×

สหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ หลังอยู่ร่วมกันมา 47 ปี บอริส จอห์นสัน ประกาศ “นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น”

01.02.2020
  • LOADING...

ในที่สุดวินาทีประวัติศาสตร์ของยุโรปก็มาถึง เมื่อสหราชอาณาจักรเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) แล้ว ตั้งแต่ 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา หรือตรงกับเวลา 06.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย

 

ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา มีทั้งบรรยากาศของการเฉลิมฉลองและการอำลา จากทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน Brexit ทั่วทั้งสหราชอาณาจักร

 

และในช่วงค่ำ กลุ่มผู้สนับสนุน Brexit รวมตัวกันที่ Parliament Square ใจกลางกรุงลอนดอน เพื่อเฉลิมฉลองการออกจากสหภาพยุโรป โดยมีผู้ร่วมปราศรัย 6 คน หนึ่งในนั้นคือ ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรค Brexit บริเวณนี้ยังมีการประดับธงชาติสหราชอาณาจักรหรือธงยูเนียนแจ็ก และอาคารในย่าน Whitehall ก็มีการเปิดไฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวันประวัติศาสตร์ในวันนี้ด้วย ขณะที่ในสกอตแลนด์ มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม ‘Leave A Light On’ จัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้สหภาพยุโรปยังเปิดประตูรับการกลับเข้าไปเป็นสมาชิกของสกอตแลนด์ในอนาคต ส่วนในไอร์แลนด์เหนือก็มีการชุมนุมทั้งของกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการออกจากสหภาพยุโรปอยู่หลายจุดเช่นกัน

 

เวลา 22.00 น. มีการเผยแพร่สุนทรพจน์ของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ถ่ายทำเอาไว้ก่อนหน้า ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องการกล่าวในค่ำคืนนี้คือ นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการเริ่มต้น เป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ เป็นรุ่งอรุณของยุคใหม่ ที่เราจะไม่ยอมรับอีกต่อไปว่า โอกาสในชีวิตของคุณและคนในครอบครัวของคุณจะขึ้นอยู่กับเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศที่คุณเติบโตขึ้นมาเท่านั้น นี่คือช่วงเวลาที่เราจะเริ่มต้นความเป็นหนึ่งเดียวและยกระดับไปสู่ขั้นต่อไป และเขายังเชื่อว่า ทุกๆ เดือนจากนี้ไป ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

 

“เมื่อผมมองเห็นศักยภาพของสหราชอาณาจักรที่กำลังรอการปลดปล่อย ผมเชื่อว่า พวกเราสามารเปลี่ยนโอกาสในครั้งนี้ให้เป็นความสำเร็จที่น่าตกตะลึง” จอห์นสันกล่าว

 

และในเวลาเดียวกัน มีการฉายภาพนาฬิกานับถอยหลังเข้าสู่วินาที Brexit ที่ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบนายกรัฐมนตรี

 

กระทั่งเวลา 23.00 น. ผู้สนับสนุน Brexit ที่ชุมนุมอยู่ที่ Parliament Square ได้ร่วมกันนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่ Brexit อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางเสียงตะโกนร้องแสดงความยินดี และกลุ่มผู้ชุมนุมยังร่วมกันขับร้องเพลงปลุกใจต่างๆ และเพลงชาติสหราชอาณาจักร ขณะที่ธงยูเนียนแจ็ก ณ ที่ทำการสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ก็ถูกเชิญลงจากยอดเสา ก่อนที่จะมีการส่งมอบธงผืนหนึ่งไปเก็บรักษายังพิพิธภัณฑ์ต่อไป

 

ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่สนับสนุนและเห็นต่างต่อการอยู่ในสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (รวมช่วงที่ยังเป็นประชาคมยุโรป)​ แต่ความชัดเจนเริ่มปรากฏในปี 2013 เมื่อ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้นประกาศจะจัดการลงประชามติ หากพรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะการเลือกตั้งทั่วไป และเมื่อคอนเซอร์เวทีฟชนะการเลือกตั้งในปี 2015 ก็นำมาสู่การลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ผลคือ เสียงโหวตให้ถอนตัว หรือ Leave ชนะเสียงโหวตให้อยู่ต่อ หรือ Remain ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52 ต่อ 48 ทำให้คาเมรอนตัดสินใจลาออก

 

จากนั้นเราจึงได้เห็นการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็น เทเรซา เมย์ ความพยายามในการหาข้อตกลงถอนตัว การต่อสู้ในสภาฯ ที่เมย์แพ้เสียงโหวตดีล Brexit ถึง 3 ครั้ง และในที่สุดก็เป็น บอริส จอห์นสัน ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมประกาศว่า “Get Brexit Done” (ทำ Brexit ให้สำเร็จ) และหลังการเลือกตั้งหนล่าสุด พรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะการเลือกตั้งแบบท่วมท้น และลงเอยด้วยการผ่านข้อตกลงในสภาฯ ได้ในที่สุด

 

และจากนี้ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2020 จะเป็น ‘ระยะเปลี่ยนผ่าน’ ที่กฎหมายส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรปจะยังมีผลบังคับใช้ต่อไปในสหราชอาณาจักร แต่สหราชอาณาจักรจะอยู่นอกเหนือสถาบันทางการเมืองของสหภาพยุโรปแล้ว ระหว่างนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายในอนาคต

 

อนึ่ง หนังสือพิมพ์หลายฉบับในสหราชอาณาจักรต่างพร้อมใจกันขึ้นภาพปกรับวันประวัติศาสตร์ของประเทศ เช่น หนังสือพิมพ์ The Guardian พาดหัวตอนหนึ่งว่า Brexit คือ ‘การเดิมพันที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุคของสหราชอาณาจักร’, Daily Mail พาดหัวว่า ‘รุ่งอรุณใหม่สำหรับสหราชอาณาจักร’, The Sun พาดหัวว่า ‘เวลาของพวกเรามาถึงแล้ว’ ฯลฯ ส่วนหนังสือพิมพ์ในยุโรปหลายฉบับแสดงความกังวลถึงอนาคตของสหภาพยุโรปนับจากนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X