หนังสือพิมพ์ The Sunday Times ของอังกฤษ เผยแพร่บทความของ โจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ที่เล่าถึงประสบการณ์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘ฝันร้าย’ ระหว่างเข้ากักตัวในฮอสพิเทลแห่งหนึ่ง ทางตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต เมื่อช่วงหลังวันปีใหม่ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบเหมือนกับ ‘การใช้ชีวิตแบบนักโทษที่จ่ายเงินกักขังตัวเอง’ เนื่องจากสภาพที่พักในฮอสพิเทล ตลอดจนอาหาร และการดูแลผู้กักตัวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่สมกับราคาที่ต้องจ่ายสูงถึง 1,500 ปอนด์ หรือกว่า 66,000 บาท อีกทั้งยังเจอกลุ่มชาวต่างชาติที่ติดเชื้อ จัดงานปาร์ตี้ ทั้งเต้นและดื่มเบียร์แบบสนุกสุดเหวี่ยงโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งหลายคนนั้นมีอาการไออย่างหนัก
โดยมิลเลอร์ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อช่วงปลายปี 2020 กล่าวในตอนต้นของบทความว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางมาไทยและติดเชื้อโควิด ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ในฮอสพิเทลที่มีราคาแพง และเรียกฮอสพิเทลที่เขาเข้ากักตัวว่า เป็น ‘Inhospitable Hospitel’ หรือ ‘ฮอสพิเทลที่ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย’
ที่มาที่ทำให้มิลเลอร์ได้เข้าไปกักตัวในฮอสพิเทลแห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ไอมาน แฟนสาวของเขาที่ไม่ได้เจอกันมานาน เดินทางจากซิดนีย์มายังภูเก็ตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ซึ่งเขาได้ขับรถจากบ้านพักในกรุงเทพฯ ไปยังภูเก็ตเพื่อพบเธอ และได้จองที่พักริมทะเลไว้
โดยภูเก็ตนั้นเป็นที่นิยมและเป็นจุดมุ่งหมายหลักสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาไทยในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เปิดให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว หากมีผลตรวจเชื้อเป็นลบ ตามมาตรการ Test & Go ซึ่งชาวต่างชาติจำเป็นต้องมีผลตรวจเชื้อเป็นลบเมื่อเดินทางมาถึง และตรวจซ้ำอีกครั้งใน 5 วันให้หลัง
ซึ่งไอมานนั้นมีผลตรวจเป็นลบเมื่อเดินทางมาถึง แต่ในการตรวจ PCR รอบสอง ปรากฏว่าเธอติดเชื้อ ทำให้มีรถพยาบาลมารับเธอไปกักตัว ส่วนมิลเลอร์นั้นได้รับแจ้งจากทางตำรวจที่ส่งข้อความมาให้เขาว่า ต้องกักตัวด้วยเช่นกัน ทำให้เขายอมกักตัวเพื่อที่จะได้อยู่กับแฟนสาว
ในตอนแรกมิลเลอร์เผยว่า เขาได้รับข้อเสนอให้กักตัวในโรงแรมที่รัฐบาลจัดให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เนื่องจากเขาได้ข่าวเกี่ยวกับสภาพที่พักและอาหารที่แย่ จนนักท่องเที่ยวเรียกกันว่าเป็นเรือนจำโควิดของไทย จึงทำให้ตัดสินใจปฏิเสธ ส่วนไอมานนั้นได้รับข้อเสนอให้กักตัวในโรงพยาบาลภูเก็ต แต่เนื่องจากเธอไม่มีอาการป่วย อีกทั้งพบว่าโรงพยาบาลนั้นประสบภาวะขาดแคลนเตียง จึงตัดสินใจไม่กักตัวที่โรงพยาบาล
ซึ่งทั้งสองคนได้เลือกที่จะจ่ายเงิน 1,500 ปอนด์ เพื่อเข้ากักตัวในฮอสพิเทล ที่มีการโฆษณาอย่างสวยหรูไว้ในกลุ่มเฝ้าระวังโควิดทางแอปพลิเคชัน WhatsApp โดยภาพของฮอสพิเทลที่โฆษณานั้น มีทั้งสระว่ายน้ำ ต้นปาล์ม ห้องพักขนาดใหญ่ ได้รับการดูแลความเป็นอยู่ภายใต้ความสะอาดที่ผ่านมาตรฐาน และพนักงานที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี
มิลเลอร์เล่าว่า ฮอสพิเทลที่เขาตัดสินใจเลือกนั้นเป็นโรงแรมขนาด 3 ดาว ที่ปิดไปนานกว่า 2 ปี ก่อนจะถูกดัดแปลงอย่างเร่งรีบเพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัว ภายใต้การรับรองของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเขามองว่าฮอสพิเทลแห่งนี้เป็นตัวเลือกที่แย่น้อยที่สุดที่เขาเจอในตอนนั้น และก่อนที่เขาจะเข้ามากักตัวนั้น มีชาวต่างชาติกักตัวอยู่แล้วทั้งหมด 289 คน
ขณะที่เขาบรรยายความรู้สึกที่เข้ากักตัวในฮอสพิเทลแห่งนี้ว่า เปรียบเหมือนจักรวาลคู่ขนานที่น่าหดหู่ และทำลายความฝันในการใช้ชีวิตตลอดสองสัปดาห์ ตามสโลแกน Amazing Thailand ที่มีทั้งหาดทรายขาว การดำน้ำดูปะการัง และอาหารรสจัดที่อร่อยและราคาถูก
วันแรกที่เดินทางไปถึงฮอสพิเทลในช่วงประมาณ 21.00 น. มิลเลอร์เล่าว่าเขาเห็นกลุ่มชาวต่างชาติที่ติดเชื้อจำนวนมากกำลังจัดปาร์ตี้ ซึ่งหลายคนเมาและไม่สวมหน้ากากอนามัย และมีขวดเบียร์วางกองอยู่ที่พื้น บางคนมีอาการไออย่างหนักในขณะที่กำลังเต้นไปด้วย
ซึ่งเขาบอกว่าภาพที่เห็นนั้นไร้สติอย่างสิ้นเชิง ขณะที่มีชาวอังกฤษคนหนึ่งตะโกนมาที่เขาว่า “ยินดีต้อนรับสู่โฮเทลแคลิฟอร์เนีย” ซึ่งเปรียบเทียบเหมือนกับโรงแรมในเพลงดัง Hotel California จากช่วงทศวรรษ 1970 ที่ภายนอกดูเป็นสถานที่หรูหรา แต่ภายในนั้นกลับเลวร้ายจนน่าผิดหวัง
ทั้งนี้ มิลเลอร์ติดโควิดในที่สุดหลังจากกักตัวผ่านไปหลายวัน ขณะที่เขายังเล่าถึงปัญหาภายในฮอสพิเทลที่ค่อนข้างแย่อื่นๆ เช่น อาหารที่ส่งให้วันละ 3 มื้อ ซึ่งกินแทบไม่ได้ ทั้งบะหมี่ที่แข็งเป็นวุ้น และนักเก็ตไก่ที่เย็นชืด ตลอดจนสระว่ายน้ำที่ใช้ได้เพียงสระเดียว ส่วนสระที่ปิดอยู่ ซึ่งอยู่หลังห้องพักหลายห้องนั้นมีทั้งตะกอนและซากกบตายลอยอยู่
ส่วนในห้องพักนั้นแม้จะสภาพค่อนข้างดี แต่ก็เล็กและแคบ และโทรทัศน์นั้นใช้การไม่ได้ อีกทั้งน้ำประปายังไหลเบา และสัญญาณ Wi-Fi ยังขาดๆ หายๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้
นอกจากนี้ ผู้เข้ากักตัวทุกคนยังถูกบังคับให้ต้องเอกซเรย์ปอด และเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากไม่ยอมเอกซเรย์จะไม่ได้รับเอกสารที่ต้องใช้เพื่อออกจากฮอสพิเทลหลังกักตัวครบ 10 วัน
อีกทั้งทุกคนยังต้องจ่ายเงินสำหรับการตรวจ PCR 1 ครั้ง คนละ 90 ปอนด์ หรือ 4,000 บาท ซึ่งมิลเลอร์เผยว่า เขาต้องใช้เวลา 5 วันในการร้องขอผลตรวจยืนยันการติดเชื้อ ซึ่งวันกักตัวนั้นเริ่มนับตั้งแต่ที่ได้ผลตรวจเชื้อเป็นบวก แต่เขาเจรจากับเจ้าหน้าที่จนสามารถใช้ภาพถ่ายผลตรวจแอนติเจนเป็นหลักฐานยืนยันวันที่ติดเชื้อ จึงทำให้ออกจากโรงแรมได้หลังกักตัวครบ 10 วัน
ทั้งนี้ มิลเลอร์เผยว่าพนักงานในฮอสพิเทลนั้นไม่เพียงพอ และไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการออกเอกสารเดินทางกลับประเทศ ตลอดจนรายละเอียดเรื่องการใช้ประกันสุขภาพในการจ่ายค่ากักตัว ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนมีความวิตกกังวล
มิลเลอร์ยังระบุในช่วงท้ายของบทความว่า การระบาดที่รุนแรงของโอมิครอน ทำให้ทางการไทยมีการระงับใช้มาตรการ Test & Go ช่วงก่อนหน้านี้ แต่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนหน้า จะมีการนำมาตรการนี้กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งหมายความว่านักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจเชื้อเป็นลบ สามารถออกไปท่องเที่ยวได้ตามปกติโดยไม่ต้องกักตัว
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจเป็นบวก มิลเลอร์เตือนว่าอาจต้องกลายเป็นนักโทษของโฮเทลแคลิฟอร์เนีย และการฉลองวันหยุดในดินแดนแห่งรอยยิ้มอย่างไทย อาจกลายเป็นสวรรค์หรือกลายเป็นนรกไปเลยก็ได้
อ้างอิง: