×

สัญญาณโรคต่อมลูกหมากโต ความผิดปกติที่ผู้ชายวัยทำงานไม่ควรมองข้าม

05.04.2022
  • LOADING...
enlarged prostate

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ความผิดปกติของโรคต่อมลูกหมากที่ผู้ชายไทยเป็นกันมากอันดับ 1 คือ โรคต่อมลูกหมากโตที่สูงถึง 80% รองลงมาคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 18% และโรคต่อมลูกหมากอักเสบอีก 2%
  • เริ่มเข้าสู่วัยทอง ควรสังเกตอาการการเก็บและขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ รวมทั้งเรื่องสมรรถภาพทางเพศ 
  • หมั่นฝึกฝนสรีระการขับถ่ายปัสสาวะให้เป็นธรรมชาติ สร้างไลฟ์สไตล์ที่ดีในการดำเนินชีวิต เน้นดื่มน้ำและอาหารที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมากโตและสมรรถภาพทางเพศ

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนค่อยๆ ลดลง ไม่เว้นแม้แต่เพศชายที่ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างจากผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะความผิดปกติของโรคต่อมลูกหมากที่ผู้ชายไทยเป็นกันมาก โดยอันดับ 1 ที่พบคือโรคต่อมลูกหมากโตที่สูงถึง 80% รองลงมาคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 18% และโรคต่อมลูกหมากอักเสบอีก 2% ดังนั้น การสังเกตอาการ ความผิดปกติ และรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว จะช่วยให้อาการไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น

 

สัญญาณของโรค

ในทางการแพทย์จะมุ่งเน้นที่อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยที่ผิดปกติเป็นหลัก มากกว่าขนาดก้อนต่อมลูกหมาก ที่สามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้ 

 

  1. ปัสสาวะขัด
  2. ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  3. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือต้องเบ่งปัสสาวะจนกว่าจะออก
  4. ปัสสาวะไม่พุ่ง สะดุดเป็นช่วงๆ, มีปัสสาวะหยดเมื่อใกล้จะสุด และปัสสาวะไม่สุด
  5. ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน
  6. ปวดปัสสาวะรุนแรงมาก

 

enlarged prostate

 

วิธีตรวจวินิจฉัยต่อมลูกหมากโต

  1. ซักประวัติเพื่อตรวจสอบอาการ
  2. ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ
  3. อัลตราซาวด์ขนาดต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลง
  4. ตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางท่อทวารหนัก ‘DRE’ (Digital Rectal Examination) เพื่อดูความผิดปกติ

 

วิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต โดยส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 4 วิธีหลักๆ ได้แก่ 

 

1. รักษาด้วยยาช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก ได้แก่ ยาต้านระบบประสาทอัลฟา (Alpha Blocker) ช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 5-อัลฟารีดักเทส (5-Alpha Reductase) จะลดระดับดีเอชที (DHT) และมีผลกับขนาดต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก

 

2. ผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากออกด้วยการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ มี 2 แบบ คือ

 

  • การรักษาทางศัลยกรรมผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ TURP (Transurethral Resection of the Prostate) ใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัด และจี้ด้วยไฟฟ้าแบบประจุเดี่ยวโมโนโพลาร์ เพื่อตัดและหยุดเลือดไปพร้อมกัน
  • การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ TURPV (Transurethral Vaporized Resection of the Prostate) หรือ Plasma Kinetic (PK) ใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าประจุคู่ไบโพลาร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ส่วนที่ถูกตัด และจี้ด้วยไฟฟ้าไม่ให้ไหม้เกรียมมากเกินไป มีระบบช่วยระเหิดเนื้อเยื้อคล้ายคลึงกับการใช้แสงเลเซอร์คือ Vaporization

 

3. ผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์กรีนไลต์ PVP (GreenLight PVP: Photoselective Vaporization of Prostate) นวัตกรรมใหม่ของเทคนิคการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต ใช้หลักการคือ สอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะเหมือนการผ่าตัดส่องกล้อง แต่เปลี่ยนจากใช้ที่ขูดเป็นแสงเลเซอร์พลังงานสูง ยิงไปในตำแหน่งที่มีภาวะอุดกั้นในต่อมลูกหมาก แสงเลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะค่อยๆ ระเหิดหายไป เสียเลือดน้อย เหมาะกับผู้สูงอายุมากๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือด

 

enlarged prostate

 

4. รักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ทูเลียม (Thulium Laser Vaporesection of the Prostate) ได้ผลดีเทียบเท่า PVP ต่างกันตรงที่สามารถตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะให้เป็นชิ้นเล็กๆ เอาไว้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยครั้งต่อไปในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก และนำมาใช้รักษาภาวะอาการท่อปัสสาวะตีบจากพังผืดได้

 

ข้อคิดและคำแนะนำสำหรับเพศชายในวัยทำงานและดูแลครอบครัว 

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง ควรสังเกตอาการการเก็บและขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติดังที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมทั้งเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ควรหมั่นฝึกฝนสรีระการขับถ่ายปัสสาวะให้เป็นธรรมชาติ สร้างไลฟ์สไตล์ที่ดีในการดำเนินชีวิต เน้นดื่มน้ำและอาหารที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมากโตและสมรรถภาพทางเพศ 

 

สรุปว่าโรคต่อมลูกหมากโตเป็นเรื่องที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กภายในกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาความเสี่ยงและป้องกันรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะเป็นผลดีกับชีวิตของเรามากกว่า 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising