พลังงานที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ทั้งไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือหรือเปิดเครื่องปรับอากาศ น้ำมันที่ใช้เติมยวดยานพาหนะ ก๊าซหุงต้มตามครัวเรือน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจาก ‘พลังงานฟอสซิล’ เป็นหลัก
ที่เรียกว่าฟอสซิลเพราะแหล่งกำเนิดมาจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมสะสมกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ อยู่ตลอดเวลานับล้านปีจนแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงในที่สุด ซึ่งเมื่อนำมาใช้แล้วย่อมหมดไป ไม่สามารถสะสมใหม่ได้ทัน อีกทั้งในการนำมาใช้ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมหาศาล
ปัญหาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์หลายคนคงทราบกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะวิกฤต ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และฝั่งผู้ผลิตในหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวจนต้องเร่งปรับแผนดำเนินธุรกิจกันยกใหญ่
แม้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) จะเปิดเผยว่าผลวิจัยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 3 ปีหลังสุดจะคงตัวมาตลอด ไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากจากจำนวน 35.8 กิโลตันในปี 2016 แบบน่าตกใจ (เพิ่มขึ้นราว 0.3% จากปี 2015) แต่เหตุผลการชะลอตัวส่วนหนึ่งก็มาจากการหันไปพึ่งพา ‘พลังงานทดแทน’ นั่นเอง
ในกลุ่มของพลังงานทดแทนนั้น พลังงานที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเป็นอย่างมากรวมถึงประเทศไทยของเราคือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด สามารถหมุนเวียนและเกิดขึ้นใหม่ได้ ครอบคลุมตั้งแต่พลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ ฯลฯ ประโยชน์สำคัญประการต้นๆ นอกจากจะทำให้โลกสะอาดและทำให้พึ่งพาตนเองได้แล้วยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกด้วย
ที่ประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา เราเริ่มได้เห็นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือกรูปแบบนี้มาแล้วสักระยะ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งกันทั่วเมือง ส่วนบ้านเรือนจำนวนไม่น้อยก็หันมาใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์แบบจริงๆ จังๆ
มองกลับมาที่ประเทศไทย ภาครัฐบาลของเราก็เริ่มปรับตัวกันแล้ว โดยประกาศไว้ในแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศว่าประเทศไทยจะเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพิงจากการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิล โดยจะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 25%
ถ้ามองไปยังการใช้พลังงานทดตามครัวเรือนอาจจะยังไม่ค่อยแพร่หลายสักเท่าไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี สภาพแวดล้อม และดินฟ้าอากาศที่ยังควบคุมได้ยากอยู่ ประกอบกับโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายในที่ยังไม่เอื้ออำนวย
ยิ่งพูดถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายิ่งแล้วใหญ่ เพราะราคาของรถ EV (Electric Vehicles) ในท้องตลาดบ้านเรายัง ‘จับต้องได้ยาก’ และไกลเกินเอื้อม ส่วนใหญ่เป็นรถจากยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่ราคาไม่หนีห่างจากรถซูเปอร์คาร์สมรรถนะสูงสักเท่าไร
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคก้อนโตกีดขวางการ Go Green แบบ 100% ของประเทศไทย
วิธีที่จะทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงผู้ใช้หมู่มาก เป็นมิตรกับผู้บริโภค และเข้าถึงตลาดกระแสหลักได้คือต้องทำให้มันมีราคา ‘ถูกลง’ และ ‘ง่ายขึ้น’ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลไทยก็กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโครงการต่างๆ อยู่ ทั้งสนับสนุนการลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อติดสปีดให้พลังงานทดแทนเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน ซึ่งถ้าพูดถึงบริษัทเอกชนที่ลงทุนจริงจังและเดินหน้าพัฒนาธุรกิจในกลุ่มพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม ชื่อของ ‘พลังงานบริสุทธ์’ หรือ Energy Absolute ภายใต้ชื่อย่อว่า EA คือชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึง
ถามว่าทำไมต้องเป็น EA ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะพวกเขาคือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานสัญชาติไทยที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในช่วงระยะหลังๆ หรือตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานี้
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งในปี 2549 หรือประมาณ 12 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล ก่อนที่ในปี 2554 จะหันไปจับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 8 เมกะวัตต์ที่ลพบุรีเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และต่อด้วยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ขนาดแห่งละ 90 เมกะวัตต์ 3 จังหวัดคือ นครสวรรค์ ลำปาง และพิษณุโลก รวม 270 เมกะวัตต์
3 ปีถัดมา EA ยังเดินหน้าขยายอาณาจักรพลังงานบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง พวกเขาจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 8 แห่งในสงขลา นครศรีธรรมราช และชัยภูมิ ภายใต้ชื่อบริษัทย่อยที่หลากหลายแตกต่างกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ยังมีโปรเจกต์ล้ำสมัยอย่างการทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นรายใหญ่ระดับโลก
จนเมื่อปลายปีที่แล้วนี้เอง นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่จากการเล็งเห็นทิศทางการเติบโตของเทคโนโลยีของโลกด้วยการหันไปจับตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการประกาศโปรเจกต์สร้างสถานีชาร์จประจุพลังงานไฟฟ้า
ก่อนที่ทิศทางต่างๆ และแผนการดำเนินงานของบริษัทจะชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อประกาศเปิดตัวโครงการ EA Anywhere ที่มุ่งสร้าง EV Charging Station ให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศไทยเพื่อสร้างระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยให้สมบูรณ์ กล่าวได้ว่าทุกๆ 5 กิโลเมตร ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะสามารถพบสถานี EV Charging ของ EA Anywhere ได้
จากนั้นก็เกิดการขยับตัวครั้งใหญ่ เดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมาในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 พวกเขายังเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทยแบบ 100% ภายใต้แบรนด์ MINE Mobility อย่างน่าประทับใจ
กล่าวได้ว่าตั้งแต่ตัวถังรถ แบตเตอรี่รถยนต์ เครื่องยนต์ ฯลฯ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการออกแบบของทีมงานพลังงานบริสุทธิ์ล้วนๆ ทั้งยังใช้เทคโนโลยีจากบริษัท Amita ในไต้หวัน ที่พวกเขาได้เข้าไปลงทุนเพื่อสร้างแบตเตอรี่ที่ประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย ไม่เกิดปัญหากรณีการลัดวงจร
ตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์พลิกโฉมไปพอสมควร เริ่มต้นจากการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านไบโอดีเซล ซึ่งก็เป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง ขยับไปสู่การเป็นพลังงานทดแทนในกลุ่มพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลม ก่อนดีดตัวเองอีกครั้งไปเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าและรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มตัว โดยมีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมดคือ ‘Mission No Emission’ หรือภารกิจไร้มลพิษสู่โลกใบนี้
เป้าหมายแบบนี้อาจจะดูฟังเป็นเรื่องที่ยากเอาการอยู่เมื่อเทียบกับภาพรวมของบ้านเรือนเราในวันนี้ แต่ที่น่าชื่นชมคือมันจะมีส่วนช่วยให้โครงสร้างขั้นพื้นฐานภายในของประเทศไทยในด้านพลังงานทดแทนดีขึ้นและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังลดมลพิษลงได้อย่างแน่นอน
ที่สำคัญเมื่อเกิดผู้ประกอบการเจ้าที่หนึ่งขึ้นมา ผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ก็จะทยอยเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือก่อให้เกิดการแข่งขัน แล้วราคาของเทคโนโลยีก็จะถูกลง จับต้องได้ง่ายไปโดยปริยาย
เช่นนี้แล้ว อนาคตการ Go Green ของประเทศไทยก็อาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คิด