตร 

 

แต่นาฬิกาเรือนหนึ่งไม่ได้ดำรงคุณค่าในตัวเรือนได้อย่างยาวนานเพียงเพราะราคาเป็นมิตรเท่านั้น นาฬิกาบางเรือน ‘เลือกเจ้าของ’ มาตั้งแต่การออกแบบในพิมพ์เขียวแล้ว และจุดเริ่มต้นที่แตกต่างตั้งแต่การออกแบบนี่เองที่ทำให้นาฬิกาเรือนนั้นๆ มีทั้ง ‘คุณค่าและมูลค่า’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่นักสะสมนาฬิกามองหาและต้องการเป็นเจ้าของ 

 

สำหรับนักสะสมนาฬิกานั้น ‘จำนวนที่ผลิต’ ก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยจำนวนการผลิตนาฬิกาแต่ละรุ่นบนโลกใบนี้เป็นสิ่งที่นักสะสมใช้พิจารณาเป็นสิ่งแรกๆ ว่าจะเลือกสะสมนาฬิการุ่นนั้นๆ หรือไม่ 

 

ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘นักสะสมนาฬิกา’ ย่อมแตกต่างจากผู้ซื้อนาฬิกาเพื่อใช้สอยประโยชน์ในการบอกเวลาเท่านั้นอย่างแน่นอน เมื่อวัตถุประสงค์ในการครอบครองต่างกันแล้ว ปัจจัยพิจารณาในการเลือกหรือไม่เลือกคว้ามาครองก็ต่างกันด้วย

 

3 เรื่องหลักที่นักสะสมนาฬิกามักจะใช้พิจารณาเลือกนาฬิกาก็คือ กลไก สถานที่ผลิต และฟังก์ชัน ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยล้วนมีผลต่อราคาในอนาคตด้วยน้ำหนักที่ต่างกันไป

 

เริ่มที่ปัจจัยแรกและสำคัญที่สุดคือ กลไก

 

กลไกภายในนาฬิกาข้อมือ

 

หากแบ่งประเภทของนาฬิกาด้วยกลไกในตัวเรือน เราจะแบ่งนาฬิกาได้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ นาฬิกาควอตซ์ (Quartz), นาฬิกาไขลาน (Mechanical) และนาฬิกาอัตโนมัติ (Automatic)

 

ประเภทแรกคือ นาฬิกาควอตซ์ (Quartz) หรือนาฬิกาใส่ถ่านนั่นเอง ข้อดีของนาฬิกาควอตซ์ก็คือบอกเวลาได้เที่ยงตรงแม่นยำ เพราะมีพลังงานที่ส่งตรงมาถึงแผงวงจรที่เสถียรและสม่ำเสมอนั่นเอง แต่ข้อเสียก็คือ แผงวงจรไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเสื่อมได้ ทำให้จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่แผงวงจร อีกทั้งอายุการใช้งานยังไม่นานนัก

 

ประเภทที่สองคือ นาฬิกาไขลาน (Mechanical) นาฬิกาประเภทนี้จะใช้วิธีการหมุนเม็ดมะยม หรือ Crown ด้านข้างตัวเรือนเพื่อไขลาน (Winding) ให้กลไกนาฬิกาเดินบอกเวลาบนหน้าปัด จุดเด่นของนาฬิกาประเภทนี้มีกิมมิกอยู่ที่ว่า เจ้าของต้องใส่ใจไขลาน เวลาจึงจะเดินหน้าต่อไปได้

 

ในมุมของนักสะสม นาฬิกาไขลานเป็นที่นิยมมากกว่านาฬิกาควอตซ์ เพราะมีกิมมิกน่าสนใจกว่า และไม่มีปัญหาถ่านละลายในแผงวงจร และในจักรวาลของนาฬิกาไขลานด้วยกันเองก็มีทั้งเรือนที่น่าสนใจแบบทั่วๆ ไป และเรือนที่น่าสนใจกว่า โดยนาฬิกาไขลานสำหรับใส่ข้อมือขวาได้รับการประเมินมูลค่าสูงกว่าเรือนที่ใส่ข้อมือซ้าย ตามหลักยิ่ง Rare ยิ่งเป็นที่รัก 

 

ประเภทที่สามคือ นาฬิกาอัตโนมัติ (Automatic) คือนาฬิกาที่ทำงานด้วยกลไกการสะสมพลังงานจากการขยับแขนส่งต่อเข้าสู่จานเหวี่ยง นาฬิกาประเภทนี้ก็ต้องการความใส่ใจจากเจ้าของมากเช่นเดียวกันกับนาฬิกาไขลาน และเป็นที่นิยมในการสะสมมากกว่านาฬิกาควอตซ์ 

 

หากอ้างอิงกันตามสถิติ นาฬิกาไขลานและนาฬิกาอัตโนมัติจะเป็นที่นิยมในกลุ่มนักสะสมมากกว่า เพราะมีกิมมิกดังที่กล่าวข้างต้น อีกทั้งการบำรุงรักษายังไม่ยุ่งยาก เจ้าของสามารถวางลืมหรือไม่หยิบมาสวมใส่ใช้งานนานนับปีได้

 

แต่แฟนคลับนาฬิกาควอตซ์ก็ไม่ต้องน้อยใจว่าตัวเรือนที่ครอบครองอยู่จะไม่มีมูลค่าในสายตานักสะสมเลย เพราะควอตซ์เองก็มีจุดดึงดูดใจเช่นกัน โดยเฉพาะกับเจ้าของที่เป็นผู้หญิงผู้รักสวยรักงาม นาฬิกาควอตซ์มีกิมมิกที่สามารถ Customise ตัวเรือนให้เป็นสไตล์ของตัวเอง เพราะควอตซ์ไม่ต้องการให้เจ้าของหมุนเม็ดมะยม ไม่เรียกร้องให้เขย่าทุกรอบก่อนสวมใส่ ตัวเรือนจึงมีลูกเล่นด้านดีไซน์ที่เปิดกว้างมากกว่า เช่น ประดับด้วยเพชรได้ หน้าปัดเล็ก เรียว รี เหลี่ยมได้ทั้งหมด ขอเพียงแค่มีพื้นที่พอให้ใส่ถ่านเข้าไปเท่านั้น ซึ่งแบรนด์หรูอย่าง Cartier และ Bulgari ก็เปิดตัวนาฬิกาควอตซ์ให้แฟนคลับได้จับจองเป็นเจ้าของอยู่เป็นประจำ หรือแม้กระทั่ง Patek Philippe เองก็เคยเปิดตัวนาฬิกาควอตซ์รุ่น Twenty~4 ด้วยราคาหลักแสน ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ราคานาฬิการุ่นเหล่านี้ก็ยิ่งขยับสูงขึ้นตามไปด้วย

 

 

ปัจจัยที่สองและสำคัญรองลงมาก็คือ สถานที่ผลิต 

 

เมื่อเอ่ยถึงนาฬิกา สวิตเซอร์แลนด์มักเป็นประเทศแรกที่ผู้คนนึกถึงเสมอในฐานะประเทศผู้ประดิษฐ์ ผลิตนาฬิกา และส่งออกไปทั่วโลก โดยสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้ส่งออกแค่นาฬิกาเท่านั้น แต่ยังส่งออกประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และนวัตกรรมอีกด้วย

 

นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์มักจะรักษาคุณค่าและมูลค่าของตัวเรือนเอาไว้ได้เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผู้ซื้อให้ความไว้วางใจในกระบวนการผลิต วัสดุที่เลือกใช้ การออกแบบกลไก ฟังก์ชัน รวมถึงรูปแบบรูปทรงที่มีความคลาสสิกสูง ดำรงไว้ซึ่งรากฐานแห่งความชำนาญการที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่สวิตเซอร์แลนด์เท่านั้นที่ครองฉายาผู้ผลิตนาฬิกาชั้นเลิศ ในยุคเฟื่องฟูของญี่ปุ่น ช่างฝีมือแดนอาทิตย์อุทัยก็ได้ริเริ่มผลิตนาฬิกาควอตซ์ขึ้นมา และได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยชูเอกลักษณ์เด่นด้านความเที่ยงตรง แม่นยำ เป็นระบบ ขณะเดียวกันก็ฉาบด้วยดีไซน์ที่สวยงามและเรียบง่าย 

 

ในที่นี้คงไม่สามารถตัดสินได้ว่านาฬิกาที่ผลิตจากประเทศใดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลาได้มากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อหรือนักสะสมว่าจะให้คุณค่าในเรื่องใดมากกว่ากัน ระหว่างความเป็น Craftsmanship ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสวิตเซอร์แลนด์ (ที่ถึงขั้นได้รับการขนานนามว่า Timepiece หรือเรือนเวลาได้โดยผู้เรียกไม่รู้สึกอายปาก) หรือบางท่านอาจให้ความสำคัญกับความเป๊ะทุกกระเบียดนิ้วของเครื่องจักรและสายพานผลิต ความเหมือนกันทุกตัวเรือน และความเที่ยงตรงของประเทศญี่ปุ่น ก็แล้วแต่ความชื่นชอบ 

 

 

ปัจจัยที่สามคือ ฟังก์ชัน หรือความสามารถพิเศษของนาฬิกาเรือนนั้นๆ

 

นาฬิกาปกติทั่วไปจะมีเข็ม 2 เข็ม เพื่อบอกชั่วโมงและบอกนาที แต่ก็มีหลายรุ่นที่ถูกออกแบบและผลิตออกมาให้มี 2 เข็มครึ่ง หรือ 3 เข็ม มีตัวเลขบอกวัน บอกวันที่ และบางรุ่นบางเรือนก็มีฟังก์ชันปฏิทินร้อยปี หรือ Perpetual Calendar ที่ทำให้เดินไปพร้อมกับกาลเวลาได้อย่างแม่นยำ โดยที่เจ้าของไม่ต้องคอยเซ็ตระบบด้วยตัวเองทุกๆ 4 ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน หรือในบางรุ่นมีความสามารถประเภทเอาชนะธรรมชาติ อย่างเช่น นาฬิการุ่นที่หมุนเดินได้อย่างเที่ยงตรงไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แรงโน้มถ่วงหนาแน่นหรือเบาบางเพียงใดก็ตาม

 

 

นอกจาก 3 ปัจจัยหลักสำคัญดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว โลกของนักสะสมนาฬิกายังมีมุมมองที่ลุ่มลึกอีกมากมายที่จะนำมาใช้พิจารณาหรือประเมินมูลค่านาฬิกาแต่ละเรือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การให้คุณค่าในเรื่องราวเบื้องหลัง ความชื่นชอบส่วนบุคคล และเป้าประสงค์ของการเป็นเจ้าของ ทุกสิ่งล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะมาช่วยเสริมมุมมองให้แก่นักสะสมทั้งสิ้น แต่หากเราสามารถตั้งต้นมองผ่านเลนส์ที่สำคัญข้างต้นแล้ว หนทางการก้าวขึ้นมาเป็นนักสะสมก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินจะทำความเข้าใจและใช้เวลาเรียนรู้ 

 

UOB Privilege Banking ให้คุณค่ากับทุก Passion & Lifestyle และพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมทุกความหลงใหลให้กลายเป็นความมั่งคั่ง ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ เข้ากันกับไลฟ์สไตล์ผู้มีความมั่งคั่งทุกท่าน 

 

www.uob.co.th/privilegebanking

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X