วันนี้ (6 มกราคม) ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 4 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณากระทู้ถามทั่วไป นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถาม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง มาตรการสนับสนุนตลาดพลังงานสะอาดผ่าน Solar Rooftop โดยระบุว่า การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันมีการปล่อยมลพิษ ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไฟฟ้าไปเป็นพลังงานสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมาก
นรเศรษฐ์ระบุว่า ที่ผ่านมาถูกเอื้อให้กับกลุ่มทุนที่รัฐบาลซื้อพลังงานหมุนเวียนที่เริ่มตั้งแต่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมักอ้างเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่เป็นความมั่นคงของประเทศหรือของใครกันแน่ เพราะปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการหรือหลักการสำรองไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟให้กับประชาชนทั่วประเทศ มีโรงงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเลย แต่ยังได้เงินจากประชาชนผ่านค่า Ft ที่สำคัญคือการรับซื้อนั้นไม่มีการประมูล
“เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้มีบารมีนอกรัฐบาลที่ไปถ่ายรูปในสนามกอล์ฟใช่หรือไม่ผมก็ไม่ทราบ เรื่องนี้ท่านมองเห็นถึงโครงสร้างการรับซื้อพลังงานสะอาดหรือไม่ เช่น Solar Rooftop จะมีการขยายการรับซื้อจากภาคประชาชนเหมือนกับกลุ่มทุนหรือไม่ รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้การขออนุญาตใช้เวลานาน ท่านจะทำอย่างไร จะมีมาตรการจูงใจภาคครัวเรือนให้เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น และจะมีวิธีลดภาระอย่างไร” นรเศรษฐ์กล่าว
จากนั้นพีระพันธุ์ชี้แจงว่า ส่วนตัวขอยืนยันว่าไม่ทราบมาก่อนว่ามีการผูกขาดพลังงาน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนจะเข้ามารับตำแหน่ง จึงยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันที ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้และมีข้อผูกพันทางกฎหมาย ไม่ใช่ทันใจเราที่อยากทำ ที่ผ่านมารัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีนโยบายขึ้นค่าไฟฟ้าและตรึงราคาค่าแก๊สไว้ตลอด แม้จะยังไม่สามารถลดราคาได้ ก็พยายามไม่ให้ขึ้นไปมากกว่านี้
“สำหรับประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานผมเห็นด้วยกับท่าน ผมคิดอีกแบบ ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่เพียงแค่การทำให้มีพลังงานในปริมาณมากขึ้น แต่ความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริงต้องทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในการมีไฟฟ้าใช้ได้ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ประเทศเราที่เหมาะสมที่สุดคือแสงอาทิตย์ ดังนั้นจึงควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน อย่าพูดถึงขายเลย เอาแค่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ ไม่ต้องพะวงว่าอีก 4 เดือนค่าไฟจะปรับเท่าไร ปัจจุบันที่ต้องปรับเพราะไฟฟ้าผลิตจากแก๊ส เราเจอภาวะราคาตลาดโลก ทำให้กำหนดราคาไม่ได้คงที่ ผมก็พยายามศึกษา เพราะเป็นสัญญาที่ทำข้อตกลงไว้แล้ว” พีระพันธุ์กล่าว
พีระพันธุ์ยังระบุอีกด้วยว่า ไม่เข้าใจทำไมต้องแยกเป็นการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งสองหน่วยงานต้องรับไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตไม่ใช่ฝ่ายขาย ทุกขั้นตอนต้องมีกำไร หากไม่มีกำไรก็ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ประชาชนก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย แม้ตนเองอยากแก้ไขปัญหา แต่ทั้งหมด สส. และ สว. เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย ซึ่งกฎหมายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีมาตั้งแต่ปี 2511 ควรมีการปรับแก้ ปัญหาพลังงานไม่ใช่ไม่มีใครเห็น แต่ใครจะเป็นคนทำ
พีระพันธุ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อประชาชนจะขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ต้องขออนุญาตถึง 5 หน่วยงาน ซ้ำซ้อนและยุ่งยาก ทั้งยังต้องรอเป็นปี ตนเองในฐานะกำกับดูแลกระทรวงพลังงานก็สั่งการแก้ระเบียบไปแล้ว แต่วันนี้การแก้กฎหมายไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน อีกนานกว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“รวมถึงเรื่องการหาเงินทุน ผมไม่ทราบหรอกครับเพราะผมไม่ใช่นายทุน แต่วันนี้มันเกิดกับพี่น้องประชาชน ผมต้องแก้ไข แล้วถ้าหากว่าท่านติดตามข่าวสารเหมือนที่ท่านพูด ท่านจะเห็นเลยว่าอะไรที่ส่อไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ผมสั่งระงับทั้งนั้น เพราะผมไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรกับใคร ผมมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็เหมือนกับท่าน เรามาเป็นผู้แทน มาทำงานให้กับประชาชน ครั้งหนึ่งในชีวิตทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ผมทำทุกอย่างภายใต้นโยบายรัฐบาลและตามแนวทางคือเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้กับประชาชน” พีระพันธุ์กล่าว