Mirror สื่อของแดนผู้ดีได้ออกรายงานเชิงสืบสวนสวบสวนที่ระบุว่า ในขณะที่แฟนบอลต่างแสดงความเดือดดาลต่อราคาเสื้อฟุตบอลโลก 2022 ของทีมชาติอังกฤษที่พุ่งขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ มาอยูที่ตัวละ 115 ปอนด์ หรือราว 4,900 บาท แต่พนักงานโรงงานในประเทศไทยกลับได้รับค่าจ้างเพียง 1 ปอนด์ หรือราว 43 บาทต่อชั่วโมงสำหรับผลิตเสื้อดังกล่าว
ในปี 2008 เสื้อขนาดผู้ใหญ่ราคา 40 ปอนด์ แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็น 56 ปอนด์แล้ว
“ผมไม่อยากจะเชื่อเลยจริงๆ ว่าผู้คนจะยอมจ่ายเงินแพงๆ นี้เพื่อซื้อเสื้อฟุตบอลอังกฤษรุ่นล่าสุด ใครก็ตามที่ซื้อมัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเงินที่ยากลำบากนี้ ต้องมีเงินมากกว่าความรู้สึก” เรย์ เอลลิส ขายชาวอังกฤษกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จิบเบียร์เชียร์ ฟุตบอลโลก ฝันไปเถอะ! FIFA ความดันขึ้นหลังเจ้าภาพ ‘กาตาร์’ สั่งโละจุดขายเบียร์ในสนาม
- จับตากระแส ฟุตบอลโลกปี 2022 จะคึกคักหรือไม่ หลังเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อยังไม่กลับมา ฝั่งสินค้าชะลอใช้งบโฆษณา
- เสียงวิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน ฟุตบอลโลก ‘World Cup 2022’ ที่กาตาร์ อาจกระทบต่อแบรนด์ในการตัดสินใจเป็นสปอนเซอร์ จับตาเอเชียจะสร้างเม็ดเงินได้มากสุดหรือไม่
รายงานของ Mirror เผยว่า เสื้อดังกล่าวไม่มีการระบุในเว็บไซต์ว่าผลิตขึ้นที่ไหน แต่ฉลากด้านในเสื้อระบุมีการผลิตในประเทศไทยสำหรับ Nike
สื่อของแดนผู้ดีระบุโดยอ้างคำพูดของพนักงาน 2 คนที่อยู่ในโรงงานดังกล่าวว่า พวกเขามีรายได้ 331 บาท หรือประมาณ 7.80 ปอนด์ต่อวัน ซึ่งเป็นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย ในเดือนตุลาคม ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 353 บาท หรือ 8.30 ปอนด์
พนักงานคนหนึ่งกล่าวว่า “เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตเสื้อให้กับทีมระดับโลกอย่างอังกฤษ โดยเสื้อทีมชาติอังกฤษถูกผลิต ออกแบบ และตัดเย็บที่นี่มาค่อนข้างนานตั้งแต่ก่อนโควิด”
ทั้งคู่กล่าวว่าโดยปกติแล้วพวกเขาทำงาน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 8-11 ชั่วโมงต่อวัน โดยจะได้รับค่าล่วงเวลาและโบนัสหากทำได้ตามเป้าหมาย
พนักงานอีกคนกล่าวว่า “ที่นี่ไม่มีสหภาพแรงงาน ในช่วงเวลาทำงานมีนโยบายงดใช้โทรศัพท์ เราไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือของเราและไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป”
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าประเมินว่า เสื้อโดยทั่วไปจะมีต้นทุนอยู่ที่ 11-12 ปอนด์ในการผลิตที่โรงงาน ในจำนวนนี้ 7.50 ปอนด์จะเป็นต้นทุนวัสดุ ขณะที่ไม่เกิน 3 ปอนด์คือต้นทุนการตัดรวมถึงค่าแรง เหลือกำไรประมาณ 1.50 ปอนด์สำหรับโรงงาน
เมื่อเสื้อถูกส่งไปยังสหราชอาณาจักรในราคาประมาณ 70 ปอนด์ จะมีการเรียกเก็บอากร 32% และยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อหักต้นทุนแล้วกำไรที่เหลือจะแบ่งกันระหว่าง Nike สมาคมฟุตบอล และผู้ค้าปลีก โดยคาดว่า Nike จะทำกำไรระหว่าง 10-15% หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว
บริษัทซึ่งตั้งอยู่ในรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา มีรายได้ 1.02 หมื่นล้านปอนด์ในปีที่แล้ว และทำกำไรได้ 1.18 พันล้านปอนด์
อย่างไรก็ตามนอกจากทีมชาติอังกฤษแล้ว Nike ยังผลิตเสื้อฟุตบอลทีมชาติให้กับโปรตุเกส, ฝรั่งเศส, บราซิล และเนเธอร์แลนด์ด้วย
หมายเหตุ: 1 ปอนด์ เท่ากับ 42.57 บาท
ภาพ: Nike Football
อ้างอิง: