×

พลังงานบริสุทธิ์เดินหน้าสร้างโรงงานแบตเตอรี่ เตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าปลายเดือนนี้

20.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute) เตรียมเดินหน้าสร้างโรงงานแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 1 กิกะวัตต์ (GWh) ด้วยเงินลงทุน 2 พันล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 หวังช่วยลดภาระโรงไฟฟ้าและทำให้ค่าไฟถูกลง
  • เตรียมเผยโฉมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบที่ใช้งบวิจัยและพัฒนา 11.21 ล้านบาทที่งานมอเตอร์โชว์ช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้
  • เผยเหตุผลที่ซื้อกิจการบริษัทแบตเตอรี่ ‘Amita’ ในไต้หวัน เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบตเตอรี่มานาน 20 ปี ช่วยเอื้อประโยชน์การสร้างโรงงานแบตเตอรี่

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute) เตรียมเดินหน้าสร้างโรงงานแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 1 กิกะวัตต์ (GWh) ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท เผยงานมอเตอร์โชว์ปลายเดือนนี้เตรียมอวดโฉมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าตัวต้นแบบคันแรก ด้าน สมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร ออกโรงปฏิเสธข่าวลือหันหลังให้บริษัท

 

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา สมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจะเดินหน้าสร้างโรงงานแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 1 กิกะวัตต์ ด้วยงบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเครื่องจักร อุปกรณ์ที่บริษัทได้สั่งซื้อไว้แล้ว และจะเริ่มก่อสร้างกลางปี 2561 เพื่อให้เสร็จทันประมาณช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 ตั้งเป้าลดต้นทุนค่าไฟฟ้า

 

 

โรงงานแบตเตอรี่ 50 กิกะวัตต์ ลดค่าไฟ แหล่งพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่

สำหรับโรงงานแบตเตอรี่ 50 กิกะวัตต์ ที่พลังงานบริสุทธิ์ตั้งใจจะสร้างด้วยงบมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสแรก 1 กิกะวัตต์ และเฟสที่ 2 อีก 49 กิกะวัตต์

 

สมโภชน์ได้ยกเอาเคสโรงงานแบตเตอรี่ของ Tesla ซึ่งมีขนาด 35 กิกะวัตต์ และใช้เงินลงทุน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท 1 กิกะวัตต์มาเปรียบเทียบแล้วพบว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่างบลงทุนที่ทาง EA ประเมินไว้ที่ 2 พันล้านบาท ซึ่งถ้าพลังงานบริสุทธิ์สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จริง ก็จะเปิดโอกาสให้พวกเขากลายเป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่สามารถแข่งขันในตลาดระดับโลกกับผู้เล่นเจ้าอื่นๆ ได้

 

นอกจากนี้สมโภชน์ยังบอกอีกด้วยว่า การสร้างโรงงานแบตเตอรี่ 1 กิกะวัตต์ในเฟสแรกนี้เปรียบเสมือน ‘การชิมลาง’ โดยใช้งบลงทุนภายใต้ Cash Flow ที่บริษัทมี ในกรณีที่ผิดพลาดขึ้นมาจะไม่สั่นคลอนมาก เพราะบริษัทสามารถแบกรับความเสี่ยงได้ แต่ในกรณีที่ประสบความสำเร็จและทำได้จริง ก็จะส่งผลให้บริษัทพลังงานบริสุทธิ์สามารถทำในสิ่งที่คนอื่น ‘ทำตามได้ยาก’

 

โดยประโยชน์หลักๆ ของโรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้จะมีไว้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าตามครัวเรือนแทนโรงไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าดำเนินการต่างๆ และลดต้นทุนค่าไฟได้อย่างมหาศาล

 

 

“ถ้าจำไม่ผิดตอนนี้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟให้เราเกือบ 50,000 เมกะวัตต์ แต่ช่วงพีกไทม์ การใช้ไฟของเราจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 เมกะวัตต์ (Peaking Time) ซึ่งทุกวันนี้ที่เราต้องจ่ายค่าไฟแพงๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ และโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ‘ทั้งวัน’ (ใช้จ่ายไฟแค่ช่วง Peaking Time) แต่ต้องจ่ายค่า Availability Payment เพื่อให้โรงไฟฟ้าแห่งนั้นๆ พร้อมจ่ายไฟตลอดเวลา

 

“การมีโรงงานแบตเตอรี่ ข้อดีคือเราสามารถสั่งให้มันจ่ายหรือหยุดจ่ายไฟได้ทันที เพราะฉะนั้นมันจะเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าที่ต้องจ่ายกระแสไฟในช่วงพีกไทม์ได้ แถมยังมีราคาต้นทุนถูกกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่เพื่อให้จ่ายไฟแค่ 2-3 ชั่วโมง และจะช่วยให้ค่าไฟของประเทศลดลง ไม่จำเป็นต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และโรงงานแบตเตอรี่ยังเคลื่อนย้ายได้ง่ายอีกด้วย”

 

ในต่างประเทศเองก็ใช้โรงงานแบตเตอรี่จ่ายไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าเช่นกัน เช่น เยอรมนีที่ทำเป็น Peaking Plant หรือโรงงานแบตเตอรี่จ่ายกระแสไฟฟ้าในช่วงเวลาพีกไทม์ เช่นเดียวกับรัฐฟลอริดาและแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา หรือโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศออสเตรเลียของ Tesla ที่ใช้ระยะเวลาในการสร้างเบ็ดเสร็จแค่ 2 เดือน

 

 

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันแรกของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์

ถ้าใครยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ในงานเปิดตัวโครงการ EA Anywhere สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า 1,000 แห่งทุกๆ ระยะทาง 5 กิโลเมตรทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายในสิ้นปี 2561 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา THE STANDARD ได้เคยนำเสนอไปแล้วว่าบริษัทพลังงานบริสุทธิ์มีแพลนจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของตัวเองในงานมอเตอร์โชว์ในเดือนมีนาคม

 

ครั้งนี้สมโภชน์ได้ให้รายละเอียดเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) คันแรกของบริษัทอีกครั้ง โดยเผยว่า EA ได้เริ่มสร้างและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี และมีกำหนดจะอวดโฉมรถต้นแบบ (Prototype) ครั้งแรกในงานมอเตอร์โชว์ที่จะจัดขึ้นปลายเดือนนี้

 

“การใช้เวลา 1 ปี พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบและพัฒนามันขึ้นมาจากศูนย์โดยไม่ได้ไปก๊อปปี้ใครเขาเลยจนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่าง ผมมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ เพราะปกติแล้วบริษัทยักษ์ใหญ่จะต้องใช้เวลากว่า 4-5 ปีกว่าจะพัฒนารถยนต์สักคันออกมาวิ่งบนท้องถนนได้ ที่สำคัญยังต้องใช้งบพัฒนา R&D เป็นหลักพันล้านบาท ขณะที่เราใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นแค่ 11.21 ล้านบาท

 

“ผมไม่ได้บอกว่าผมเก่งนะครับ และก็ไม่ได้บอกว่าจะทำรถยนต์ได้ดีกว่าค่ายรถยนต์เจ้าอื่นๆ แต่ถ้าผมใช้เงินน้อยและสร้างได้เร็วในระดับคุณภาพที่ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เหมือนรถยนต์กับจักรยานยนต์ ผมก็ถือว่าเราน่าจะเดินมาถูกทาง เพราะเราพัฒนามันขึ้นมาด้วยความเร็วและงบประมาณที่มีอยู่เป็นอย่างดี”

 

สมโภชน์ยังบอกอีกด้วยว่า เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแล้ว ถ้าประเทศไทยสามารถสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาได้จริงๆ ก็จะช่วยนำผู้ประกอบการไทย (ในอุตสากรรมยานยนต์) เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ ไทยต้องรีบเข้ามาในการเปลี่ยนแปลงจุดนี้เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เรามีอยู่และคงตำแหน่งผู้นำนี้เอาไว้

 

ส่วนสาเหตุที่พลังงานบริสุทธิ์เข้าไปลงทุนในบริษัทพลังงาน Amita ในไต้หวันที่คนส่วนใหญ่มองว่าขาดทุนทุกปี ปีละเป็นหลัก 100 ล้านนั้น สมโภชน์มองว่า EA ซื้อบริษัทจากไต้หวันมาก็เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพในการช่วยสร้างโรงงานแบตเตอรี่และการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จะช่วยป้องกันการลุกติดไฟ เพราะบริษัทพลังงานจากไต้หวันแห่งนี้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งยังวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี

 

 

“การที่รถยนต์ไฟฟ้าจะไฟไหม้ได้ต้องเกิดการลัดวงจรอย่างรุนแรง จนอุปกรณ์ป้องกันภายในตัวรถไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ แบตเตอรี่ในตัวรถจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากๆ จนติดไฟ แต่กับสาร Stoba ที่ทางสถาบันวิจัยในไต้หวัน (ITRI) ร่วมมือกับ Amita พัฒนาขึ้นมานั้น มันจะทำงานเสมือนเป็น Circuit Breaker หรือฉนวนในแบตเตอรี่เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่ร้อน และไม่เกิดการลัดวงจร

 

“เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีความปลอดภัยมากขึ้น ที่สำคัญ Stoba ยังเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของ Amita และสถาบันวิจัยในไต้หวัน ITRI อีกด้วย”

 

 

อนาคตบริษัท หลังข่าวลือ สมโภชน์เทขายหุ้นทิ้งเกือบ 100 ล้านหุ้น

นอกเหนือจากการเผยแผนดำเนินการในอนาคตของบริษัท สมโภชน์ยังได้ถือโอกาสชี้แจงข่าวลือเทขายหุ้นบริษัทของตัวเองทิ้ง โดยบอกว่าตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์จนถึงวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่เคยขายหุ้นของตัวเองเลยสักหุ้นเดียว แต่เนื่องจากปริมาณหุ้นที่ถูกขายออกมาเมื่อเร็วๆ นี้มีมาก (เกือบ 100 ล้านหุ้น) คนส่วนใหญ่จึงเดากันว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของตน

 

“ผมกับคุณอมร (อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) เราไม่เคยขายหุ้นของตัวเองเลย แถมยังเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะข่าวมันออกมาเยอะมากเลยว่าพวกผมหนี แถมยังขายหุ้นตัวเองทิ้ง เลยมาชี้แจงว่าคนที่ขายหุ้นบริษัทจริงๆ แล้วไม่ใช่ผม ผมเอง Committed ที่จะทำโครงการใหม่ๆ ตลอด เพราะพลังงานบริสุทธิ์คือบริษัทที่ผมและคุณอมรตั้งกันขึ้นมาและอยากจะให้มันได้ดี”

 

สำหรับหุ้นที่มีการเทขายในช่วงที่ผ่านมาจนกลายเป็นกระแสลือว่าสมโภชน์เทขายหุ้นตัวเองทิ้งมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านหุ้นแบ่งเป็น

 

  1. 41.7 ล้านหุ้น จากการขายของกองทุนหุ้นระยะยาวของ บลจ. จำนวน 2 แห่ง แห่งละ 32 ล้านหุ้น และ 9.7 ล้านหุ้น
  2. 48.9 ล้านหุ้น จากการขายแบบชอร์ตเซล
  3. 12 ล้านหุ้น จากบุคคลธรรมดาจำนวน 2 ราย

 

ด้วยเหตุจากการเทขายหุ้นหลัก 100 ล้านหุ้นในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้ Demand มีน้อยกว่า Supply ราคาหุ้นของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ในช่วงที่ผ่านมานี้จึงหล่นวูบไปพอสมควร แต่ทางสมโภชน์ก็ออกมายืนยันแล้วว่า ตนและกลุ่มผู้บริหารไม่เคยคิดจะทิ้งบริษัทเลย แต่ก็ไม่เข้าใจสาเหตุการเทขายหุ้นในระยะเวลาอันสั้นของผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องเป็นราวและกลายเป็นข่าวลือใหญ่โตเช่นกัน

 

สมโภชน์กล่าวว่า “เมื่อก่อนตอนที่เรานำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เรามีทุนจดทะเบียนแค่ 373 ล้านบาท แต่เราก็เพิ่มทุนตอนเข้าตลาดมาได้ประมาณ 3 พันล้านบาท และเราก็ทำโครงการโซลาร์เซลล์มาจนถึงโรงงานพลังงานลมในวันนี้ ซึ่งจะเป็นโครงการสุดท้ายที่นำเสนอในหนังสือชี้ชวน และน่าจะทำให้เรามีทรัพย์สินประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาทโดยไม่มีการเพิ่มทุน วันนี้เราอาจจะทำโครงการที่หลายคนบอกว่าใช้เงินทุนจำนวนมาก แต่มันก็ไม่ได้เยอะเหมือนสมัยก่อนที่เราเติบโตมาด้วยซ้ำ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ เรามีสติดี

 

“ด้วย Cash Flow ที่เรามี เราเชื่อว่าเรามีกำลังพอที่จะทำโครงการต่างๆ แน่นอน ซึ่งการทำอะไรใหม่ๆ มันก็มีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าบริษัทไม่พยายามทำอะไรใหม่ๆ เลยมันจะเติบโตได้อย่างไรในอนาคต ธุรกิจพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่อย่างโซลาร์เซลล์หรือพลังงานลม โอกาสในประเทศไทยมันก็จำกัด ผลประกอบการมันก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าบริษัทไม่แสวงหาสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ผมว่าบริษัทนั้นก็ไม่น่าจะมีโอกาสเติบโตที่เป็นนัยสำคัญในอนาคต”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X