×

อังกฤษ ในยุคเปลี่ยนผ่าน ท่ามกลางโจทย์ท้าทายใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยในเวลาอันใกล้

09.09.2022
  • LOADING...
อังกฤษ

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นอีกจุดเริ่มต้นยุคใหม่สำหรับสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย การอ่อนค่าของเงินปอนด์ ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ไปจนถึงวิกฤตค่าครองชีพและพลังงาน

 

เมื่อวันพฤหัสบดี (8 กันยายน) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งสิริพระชนมพรรษา 96 พรรษา และทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร สวรรคตที่พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์ 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งครองราชย์ยาวนาน 70 ปี ทรงอยู่เคียงข้างประชาชนในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษอันกว้างใหญ่ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อปี 2016 และการระบาดใหญ่ของโรคโควิด ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

 

การหยุดชะงักทางการเมือง

 

การหยุดชะงักของการเมืองเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากสหราชอาณาจักรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่าง ลิซ ทรัสส์ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 

 

โดยทรัสส์ถือว่าเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศในช่วงเวลาที่ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการผลัดแผ่นดิน แนวโน้มเศรษฐกิจที่จ่อชะลอตัวหนักสุดในรอบหลายปี วิกฤตด้านพลังงานที่ทวีความรุนแรงขึ้น และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น

 

ทรัสส์ได้เปิดเผยแผนการในการต่อสู้กับวิกฤตค่าครองชีพของสหราชอาณาจักร หลายชั่วโมงก่อนการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนในเรื่องราคาพลังงานซึ่งเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสงครามในยูเครน

 

กระทรวงการคลังอังกฤษเปิดเผยว่า ชุดมาตรการนี้สูงกว่า 1 แสนล้านปอนด์ โดยคาดว่าจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อซึ่งแตะระดับสูงสุดลงได้ 4-5% แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งกำลังดึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลาย 10 ปี เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากมาตรการทางการคลังเหล่านั้นจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าและค่าแรง

 

เมื่อเดือนที่แล้วธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 27 ปี เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 อยู่ที่ 10.1% ทำให้นักลงทุนหลายคนคาดหวังว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมสัปดาห์หน้า

 

เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเสี่ยงถดถอยมากขึ้น

 

แนวโน้มความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะถดถอยที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Goldman Sachs ได้เตือนว่าสหราชอาณาจักรอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ก่อนหน้านี้จากธนาคารกลางอังกฤษ

 

นอกจากนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเงินปอนด์ยังอยู่ในช่วงขาลง โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปี อยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.1469 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันพุธ (7 กันยายน)

 

ตัวแปรเหล่านี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อทรัสส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ผู้นำใหม่ของสหราชอาณาจักรด้วย ซึ่งมีหน้าที่ฟื้น Sentiment ในประเทศ ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้

 

การปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า แม้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษยังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่าล้าสมัยและใช้เงินสาธารณะ ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพครั้งนี้ แต่ แอนดรูว์ โรเบิร์ตส์ นักประวัติศาสตร์และศาสตราจารย์ที่ King’s College London ระบุว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีแผนรับมือแล้ว และเราจะเห็นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และอีกหลายปี

 

“เห็นได้ชัดว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพครั้งใหญ่ในสหราชอาณาจักร และสิ่งที่ผู้คนต้องการเห็นคือราชวงศ์ที่ไตร่ตรองถึงสิ่งนั้น ดังนั้นอาจมีเชื้อพระวงศ์เข้าร่วมในกิจกรรมระดับสูงน้อยลงในอนาคต” โรเบิร์ตส์กล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising