×

เจาะเหตุผลเบื้องหลัง ความเสี่ยง และความเห็นด้วย-เห็นต่าง เมื่ออังกฤษประกาศคลายล็อกระยะที่ 4

14.07.2021
  • LOADING...
England

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิดในระลอกที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เราเคยพบ บางประเทศกำลังถกเถียงกันเรื่องของการกลับมาใช้ชีวิตที่ ‘ใกล้เคียงปกติยิ่งขึ้น’ โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างสูง หนึ่งในนั้นคืออังกฤษ (England) ที่ประกาศว่าจะเข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในสถานการณ์โควิดในระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ทว่าเรื่องนี้ยังมีเหตุผลที่ซับซ้อนและมีความเห็นต่างเกิดขึ้น

 

THE STANDARD สรุปประเด็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น เบื้องหลังการตัดสินใจ ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ และความเห็นด้วย-เห็นต่างจากกรณีนี้

 

  • ชัดเจนจากปากของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแล้วว่า 19 กรกฎาคมนี้ อังกฤษจะเข้าสู่ ‘ระยะที่ 4’ ของการผ่อนคลายมาตรการและข้อจำกัดในสถานการณ์โควิด และนั่นหมายถึงข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการติดต่อทางสังคมส่วนใหญ่จะถูกยกเลิก เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล 2 เมตร, จำนวนคนสูงสุดที่สามารถพบปะได้ หรือการขอให้ทำงานจากที่บ้าน นอกจากนี้ ไนต์คลับและสถานบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่จะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง การจำกัดปริมาณคนในงานกีฬา นันทนาการ และธุรกิจจะถูกยกเลิก ส่วนกฎการเว้นระยะห่างในผับ บาร์ ร้านอาหารก็จะยุติเช่นกัน

 

  • อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายเหล่านี้ก็มีข้อแนะนำบางประการตามมา อาทิ แม้การใส่หน้ากากอนามัยอาจไม่ใช่ภาคบังคับอีกต่อไป แต่ประชาชนก็ถูกคาดหวังให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิดและพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ, ไนต์คลับและสถานที่ที่มีคนหนาแน่นจะถูกแนะนำให้ใช้ใบรับรองสถานะคล้ายวัคซีนพาสปอร์ตในการคัดกรองบุคคล, การค่อยๆ ทยอยกลับมาทำงานในสถานที่ทำงานปกติ, การลดจำนวน ความใกล้ชิด และระยะเวลาในการติดต่อทางสังคม และการแนะนำให้พบปะกันนอกบ้าน เป็นต้น แต่การแยกกักตัวเองในบางกรณีที่มีความเสี่ยงยังคงถูกบังคับต่อไป

 

  • แม้ฟังดูแล้วจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่เบื้องหลังเรื่องนี้มีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย ท่าทีของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษยังยืนยันถึงการรักษาความระมัดระวังในระดับสูงหลังจากนี้ และยืนยันว่าชาวอังกฤษยังไม่สามารถกลับไปสู่ชีวิตก่อนยุคโควิดได้ในทันที จอห์นสันเองระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่าง ‘ระมัดระวัง’ และเตือนว่า ‘การระบาดใหญ่ยังไม่สิ้นสุดลง’ และหากจับสัญญาณที่เปลี่ยนไป จากก่อนหน้านี้ที่จอห์นสันเคยกล่าวไว้ว่า ต้องการให้การยกเลิกมาตรการต่างๆ เป็นกระบวนการที่ ‘เปลี่ยนแปลงไม่ได้’ ทว่า ในการแถลงข่าวครั้งล่าสุดแม้จอห์นสันจะยังยืนยันว่าหวังเช่นเดิม แต่เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเงื่อนไขที่อาจทำให้ต้องมีการนำมาตรการต่างๆ กลับมาใช้อีกครั้ง จอห์นสันมีคำตอบออกมาว่า หากสถานการณ์พิเศษหรือมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่อาจก่อปัญหา พวกเขาก็ไม่สามารถตัดสิ่งใดออกจากการพิจารณาได้ และจะไม่ลังเลที่จะใช้วิธีการใดๆ ที่มีอยู่เพื่อปกป้องส่วนรวม

 

  • ข้อมูลประกอบต่อไปนี้อาจพอทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้อังกฤษซึ่งอยู่ในฤดูร้อน และยังอยู่ในช่วงที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันและยอดการเข้ารักษาตัวใหม่ในโรงพยาบาลต่อวันเพิ่มขึ้นในการระบาดระลอกที่ 3 แต่ความเร็วในการเพิ่มขึ้นของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลใหม่ต่อวันนั้นดูจะช้ากว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันจากเดือนพฤษภาคมมาถึงสัปดาห์ที่แล้วในเดือนกรกฎาคม เพิ่มจากราว 1,000-3,000 รายต่อวันมาเป็นมากกว่า 30,000 รายต่อวัน แต่การรักษาตัวในโรงพยาบาลใหม่ต่อวันจากเดือนพฤษภาคมมาจนถึงสัปดาห์ที่แล้วนั้นเพิ่มจากไม่เกิน 100 รายต่อวันมาเป็นมากกว่า 400 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตรายใหม่ในเดือนพฤษภาคม ส่วนใหญ่มีจำนวนหลักหน่วยต่อวัน และเพิ่มมาเป็นมากกว่า 20 รายต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว

 

  • การผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้เกิดจากการเข้าเงื่อนไขที่สำคัญจำนวน 4 ข้อ ที่รัฐบาลอังกฤษกำหนดเป็นหลักมาอย่างยาวนาน ได้แก่ 1. โครงการฉีดวัคซีนยังคงเดินหน้าอย่างประสบความสำเร็จ, 2. มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพเพียงพอในการลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในหมู่ผู้รับวัคซีนแล้ว (ซึ่งในข้อนี้พบจากการใช้งานจริงว่า การฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักรครบสองเข็ม ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ 78-80% และลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 91-98%), 3. อัตราการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันที่ไม่ยั่งยืนต่อระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (ซึ่งข้อนี้ยังไม่แน่นอน แต่จากการทำแบบจำลองข้อมูลพบว่า หากการกลับสู่พฤติกรรมปกติของประชาชนเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุข) และ 4. การประเมินความเสี่ยงนั้นไม่เปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานจากสายพันธุ์ที่น่ากังวลใหม่ๆ

 

  • และอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญก็คือ หากมีการเลื่อนการยกเลิกมาตรการออกไปอีก อาจทำให้ ‘จุดพีก’ ของการระบาดที่รัฐบาลอังกฤษบอกว่าสามารถรับมือได้ในช่วงฤดูร้อนนั้นถูกเลื่อนไปสู่ฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว ซึ่งช่วงนั้นจะมีการเปิดโรงเรียน และมีไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสอื่นระบาดร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงได้ ศาสตราจารย์คริส วิตตี้ ประธานเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของอังกฤษระบุว่า การเลื่อนกำหนดผ่อนคลายมาตรการในสถานการณ์โควิด ที่เลื่อนจากเมื่อเดือนที่แล้วมาเป็นเวลา 4 สัปดาห์นั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีผลในการช่วยลดจำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต และยืนยันว่าไม่มี ‘วันในอุดมคติ’ สำหรับการผ่อนคลายมาตรการ เพราะทุกวันที่เป็นไปได้สำหรับการผ่อนคลายมาตรการล้วนมีข้อเสียอยู่แล้ว

 

  • อย่างไรก็ตาม BBC รายงานว่าเบื้องหลังฉากของเรื่องนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลที่ตั้งคำถามกับนโยบายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยด้วย เนื่องจากการสื่อสารที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่าการสวมหน้ากากอนามัยกำลังจะไม่ใช่มาตรการ ‘ภาคบังคับ’ อาจกลายเป็นการส่งข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าการควบคุมการติดเชื้อนั้นไม่สำคัญอีกต่อไป ความกังวลเหล่านี้จึงนำมาซึ่งการที่บรรดารัฐมนตรีออกมาเน้นย้ำความจำเป็นของการสวมหน้ากากในอาคารที่มีคนหนาแน่น นอกจากนี้ผลจากการทำแบบจำลองข้อมูลโดย Warwick University และกลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์สำหรับเหตุฉุกเฉิน (SAGE) ที่เปรียบเทียบผลจากกรณีที่ประชาชนกลับไปสู่พฤติกรรมปกติแทบจะในทันที เทียบกับกรณีที่ประชาชน ‘ค่อยๆ’ กลับเข้าสู่พฤติกรรมปกติโดยใช้เวลาหลายเดือน พบว่าแบบหลังจะช่วยลดระดับสูงสุดของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงฤดูร้อนได้ถึงครึ่งหนึ่ง รวมถึงช่วยเลี่ยงภาวะที่มีผู้ติดเชื้อมากเกินไปก่อนถึงช่วงสูงสุดของการระบาดในฤดูร้อนด้วย นี่เองจึงทำให้ ศ.วิตตี้ ออกมากล่าวถึงความสำคัญที่สาธารณชนจะต้อนรับเสรีภาพที่กลับมาใหม่อีกครั้ง ‘อย่างช้าๆ’ ในการแถลงข่าว โดยย้ำว่ายิ่งกระบวนการนี้ช้ามากเท่าใด ก็จะยิ่งมีผู้ติดเชื้อ ผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล และผู้เสียชีวิตน้อยลงเท่านั้น

 

  • ข้อมูลจากกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลยังคาดว่า การระบาดสูงสุดในระลอกนี้ของอังกฤษจะยังไม่เกิดขึ้นก่อนกลางเดือนสิงหาคม และอาจทำให้เกิดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 1,000-2,000 คนต่อวัน และแม้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงในกระบวนการสร้างแบบจำลอง แต่ก็คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตที่ 100-200 คนต่อวันในช่วงที่ระบาดสูงสุดในระลอกนี้ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับประเด็นที่ ศ.วิตตี้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การกลับสู่เสรีภาพที่มากขึ้นอย่างช้าๆ จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลตรงนี้ จอห์นสันถูกผู้สื่อข่าวจาก The Mirror ถามว่า การเสียชีวิตวันละ 100-200 คนถือเป็นราคาที่รัฐบาลต้องการจะจ่ายเพื่อแลกกับเสรีภาพหรือไม่ จอห์นสันตอบว่าความเป็นจริงก็คือ น่าเศร้าว่าการเสียชีวิตและการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะคลายล็อกเมื่อใดก็ตาม และจำเป็นจะต้องยอมรับความจริงนี้

 

  • และไม่ใช่ทุกหน่วยงานในอังกฤษที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายในทันที BBC รายงานว่าสายการบินต่างๆ เช่น Ryanair, British Airways, Jet2 ยังคงมาตรการบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยต่อไป ส่วนระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟและรถประจำทางจะต้องตัดสินใจว่าจะยังบังคับให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยต่อไปหรือไม่ และส่วนร้านค้าและผู้ประกอบการมีความเห็นหลากหลาย ทั้งที่บอกว่าจะขอให้ลูกค้าและพนักงานสวมหน้ากากอนามัยต่อไป หรือบอกว่าการจะใส่หรือไม่เป็นทางเลือกส่วนตัวของลูกค้า และที่บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจ

 

  • และเราเริ่มได้เห็นความเห็นบางส่วนทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ เช่น โจนาธาน แอชเวิร์ธ รัฐมนตรีสาธารณสุขเงาจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคแรงงานกล่าวในสภาหลัง ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าในการรับมือโควิดต่อสภาของอังกฤษ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขได้ใช้วิธีการที่ ‘เสี่ยงสูงและถือโชคชะตา’ ในการรับมือกับโควิด และบอกว่านี่เปรียบเสมือนการเหยียบคันเร่งขณะปลดเข็มขัดนิรภัย อาจมีผู้คนหลายพันคนต้องทนทุกข์จากโรคนี้ และเมื่อมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดภัยคุกคามจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้น

 

  • ส่วน อลีนา บุกซ์ ประธานสภาจริยธรรมแห่งชาติของเยอรมนี ที่ระบุว่าการตัดสินใจมาตรการและข้อจำกัดเกือบทั้งหมดในอังกฤษเป็น “การทดลองที่มีความเสี่ยงสูง”

 

  • ส่วนในนิวซีแลนด์ มีนักวิทยาศาสตร์หลายรายในนิวซีแลนด์ที่แสดงความกังวล อาทิ ซูซี่ ไวลส์ นักจุลชีววิทยาจาก University of Auckland ที่ตั้งคำถามถึงความร้ายแรงของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักรขณะนี้ และบอกว่านี่เป็นการทำการทดลองที่แย่มาก ส่วน เจมมา เกแกน นักไวรัสวิทยาวิวัฒนาการจาก University of Otago แสดงความกังวลว่าเมื่อมีผู้ได้รับวัคซีนเพียงระดับเกินครึ่งของประชากรผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักร อาจทำให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ดื้อต่อวัคซีนได้

 

  • และเมื่อจอห์นสันแถลงถึงแนวโน้มการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในสัปดาห์ก่อน (5 กรกฎาคม) และมีคำแถลงส่วนหนึ่งที่แสดงถึงการยอมรับว่าจะมีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น และจำเป็นต้องยอมรับการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น คริส ฮิปกินส์ รัฐมนตรีด้านการรับมือกับโควิดของนิวซีแลนด์กล่าวในการแถลงข่าวว่า “นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเต็มใจยอมรับในนิวซีแลนด์” ส่วน จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์บอกว่า แต่ละประเทศก็ใช้ทางเลือกที่แตกต่างกัน และ ไมเคิล เบเกอร์ นักระบาดวิทยาและศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขของนิวซีแลนด์​บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขวิตกกังวลใจกับการที่สหราชอาณาจักรจะอนุญาตให้เชื้อโควิดกลับมาแพร่ระบาด และวลีที่ว่า “อยู่ร่วมกับโควิด” ของจอห์นสันถือเป็นสโลแกนที่ไร้ความหมายที่ล้มเหลวในการสื่อสารผลที่ตามมาของการติดเชื้อนับล้าน หรือทางเลือกอื่นในการจัดการไวรัส เขาบอกว่านิวซีแลนด์ไม่ควรเดินตามหรือยอมรับแนวทางนี้

 

  • ส่วนหอการค้าอังกฤษกล่าวว่า ธุรกิจจำนวนมากจะ ‘ถอนหายใจด้วยความโล่งอก’ จากการได้ไฟเขียวให้กลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง แต่พวกเขาก็ยังไม่เห็นภาพรวมที่พวกเขาต้องการเพื่อวางแผนการคลายล็อกอย่างเหมาะสม

 

ภาพ: Mike Kemp via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X