พลิกหน้าปฏิทินย้อนประเทศไทยกลับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้วในปี 2549 ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ถูกเขย่าครั้งใหญ่และยังคงไว้ซึ่งแรงสั่นสะเทือนจนถึงทุกวันนี้ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยการทำธุรกิจพลังงานทางเลือก ‘ไบโอดีเซล’ เพราะมองเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงาน
2 ปีให้หลัง ‘ซันเทคปาล์มออยล์’ ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อและติดนามสกุลมหาชนกลายเป็น ‘บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute Public Company Limited)’ พร้อมเดินเครื่องต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจพลังงานทางเลือก เริ่มจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (2554) ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานลม (2558)
อาณาจักรพลังงานบริสุทธิ์เริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่นี้ไม่ใช่แค่กำลังการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนจาก ‘เมกะวัตต์’ ไปสู่ ‘กิกะวัตต์’ แต่นับรวมธุรกิจพลังงานทางเลือกที่เร่ิมกระจายตัวไปอยู่ในหลากหลายโครงการและผลิตภัณฑ์
เริ่มตั้งแต่ธุรกิจแบตเตอรี่ (Energy Storage), สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า (EA Anywhere), รถยนต์และเรือพลังงานไฟฟ้า (MINE Mobility & E-Ferry), แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานในอนาคตแบบ P2P และล่าสุดกับธุรกิจรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า (EV Now) และธุรกิจกำจัดขยะ (SWM)
ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา พลังงานบริสุทธิ์พาตัวเองแหวกว่ายฝ่ากระแสคลื่นความเปลี่ยนแปลงและการดิสรัปต์จนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานไทย มีมูลค่า Market Cap มากกว่า 180,905 ล้านบาท รายได้ปี 2561 อยู่ที่ 12,656 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4,975 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุด 20 กันยายน 2562)
จากมนุษย์ที่เคยขลุกอยู่แต่ในโลกของตัวเลข การเงิน และการลงทุน THE STANDARD ชวนคุณมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดการบริหารงานอย่างไร จึงทำให้บริษัทที่เขาปั้นขึ้นมาจากศูนย์เติบโตต่อเนื่องและสรรหานวัตกรรมใหม่ๆ มาเติมพอร์ตธุรกิจได้ตลอดเวลา จนได้รับการขนานนามว่า ‘อีลอน มัสก์ เมืองไทย’
เริ่มพอใจเมื่อไร = เริ่มถอยหลังถอยหลังเมื่อนั้น อ่านเกมล่วงหน้าให้ขาด พลิกแพลงให้เป็น
สิบกว่าปีที่ผ่านมาของการทำธุรกิจพลังงานทางเลือก สมโภชน์ยอมรับว่าตัวเขาเองพอใจภาพรวมของการทำธุรกิจในระดับหนึ่ง แต่ถึงแม้บริษัทจะเติบโตจนเป็นที่ยอมรับและถูกจับตามากแค่ไหน ในมุมหนึ่งผู้บริหารวัย 51 ปีก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ด้วยมองว่าเมื่อไรก็ตามที่เขาเริ่มเกิดความรู้สึก ‘พอใจ’ ในสิ่งที่ทำ นั่นหมายความว่าสัญญาณความล้มเหลวจะเริ่มเดินเข้ามาถามหาเขาแล้ว
“ถามว่าผมพอใจไหม บริษัทโตมาถึงขนาดนี้ก็ต้องตอบว่าพอใจนะ แต่ผมคิดว่าถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มบอกกับตัวเองว่าพอใจในสิ่งที่ทำแบบ 100% เราจะเริ่มถอยหลัง ฉะนั้นจริงๆ มนุษย์ทุกคนมันก็ต้องมีฝันไปเรื่อยๆ เราต้องมีวิสัยทัศน์ของตัวเองที่จะเดินต่อไป”
สมโภชน์ย้อนเล่าความหลังว่าตัวของเขาและ EA ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่เกิด ‘ความเปลี่ยนแปลง’ โดยที่ไม่ได้ตั้งตัวและตั้งใจ ซึ่งเรื่องเดียวกันน้ีหลายคนอาจจะมองเป็นอุปสรรค ขณะที่เขากลับมองมันเป็นโอกาส ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับทักษะการคิดวิเคราะห์และการคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้า
“พื้นฐานผมไม่ใช่คนทะเยอทะยาน แต่ผมชอบไปอยู่ในจุดที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้ตั้งใจ ผมทำงานด้านการเงินมา วันดีคืนดีกลับเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องออกจากธุรกิจ แต่สิ่งที่ติดตัวผมมาด้วยคือวิชาการเงิน การลงทุน และการวิเคราะห์ ซึ่งพลังงานบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้นจากความรู้เรื่องการลงทุนที่ติดตัวผมมา
“ทุกครั้งเวลาที่ผมทำอะไร ผมจะวิเคราะห์ลงรายละเอียดเชิงลึกของมันเสมอ มันช่วยทำให้ตัวผมเองมองเห็น ‘โอกาส’ และสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ได้ล่วงหน้า เหมือนอย่างตอนที่เริ่มทำธุรกิจไบโอดีเซลเพราะปาล์มล้นตลาดและรัฐบาลไทยส่งเสริม แต่ทำไปทำมาถึงจะกำไรได้บ้าง แต่อำนาจต่อรองเรากลับเสียเปรียบเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่ๆ
“ผมจึงเริ่มมองไปข้างหน้า 3-5 ปีว่าธุรกิจของเราจะเป็นอย่างไรต่อ จากนั้นก็ลองไปดูว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนจะมีอะไรอีกบ้าง จนเริ่มไปจับโซลาร์เซลล์ในวันที่หลายคนยังไม่ได้มองเห็นว่ามันดี แล้วก็ต่อยอดไปสู่พลังงานลม เพราะเข้าใจว่าวันหนึ่งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องมีการแข่งขันที่สูง ผลที่ตามมาคือมาร์จินจะลดลง
“ระหว่างที่ทำพลังงานลม ผมก็เริ่มคิดต่อแล้วว่าตลาดที่เราอยู่ใหญ่แค่ไหน มันเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาได้ง่ายหรือเปล่า โอกาสที่เราจะได้ส่วนแบ่งจากศักยภาพการเติบโตหรือการถดถอยของตลาดจะเป็นอย่างไร ถ้ามันเริ่มน้อยลง เราจะต้องมุ่งไปทางไหน
“ผมจะคิดต่อยอดไปแบบนี้เรื่อยๆ แต่ต้องคิดให้เร็ว อย่าให้มันไปถึงจุดวิกฤตแล้วค่อยมานั่งคิด เพราะเราจะเตรียมตัวไม่ทัน สิ่งที่ผมและ EA เป็นและทำกันมาตลอดนั่นคือการวางแผน คิดวิเคราะห์ มองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นความต่อเนื่องของกระบวนการ”
ไม่ใช่แค่มองให้ขาด วิเคราะห์และหาข้อมูลให้เป็น เพราะเคล็ดลับที่เขามักจะใช้อยู่เป็นประจำเมื่อลังเลหรือไม่แน่ใจว่าเทรนด์ต่างๆ จะกลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้เมื่อไร นั่นคือการหมั่นเข้าไปขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมอยู่เสมอ เพราะประโยชน์ที่ได้คือความสามารถในการปะติดปะต่อภาพใหญ่ และทางลัดการฝึกปรือวิชามองเกมให้ขาดทะลุปรุโปร่ง
สมโภชน์ทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่าแม้กระทั่งตอนที่เขากำลังนั่งคุยกับเราอยู่ แม้บริษัทจะมีรายได้เติบโตเฉลี่ยต่อเนื่อง 11% ในช่วง 3 ปีหลังสุด แต่ตัวเขาเองและทีมงานก็เริ่มวางแผนและมองหาโอกาสแล้วว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้า EA จะเป็นอย่างไร ต้องเผชิญหน้าหรือรับมือกับอะไรบ้าง
คิดได้แล้วต้อง ‘กล้า’ ที่จะลงมือทำ ควบคู่ไปกับ ‘กลัว’ ในส่ิงที่ทำเสมอ
กล้าและกลัว คือสองคำที่มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและไม่น่าจะไปด้วยกันได้เลย หากแต่ทั้งสองคำกลับเป็นเหมือนเครื่องมือคู่ใจที่สมโภชน์จะต้องคอยชั่งน้ำหนักตวงสมดุลระหว่างกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในทุกๆ ครั้งที่เขาเกิดไอเดียจะริเริ่มลงมือทำโครงการใหม่ๆ
“ความกล้าที่อยู่ในตัวของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน ถ้าเรารู้จักตัวเองมาก รู้ทักษะของตัวเอง ความกล้ามันก็จะเพิ่มมากขึ้น พอกล้ามากขึ้น ถ้ายังจำวันที่คุณเคยล้มเหลว ผิดพลาด หรือวันที่คุณเคยกลัวมากๆ ได้ สิ่งเหล่านี้มันจะหล่อหลอมและสร้างสมดุลให้กับตัวคุณจนเกิดเป็นทักษะในทุกๆ ครั้งที่ต้องตัดสินใจ
“ตัวผมเองจะบอกกับพนักงานของ EA ทุกคนว่า ‘อย่ากลัว’ ที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ถ้าคิดได้แล้วก็ควรที่จะเริ่มเข้าไปทำมันทันที แต่เมื่อไรก็ตามที่ตัดสินใจจะลงมือทำแล้วให้เริ่มกลัวมันเยอะๆ กลัวว่าจะล้มเหลว คิดทุกวันก่อนที่งานจะเดินว่าถ้าเราทำแล้วเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา จะรับมือกับมันอย่างไร ต้องกลัวให้เยอะๆ ว่าตัวเราเองคิดบวกมากเกินไปหรือเปล่า
“อย่างตอนที่ผมเริ่มพัฒนาโครงการฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ 90 เมกะวัตต์ ผมจะเริ่มคิดแล้วว่าจะมีอะไรบ้างที่ทำให้โครงการของผมล้มเหลว โครงการใหญ่ขนาดนี้ ถ้ามีโจรหรือขโมยเข้ามาในพื้นที่จะทำอย่างไร ถ้าเกิดไฟป่าล่ะ จะรับมือไหวไหม เวลาเริ่มก่อสร้างแล้วต้นทุนจะบานปลายหรือเปล่า
“ผมเป็นคนชอบคิดสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่มันน่าจะเกิดขึ้นในใจ ทุกครั้งเวลาจะทำอะไรก็ตาม จะไม่คิดเข้าข้างตัวเองว่ามันจะต้องได้ ต้องสำเร็จ แต่ผมจะคิดว่าถ้าเกิดมันเจ๊งขึ้นมา ผมรับได้ไหม ถ้ารับได้ก็จะเริ่มเดินหน้าลงมือทำทันที”
แนวคิดเดียวกันนี้ยังถูกนำไปใช้กับธุรกิจสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า EA Anywhere ที่พลังงานบริสุทธิ์วางแผนทำทั้งหมด 1,000 จุดทั่วประเทศในรัศมีทุกๆ 5 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ประเทศไทยยังมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนไม่ถึงหลักพันด้วยซ้ำ เพราะหากอนาคตมันบูมขึ้นมาเมื่อไร โครงสร้างขั้นพื้นฐานที่สมโภชน์วางเอาไว้ก็จะประสบความสำเร็จทันที
กลับกัน หากโปรเจกต์ของเขาล้มเหลวไม่เป็นท่า สมโภชน์ก็ยังเป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนสถานีชาร์จในเมืองเยอะที่สุดอยู่ดี และมันก็จะกลายสภาพเป็นเน็ตเวิร์กที่เขาสามารถนำไปขายทอดตลาดให้กับผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ใดด้วย
เมื่อพูดถึงคำว่ากลัว สมโภชน์ก็ยกตัวอย่างคำหนึ่งในภาษาอังกฤษขึ้นมา นั่นคือ ‘ความโลภและความกลัว’ (Greed and fear) ซึ่งเป็นคำที่เขาเชื่อว่าหากผู้ประกอบการธุรกิจสามารถหาจุดกึ่งกลางระหว่างทั้งสองความรู้สึกดังกล่าวได้ในการจะลงมือทำอะไรก็ตาม ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
นอกจากนี้ในฐานะองค์กรที่สามารถสรรหาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะยกระดับตัวเองเป็น ‘New S-Curve’ ขององค์กรได้อยู่เสมอ เขาได้ฝากคำแนะนำถึงองค์กรใหญ่ๆ ที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านหรือมีแนวคิดจะเริ่มทรานส์ฟอร์มบริษัทว่า ผู้บริหารต้องพร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่ายึดติดกับความสำเร็จของวันวาน
“มันต้องเริ่มจากตัวเรา (ผู้นำองค์กร) ว่าพร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ แล้วเอาความกลัวเข้ามาใส่เยอะๆ กล้าทำสิ่งใหม่ๆ ออกไปลอง อย่ายึดติดกับอดีตที่มันประสบความสำเร็จนานๆ มันไม่ได้ช่วยอะไรคุณเลย อะไรที่คุณทำแล้วควบคุมได้ก็ต้องทำมันให้หมด แต่อะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็ให้กลัวมันเยอะๆ เข้าไว้ หาวิธีป้องกันแล้วเดินหน้าต่อทุกวัน อย่ารอจนเกิดวิกฤตแล้วค่อยลงมือทำ เพราะมันจะไม่ทัน”
วัฒนธรรมองค์กรแบบ EA ‘อยากสร้างนวัตกรรมต้องผลักดันพนักงานไปให้ถึงขีดจำกัด’
นอกเหนือจากแนวคิดส่วนตัวของสมโภชน์ที่เชื่อในเรื่องการคิดวิเคราะห์ การมองหาโอกาส และการสร้างสมดุลระหว่างความกล้ากับความกลัวแล้ว วัฒนธรรมองค์กรของ EA ที่พนักงานทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องสัมผัสกันในทุกๆ วัน นั่นคือการถูกผลักดันให้ไปถึงขีดจำกัดและศักยภาพของตัวเอง เพราะผลลัพธ์ที่ได้คือการนำพาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ มาสู่องค์กรได้อยู่เสมอ
“มนุษย์จะมีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือหากคุณไม่ถูกผลักดันจนถึงขีดจำกัดของตัวเอง คุณก็จะไม่พัฒนา น้อยคนนะที่จะพัฒนา คุณเรียนหนังสือ ถ้าไม่มีการสอบ คุณจะขยันไหม มันเป็นธรรมชาติ ฉะนั้นสิ่งแรกก็คือต้องผลักให้เขาถึงขีดจำกัดของตัวเอง
“แล้วต้องให้โอกาสเขาได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ลองไกด์เขา แนะนำแนวทางเขาบ้าง หรือสร้างแรงกดดันบ้างในบางโอกาส แล้วคนที่ผ่านตรงนี้ไปได้ก็จะมีสัญชาตญาณและมีกึ๋นในการจัดการและรับมือกับส่ิงต่างๆ”
ทั้งนี้สมโภชน์เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่องค์กรควรจะต้องลงมือทำก่อนผลักดันพนักงานให้ก้าวข้ามขีดจำกัดคือการที่ตัว ‘ผู้บริหาร’ เองก็จะต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังจะลงมือทำ แม้จะยังไม่เห็นภาพความสำเร็จที่ชัดเจน เพราะทั้งหมดจะถูกหล่อหลอมให้องค์กรสามารถสร้างวัฒนธรรมดังกล่าวขึ้นมาได้ ทั้งยังเป็นการดึงดูดแคนดิเดตพนักงานที่มีศักยภาพให้มาอยู่กับองค์กรได้อีกทาง
“คุณต้องกล้าเดินเข้าไปลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ” สมโภชน์ตอบเราเมื่อถูกถามว่าเขาสร้างสภาพแวดล้อมการพัฒนานวัตกรรมแบบต่อเนื่องให้เกิดกับองค์กรได้อย่างไร “บางบริษัท วัฒนธรรมผู้บริหารคือถ้าเขาไม่เห็นภาพก็จะไม่เอาเลย ไม่ทำ แต่ไม่ใช่กับที่นี่ ถ้าคอนเซปต์มันใช่ สมมติฐานเรามองว่ามันน่าจะไปได้ เราก็จะลองทำ และไม่ปิดโอกาสตัวเอง”
พารถยนต์ไฟฟ้าบุกตลาดเชิงพาณิชย์ เจาะกลุ่มแท็กซี่และองค์กร กรณีศึกษาเมื่อปลาเล็ก EA ในน่านน้ำสีแดงคิดจะทำการใหญ่
ไม่เกินปี 2562 นี้ เราน่าจะได้เห็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ MINE Mobility บริษัทในเครือพลังงานบริสุทธิ์วิ่งบนท้องถนน ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะแรกพวกมันจะมาในรูปโฉมของ ‘รถแท็กซี่’ เพราะนี่คือกลยุทธ์และหมากอันแยบยลที่สมโภชน์ได้วางไว้ให้กับธุรกิจยานยนต์ EV ของเขา
“ผมคงเริ่มจากกลุ่ม Niche Market ก่อน จับกลุ่มเชิงพาณิชย์ เหมือนที่ผมเคยบอกไว้ว่าจะมุ่งไปทางแท็กซี่ตอนที่เริ่มคิดจะทำรถยนต์ใหม่ๆ เพราะอย่างที่ใครๆ ทราบกันว่ามูลค่าการลงทุนมันสูง (ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า) ถึงคุณจะบอกว่า EA เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่เราก็ยังเป็นแค่ ‘ไวรัส’ เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Toyota, BMW หรือ Mercedes-Benz”
หนึ่งใน Trigger Point สำคัญที่ทำให้สมโภชน์ตัดสินใจได้ว่าพร้อมจะเริ่มลุยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการประเดิมเล่นในสมรภูมิรถแท็กซี่และต้องลงมือทำเดี๋ยวนั้นทันที เป็นเพราะเขาเห็นแล้วว่าในประเทศไทยมีซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมหาศาล แต่ยอดขายรถยนต์ของไทยช่วงที่ผ่านมากลับไม่ได้โตแบบหวือหวา
ประกอบกับผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็ไม่ได้ถูกว่าจ้างให้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อแบรนด์นั้นๆ แบบเหมารวม 100% ทั้งคัน เนื่องจากค่ายรถยนต์ไม่ต้องการพึ่งพาซัพพลายเออร์เพียงรายเดียว (ด้วยเหตุผลด้านอำนาจในการต่อรอง ฯลฯ) ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตแต่ละรายจึงเหลือกำลังการผลิตอยู่มากพอสมควร
“ถ้าเราเข้าไปตอนนี้ เขาก็น่าจะต้อนรับเรา แต่ถ้าเข้าไปตอนที่ธุรกิจเขากำลังดีๆ (ยอดขายรถอู้ฟู่) เราคงถูกมองว่าบริษัทของเราเป็นใคร ไปยุ่งอะไรกับเขา เราเพิ่งเริ่มธุรกิจได้ไม่นาน กำลังคนเราก็มีเท่านี้ การจะไปสู่กับแบรนด์ที่ผลิตรถยนต์เพื่อใช้ในครัวเรือนในช่วงแรกอาจจะแข่งได้ยาก แต่บังเอิญว่าสำหรับ ‘รถแท็กซี่ในไทย’ ถ้ามองจากมุมผู้ใช้งานแล้ว ผมเชื่อว่าหากเขาเจออะไรที่ดีกว่าก็พร้อมจะเปลี่ยน
“ผมมองและวิเคราะห์ดีแล้วว่าตลาดเชิงพาณิชย์น่าจะทำให้ผมมีจุดยืน และจนถึงตอนนี้ก็เริ่มมีการพูดคุยกันแล้ว (กับผู้ประกอบการสหกรณ์แท็กซี่) และเขาก็ต้อนรับเราแน่นอน เพราะรถยนต์ไฟฟ้าของผมจะช่วยให้เถ้าแก่ผู้ประกอบการเหลือเงินเยอะขึ้น คนขับรถประหยัดค่าเชื้อเพลิง ผู้ใช้บริการทั่วไปที่ได้ขึ้นรถก็จะได้ลองนั่งรถยนต์ไฟฟ้า มันจึงเป็นกรณีที่สมบูรณ์แบบมากๆ”
ขณะที่แผนการล่าสุดหลังยื่นจดทะเบียนบริษัทใหม่กับตลาดหลักทรัพย์ ‘EV Now’ เพื่อประกอบธุรกิจรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจบริการขนส่งสาธารณะ ก็น่าจะพอตอบคำถามได้เบื้องต้นว่าสมโภชน์มองเกมการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยไว้อย่างไร จะพา EA เดินไปข้างหน้าด้วยกลยุทธ์ไหน
คงเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าหมากที่สมโภชน์เดินในวันนี้และจิ๊กซอว์ธุรกิจพลังงานสะอาดที่เขาต่อเอาไว้แยบคายเพียงใด เพราะศึกนี้ต้องตามดูกันยาวๆ แต่อย่างน้อยที่สุดเราเชื่อว่าวิธีคิดหรือแนวทางการทำงานที่ถูกส่งต่อจากประสบการณ์ตลอดสิบกว่าปีที่ชายผู้นี้สั่งสมจากพลังงานบริสุทธิ์น่าจะเป็นประโยชน์และให้อะไรบางอย่างกับใครหลายคนได้พอสมควร
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์