×

วิกฤตพลังงานกับภาวะ Stagflation Fear

11.10.2021
  • LOADING...
วิกฤตพลังงาน

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงประเด็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) และราคาน้ำมันดิบที่สูงสุดในรอบปี หรือแม้แต่ถ่านหินที่ขึ้นถึงประมาณ 240 ดอลลาร์ต่อตัน จากประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อตันในปีที่แล้ว จนเกิดผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย

 

บทความฉบับนี้จะมาหาคำตอบว่าวิกฤตนี้จะไปถึงไหน จะจบอย่างไร และมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร

 

ในส่วนของสาเหตุของการปรับขึ้นของราคาโภคภัณฑ์ โดยหลักเป็นผลจากความแตกต่างของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) โดยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ทั้งในฝั่งซีกโลกตะวันตกและในฝั่งเอเชีย และทำให้ความต้องการพลังงานเริ่มกลับมา ขณะที่ภูมิอากาศในเอเชียที่คาดว่าจะหนาวเย็นต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงจะมีมากขึ้น

 

ขณะที่ในฝั่งอุปทานพบว่า การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในฝั่งน้ำมันเป็นผลจากการที่ OPEC+ เพิ่มกำลังการผลิตน้อยเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเอง คาดว่าความต้องการในระยะสั้นเพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลายไม่ต้องการลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากทราบดีว่าในระยะต่อไปแล้วพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล อันได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และอื่นๆ จะถูกแทนที่ด้วยพลังงานสะอาดอย่างพลังงานไฟฟ้า โดยในสหรัฐฯ เองที่เคยมีการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas/Shale Oil) มีแท่นขุดเจาะน้ำมันดำเนินการอยู่เพียง 428 แท่น เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ระดับเดียวกันกับปัจจุบันที่ประมาณ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยในช่วงนี้มีแท่นขุดเจาะน้ำมันดำเนินการอยู่ประมาณ 1,100 แท่น

 

ในปัจจุบัน ปัญหาวิกฤตพลังงานไม่ได้เกิดขึ้นเพียงที่ใดที่หนึ่ง แต่เกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและผู้บริโภค ในสหรัฐฯ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในปัจจุบันอยู่ที่ 3.3 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เพิ่มขึ้นจาก 2.2 ดอลลาร์ต่อแกลลอนในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้าต่างๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มปรับเพิ่มขึ้น หรือมิฉะนั้นก็ขาดแคลน อันเป็นผลจากห่วงโซ่อุปทานและ/หรือต้นทุนขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ในยุโรปและอังกฤษกำลังเผชิญวิกฤตพลังงานซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการลดการใช้คาร์บอน (Decarbonization) ทำให้การผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแบบปกติ (เช่น ก๊าซธรรมชาติ) มีต้นทุนแพงขึ้นมาก ขณะที่พลังงานสะอาด (เช่น พลังงานลม) มีปัญหา โดยไม่ค่อยมีลมพัด ทำให้กังหันลมผลิตไฟฟ้าได้ค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าในเดือนตุลาคมปรับสูงขึ้นถึงกว่า 60%

 

ในจีนและอินเดียกำลังเผชิญปัญหาจากการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า โดยในจีนวิกฤตพลังงานเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพิ่มความเสี่ยงของความไม่มั่นคงทางสังคม และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก หลังจากรัฐบาลกว่า 20 มณฑลทางตอนเหนือ เช่น มณฑลกวางตุ้ง เหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮยหลงเจียง ได้รับจดหมายจากรัฐบาลกลางว่ามีการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเกินกว่าโควตาที่ประกาศไป มณฑลเหล่านั้นจึงถูกบังคับให้ปิดไฟสาธารณะในยามวิกาล ปิดไฟจราจรยามค่ำคืน และจำกัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ทำให้โรงงานบางแห่งที่มีการเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ต้องปิดการผลิตในเวลากลางคืน

 

สำนักวิจัยต่างๆ คาดการณ์ว่าการตัดไฟมีแนวโน้มที่จะลดอัตราการเติบโตของจีนลง โดยสำนักวิจัยโกลด์แมน แซคส์ และโนมูระ ปรับลดประมาณการการขยายตัวทั้งปีลงมาอยู่ที่ประมาณ 7.7-7.8% จาก 8.2% ขณะที่โกลด์แมนปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าลงเหลือ 5.5% ต่ำกว่าของ IMF ที่ประมาณการในช่วงกลางปีที่ 5.7%

 

ขณะที่ในอินเดียก็กำลังเผชิญกับวิกฤตไฟฟ้าที่รุนแรง อันเป็นผลจากการขาดแคลนถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยตามรายงานของกระทรวงพลังงานของอินเดีย โรงไฟฟ้าพลังความร้อน (Thermal) กว่า 135 แห่ง มีปริมาณถ่านหินเหลือให้ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยเพียง 4 วัน ลดลงจาก 13 วัน ในต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่โรงไฟฟ้าของอินเดียได้ลดการนำเข้าถ่านหินในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยังได้ส่งเสริมนโยบายการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจของอินเดีย เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ โดย 80% ของถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามาจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ชื่อ ‘Coal India’ ซึ่งขาดประสิทธิภาพในการผลิตเพียงพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 

การขาดแคลนทำให้ทางการกำลังตัดสินใจระหว่าง

  1. การดับไฟเป็นวงกว้าง
  2. การปรับราคาไฟฟ้าขึ้น
  3. การปล่อยให้โรงไฟฟ้าขาดทุน

โดยในปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินถือเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย (กว่า 66% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มจาก 62% ในปี 2019) ด้านการบริโภค อินเดียบริโภคไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.24 แสนล้านยูนิต จาก 1.06 แสนล้านยูนิต ในปี 2019 แต่ราคาถ่านหินจากอินโดนีเซีย ที่เป็นแหล่งนำเข้าถ่านหินใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 60 ดอลลาร์ต่อตัน ในเดือนมีนาคม เป็น 240 ดอลลาร์ต่อตัน ในเดือนตุลาคม ทำให้อินโดนีเซียส่งออกน้อยลง

 

เราวิเคราะห์ว่าปัญหาการผลิตที่ขาดแคลน ท่ามกลางความต้องการระดับสูงใน 2 ตลาดหลักของโลก จะทำให้ถ่านหินยังคงขาดแคลนในวงกว้าง โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดว่าความต้องการถ่านหินจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4.5% จากปี 2019 ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวขึ้นและฤดูหนาวที่คาดว่าจะรุนแรงในเอเชียเหนือ ทำให้ความต้องการถ่านหินซึ่งเป็นสินค้าทดแทนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเรามองว่าเป็นไปได้ที่สถานการณ์วิกฤตพลังงานโดยรวมอาจลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตยังไม่สามารถทำได้ง่าย ในขณะที่ความต้องการพลังงานในช่วงฤดูหนาวจะมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจต้องจับตาในช่วงเดือนพฤศจิกายน ว่าฤดูหนาวที่คาดว่าจะรุนแรงในปีนี้จะเป็นไปตามที่พยากรณ์ไว้หรือไม่

 

ในส่วนของภาพเศรษฐกิจ เรามองว่าสถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (หรือที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นภาวะ Stagflation) โดยในระดับโลก ตัวเลขเงินเฟ้อทั้งของผู้ผลิต (PPI) และผู้บริโภค (CPI) เป็นขาขึ้น ในสหรัฐฯ เงินเฟ้อรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด เงินเฟ้อผู้บริโภคที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จับตา (Core PCE) ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี และมีองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นอย่างถาวรมากขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้านและค่าจ้าง ทำให้ Fed จะต้องส่งสัญญาณลดทอน QE เร็วและแรงขึ้น แต่เศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง โดยภาพล่าสุด ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนกรกฎาคม ที่เพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในรอบปี เพียง 1.94 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5 แสนตำแหน่ง แต่เงินเฟ้อก็ยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เรามองว่า Fed น่าจะต้องส่งสัญญาณลดทอนมาตรการกระตุ้น เพราะหากต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจที่ชะลอลงบ้าง กับการคุมความคาดหวังเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เรามองว่า Fed น่าจะต้องเลือกอย่างหลัง

 

ในจีน เรามองว่าเงินเฟ้อผู้ผลิตน่าจะยังมีต่อเนื่อง แต่ทางการก็จะคุมโดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภค โดยจะปล่อยโภคภัณฑ์จากคลังสำรองทางการ (Strategic Reserve) ออกมาเพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิต และช่วยประคองราคาไปได้บ้าง แต่เรามองว่าความเสี่ยงของจีนคือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิกฤตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวในปีหน้ามีมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่นๆ โดยจากการทำ Sensitivity Analysis ของเรา หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว 1% จะกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง 0.9% อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าภาครัฐน่าจะใช้นโยบายการเงินการคลัง เช่น การเพิ่มสภาพคล่อง การลดการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) และการเพิ่มการลงทุนภาครัฐ เพื่อช่วยไม่ให้ชะลอมาก

 

ในไทย เราเริ่มเห็นสัญญาณการเริ่มต้นของสถานการณ์ Stagflation ในไทยแล้ว หลังจากเงินเฟ้อปรับตัวเป็นขาขึ้นกว่า 1.6% แต่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยปัจจุบัน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 30 บาทแล้ว ยกเว้นราคาน้ำมันดีเซลที่มีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันในการพยุงราคาไว้ ในขณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กบง.) มีมติให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อนุมัติวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) และจะใช้เงินกองทุนในการดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อคงราคาดีเซล B10 ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

 

เราจับตาภาพใน 4 เดือนข้างหน้าว่า ราคาน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติจะลงหรือไม่ มิฉะนั้นทางการอาจต้องมีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งจะกระทบต่อฐานะทางการคลัง อย่างไรก็ตาม หากทางการเลือกที่จะไม่พยุงราคาพลังงาน ต้นทุนภาคธุรกิจจะปรับเพิ่มขึ้นและทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอลง (หรือสถานการณ์ Stagflation) ท่ามกลางสภาวะอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic Demand) ที่ยังอ่อนแอ ทั้งนี้ ในเดือนล่าสุด (กันยายน) ต้นทุนผู้ผลิต (PPI) ปรับเพิ่มขึ้นที่ 5.3% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 1.7%

 

กล่าวโดยสรุป วิกฤตโภคภัณฑ์รวมถึงพลังงานที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลทั้งจากปัจจัยชั่วคราวและเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ

  1. อุปสงค์เริ่มกลับมาสูงขึ้นหลังจากการระบาดของโควิดบรรเทาลง ขณะที่ภูมิอากาศในเอเชียที่คาดว่าจะหนาวเย็นทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงจะมีมากขึ้น
  2. การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทันต่อความต้องการในระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น
  3. ปัจจัยพิเศษต่างๆ เช่น นโยบายการคุมเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีน ที่ทำให้เหมืองต่างๆ ต้องลดการผลิตถ่านหินลง ปัญหาการขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ง่าย หรือแม้แต่สภาพคล่องที่มีอยู่มาก ทำให้การเก็งกำไรยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ภาวะ Stagflation Fear หรือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นแต่เศรษฐกิจชะลอลง

 

เรามองว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ในระดับหนึ่งจนกว่า

  1. ปริมาณสต๊อกสำรองจะเพิ่มขึ้นจากการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยความต้องการ
  2. ภูมิอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น
  3. การลดทอน QE ของธนาคารกลางขนาดใหญ่ (เช่น Fed และ ECB) ที่จะลดกระแสการเก็งกำไรลง เราจึงเชื่อว่า Fed และ ECB จะส่งสัญญาณลดทอน QE เร็วและแรงกว่าคาด เพื่อคุมกระแสเก็งกำไรและความคาดหวังเงินเฟ้อของประชาชน ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีในระดับหนึ่ง

 

Stagflation Fear มาแล้ว นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โปรดระวัง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising