“ทำไมเวลาลงน้อยจัง 40 สตางค์ แต่ตอนขึ้นนี่ขึ้นถี่แทบทุกวัน แถมขึ้นครั้งละ 50-60 สตางค์” คำบ่นอันสุดแสนจะคุ้นชินของคนใช้รถยนต์ที่ต้องเติมน้ำมันทุกคน และยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนค้างคาใจว่า ทำไม? จึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบของคำถามนี้ดูเหมือนง่าย แต่ความจริงแล้วนั้นยากและลึกลับซับซ้อน มาดูกันว่าโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยนั้น แต่ละหยด แต่ละลิตร ประกอบด้วยอะไรบ้าง และทำไมราคาจึงขึ้น-ลง แบบน่ากังขาเช่นนี้
ถอดโครงสร้างราคาน้ำมัน
ย้อนรอยทางถอดโครงสร้างราคาน้ำมันขั้นต้นกันด้วยข้อมูลจากราคาขายปลีก ตามข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จำแนกราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดในแต่ละลิตร ประกอบไปด้วย 8 อย่าง (ดูตารางประกอบ) ได้แก่ ราคาหน้าโรงกลั่น, ภาษีสรรพสามิต, ภาษีมหาดไทย, เงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, เงินเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน, ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง, ค่าการตลาด (กำไร) และภาษีมูลค่าเพิ่มของกำไร
เมื่อดูตารางแล้ว เราจะเห็นเบื้องต้นว่าราคาหน้าโรงกลั่นหรือที่เราเรียกกันอีกอย่างว่าราคาเนื้อน้ำมันของน้ำมันเบนซิน 100% นั้น มีราคาถูกที่สุดคือ 8.3133 บาท ขณะที่ค่าการตลาดหรือกำไรของบริษัทจัดจำหน่ายน้ำมันและปั๊มน้ำมันรวมกันอยู่ที่ลิตรละ 3.7072 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์จะมีกำไรลิตรละ 2.1-2.29 บาท (ปั๊มน้ำมันจะได้ส่วนแบ่งจากกำไรนี้ราว 0.5-1.0 บาท ขึ้นกับเงื่อนไขสัญญาของแต่ละบริษัท)
ส่วนสิ่งที่หนักที่สุดในน้ำมันต่อลิตรที่เราจ่ายไปคือ ภาษีและเงินที่หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าภาษี แต่เราต้องจ่ายให้รัฐนำไปใช้ ภายใต้ชื่อ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ และ ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’
โดยภาษีสรรพสามิตมีอัตราจัดเก็บถึงลิตรละ 6.5 บาท และภาษีมหาดไทย 0.65 บาท(10% ของภาษีสรรพสามิต) ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดเก็บที่ 6.58 บาทต่อลิตร แค่เพียงสามส่วนนี้รวมกันก็มากกว่าราคาเนื้อน้ำมันบวกกำไรเสียอีก ยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าอีก 7% ที่เก็บจากทุกอย่าง
ทั้งนี้ แต่เดิมนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาระดับเสถียรภาพราคาน้ำมัน พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ทำให้ราคาน้ำมันนั้นคงที่ ไม่ปรับเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเวลาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนหรือราคาสูง เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศ
แต่ปัจจุบัน กองทุนดังกล่าวกำลังทำอะไรอยู่…?
‘แก๊สโซฮอล์’ คุณคือต้นเหตุน้ำมันแพงเกินความเป็นจริง
จากตาราง เราจะเห็นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจัดเก็บทั้งบวกและลบ (คือจ่ายชดเชยให้) เงินส่วนนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแลสั่งการทั้งจัดเก็บและจัดการจ่ายชดเชย ตามนโยบายที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล
ปัจจุบันมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนจากน้ำมันเบนซิน 95 ถึงลิตรละ 6.58 บาท แต่กลับไปชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ชนิด E85 ถึงลิตรละ 7.13 บาท จึงทำให้ น้ำมันเบนซินมีราคาสูงกว่าแก๊สโซฮอล์ E85
ทั้งที่ความเป็นจริง ราคาหน้าโรงกลั่นนั้นน้ำมันเบนซินถูกกว่าเกินครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลที่ไม่ผสมไบโอดีเซลนั้นมีราคาหน้าโรงกลั่นที่ถูกกว่า เพราะทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลที่นำมาผสมมีราคาสูงกว่าน้ำมันที่กลั่นแล้ว
สิ่งนี้จะเรียกว่า ‘การบิดเบือนกลไกราคา’ และประชาชนต้องรับเคราะห์ ใช่หรือไม่…ใครรู้ช่วยตอบที
นาทีนี้ ถ้ามีการเลิกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ หรือเลิกเอาเอทานอลมาผสม แล้วไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันแพงๆ เพื่อชดเชยส่วนต่างราคาดังกล่าว น้ำมันจะมีราคาถูกลงได้ในทันที และใช่…นาทีนี้โทษแก๊สโซฮอล์ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า คุณคือต้นเหตุน้ำมันแพงเกินความเป็นจริง
แล้วเราจะเลิกบิดเบือนกลไกราคา และให้กองทุนน้ำมันทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่ให้ขึ้นลงมากหรือบ่อยเกินไปได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
‘ราคาหน้าโรงกลั่น’ อีกหนึ่งกลไกที่มีผลต่อราคา
แน่นอนว่าถ้าไม่มีการอุดหนุนหรือชดเชยราคาน้ำมันจากพลังงานทดแทน จะทำให้แก๊สโซฮอล์แพงกว่าราคาน้ำมันเบนซิน และราคาไบโอดีเซลจะสูงกว่าน้ำมันดีเซล ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะไม่มีใครใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน แล้วใครจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ คำตอบคงเดาได้ไม่ยาก ‘บริษัทผู้ผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล’ รวมถึง ‘บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน’ ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ผลประโยชน์ของเอทานอลและไบโอดีเซล ที่ตั้งราคารับซื้อกันลิตรละ 23-25 บาทนั้นมีกำไรซ่อนอยู่ลิตรละกี่บาท ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่เป็นกำไรและต้นทุนที่เราประชาชนผู้ใช้รถยนต์ต้องเป็นคนจ่ายให้อย่างไม่ต้องสงสัย
เหนืออื่นใดปัจจัยที่ทำให้น้ำมันราคาสูงยังไม่จบแค่นั้น นับจากบรรทัดนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีผลต่อราคา โดยจะพาไปค้นหาต้นทุนและกำไรของ ‘ราคาหน้าโรงกลั่น’
ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจในเบื้องต้นสักนิดก่อนว่า ราคาหน้าโรงกลั่นนั้นคือน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ โดยน้ำมันดิบนั้นจะจำหน่ายกันด้วยหน่วยเป็น ‘บาร์เรล’ ซึ่งในโลกนี้มีหลากหลายตลาด แต่จะมีอยู่ 3 ตลาดที่มีการซื้อขายน้ำมันดิบใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (WTI), ยุโรป (BRENT) และตะวันออกกลาง (OPEC) แต่ละแห่งจะมีราคาขึ้นลงแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละตลาด
เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ราคาปัจจุบัน ณ วันที่เขียนบทความนี้ (20 พฤษภาคม 2563) ราคาน้ำมันตลาดอเมริกาอยู่ที่ 33 ดอลลาร์สหรัฐ, ยุโรป 35 ดอลลาร์สหรัฐ และตะวันออกกลาง 28 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงจนถึงขนาดที่ตลาดอเมริกานั้น ราคาน้ำมันเคยติดลบ ณ วันสุดท้ายของสัญญาส่งมอบ (คือคนที่มีน้ำมันต้องจ่ายเงินให้กับคนซื้อ) เนื่องจากปริมาณคงคลังที่เหลือล้นจนทำให้ไม่มีที่เก็บเมื่อถึงวันส่งมอบ
ซึ่งประเทศไทยซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลาง โดย 1 บาร์เรลเท่ากับ 159 ลิตรโดยประมาณ นั่นหมายความว่าน้ำมันดิบ 1 ลิตร จะมีต้นทุนเท่ากับ 5.81 บาท แล้วเมื่อกลั่นแล้วจะมีราคาเท่าไร
น้ำมันดิบเมื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นจะได้ผลิตผลออกมาแตกต่างกันคือ น้ำมันเบนซิน , น้ำมันดีเซล , น้ำมันเครื่องบิน , น้ำมันเตา, ก๊าซแอลพีจี, น้ำมันหล่อลื่น และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่นๆ โดยทั้ง 6 รายการนี้มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของน้ำมันดิบทั้งหมด และไม่มีอะไรสูญเปล่าในกระบวนการกลั่น
สำหรับสัดส่วนของผลิตผลจากการกลั่น จะได้สิ่งใดมากหรือน้อยขึ้นกับคุณภาพของน้ำมันดิบ และชนิดของหอกลั่นว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งจุดนี้เป็นความเสี่ยงในการทำกำไรหรือขาดทุนของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ที่มิได้เป็นผู้กำหนดราคาขายหน้าโรงกลั่นเอง
ราคาไทยอ้างอิงจากราคาของสิงคโปร์
เนื่องจากราคาหน้าโรงกลั่นนั้น ประเทศไทยอ้างอิงจากราคาของสิงคโปร์ ดังนั้นเราจึงได้เห็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ลิตรละ 8.3 บาทสำหรับเบนซิน และ 9.3 บาท สำหรับดีเซล
แม้ว่าประเทศไทยจะมีแหล่งน้ำมันดิบเป็นของตนเอง และซื้อน้ำมันดิบได้ในราคาต่ำจากตะวันออกกลางก็ตาม ต้นทุนปัจจุบันลิตรละ 5.81 บาท (อ้างอิงในเชิงการรักษาปริมาณน้ำมันคงคลังให้อยู่ในระดับเท่าเดิมตลอด ขายไปเท่าไร ซื้อกลับมาเตรียมผลิตเท่านั้น)
สำหรับสาเหตุของการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ หลายท่านทราบแล้วเราจะขอทบทวนสั้นๆ จากกระทรวงพลังงานระบุว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศส่งออกน้ำมันไปขายที่สิงคโปร์ เพราะขายได้ราคามากกว่าหากไทยตั้งราคาขายถูกกว่านั่นเอง”
แต่ความจริงสิงคโปร์กลั่นน้ำมันเพื่อส่งออกจำหน่ายโดยมีกำลังผลิตเหลือเพื่อส่งออกมากที่สุดในอาเซียน (ข้อมูลนี้จากกระทรวงพลังงานของไทยระบุไว้เช่นเดียวกัน) ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สิงคโปร์จะสั่งซื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นแล้วจากประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ราคาที่ท่านเห็นนี้คือราคาต้นทุน ณ ปัจจุบัน แต่น้ำมันดิบจะเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าและกำหนดวันส่งมอบ หมายความว่าน้ำมันที่เรากำลังใช้อยู่นั้นเป็นน้ำมันในคลังที่จบการซื้อขายไปเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นคำถามที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า เหตุใดราคาน้ำมันจึงปรับเปลี่ยนรายวัน ย้อนแย้งกันทั้งนโยบายกองทุนน้ำมันและต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง หรือจะเป็นเพราะ ‘แก๊สโซฮอล์’
สรุปปัจจัยแรกที่ทำให้น้ำมันราคาสูง คือการนำเอาส่วนผสมที่มีราคาแพงกว่าน้ำมันมาใส่แล้วขายตามนโยบายของรัฐ และปัจจัยที่สองคือการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในต่างประเทศที่มีราคาสูง
ส่วนกำไรในน้ำมันเบนซิน 1 ลิตร จะมีกำไรที่มองเห็นตามประกาศ และกำไรที่ซ่อนอยู่ทั้งในกระบวนการกลั่น และการนำเชื้อเพลิงทดแทนมาผสม แต่ทั้งต้นทุนและกำไรรวมกันแล้วยังน้อยกว่า ‘เงินที่เราต้องจ่ายให้รัฐในการจัดเก็บ’
สุดท้ายกลายเป็นว่า ประชาชนต้องจ่ายให้รัฐเพื่อซื้อของแพงอย่างนั้นหรือ?
อ้างอิง:
- กระทรวงพลังงาน
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สำนักงานกองทุนเชื้อเพลิง
- Wikipedia.org
- oilprice.com
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum