×

สิ้นสุด Vision 2020 ‘ไทยเบฟ’ ส่งไม้ต่อให้ ‘PASSION 2025’ กับเป้าหมาย ‘ผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียน’

02.10.2020
  • LOADING...
ไทยเบฟ

ปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพราะถือเป็นปีที่สิ้นสุดแผนธุรกิจ 6 ปีภายใต้ Vision 2020 ซึ่ง ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ ซึ่งรั้งตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้ระบุว่า “ยอดขายและกำไรของเราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยเบฟเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน”

 

แม้การระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะทำให้ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2563 รายได้ลดลง 14% และกำไรลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ที่สุดแล้วเมื่อผ่านพ้น Vision 2020 ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 2557-2563 ผลที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

 

“ไทยเบฟคงความเป็นผู้นำในธุรกิจสุรา ในธุรกิจเบียร์ เมื่อรวมยอดขายของเบียร์ในประเทศไทยและในประเทศเวียดนาม ถือได้ว่าเรามีปริมาณยอดขายเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน เราเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ ชาเขียวโออิชิ น้ำดื่มคริสตัล และขับเคลื่อนธุรกิจอาหาร จนทำให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย”

 

ต่อจากนี้ ‘ไทยเบฟ’ จะขับเคลื่อนภายใต้ ‘PASSION 2025’ ซึ่ง “PASSION ที่ว่านี้มีความหมายว่า มุ่งมั่นสู่ชัยชนะ” ฐาปน กล่าว โดยวางกลยุทธ์หลักๆ ไว้ 3 ข้อ ที่มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ไทยเบฟเป็น ‘ผู้นำทางด้านเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน’ ได้แก่ 

 

  • Build (สรรสร้างความสามารถ) คือสรรสร้างความสามารถ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยต่อยอดจากพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่ 
  • Strengthen (เสริมแกร่งความเป็นหนึ่ง) คือเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก เพื่อรักษาและก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน 
  • Unlock (สุดพลังศักยภาพไทยเบฟ) คือนำศักยภาพของไทยเบฟที่มีอยู่มาก่อให้เกิดพลังสูงสุด 

 

สำหรับผลงานในช่วงปีที่ผ่านมาของแต่ละธุรกิจนั้น ในส่วนของกลุ่มธุรกิจสุรา แม้จะเจอความท้าทายจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ผลงานก็เป็นไปตามที่วางไว้ โดยหากดูจากผลวิจัยการตลาดในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสมสามารถเติบโตกว่า 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในส่วนของ เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์ เติบโต 37% นอกไปจากนั้น เมอริเดียนบรั่นดี ก็เติบโตได้ถึง 50% และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 8%

 

กลุ่มธุรกิจเบียร์ ในไทยจะเน้นเรื่องการขยายฐานลูกค้า และสร้างคุณค่าของตราสินค้า ในต่างประเทศนั้น เบียร์ช้างได้เปิดตัวการผลิตภายนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ยังสามารถทำผลงานได้ดีในปีแรกของการดำเนินงาน โดยสามารถเจาะเข้าไปในจังหวัดหลักที่สำคัญๆ ของเมียนมา ส่วน ‘ซาเบโก’ ธุรกิจในเวียดนามที่ใช้เงินซื้อมา 1.56 แสนล้านบาท แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยอดขายเริ่มฟื้นตัวแล้ว 

 

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ในประเทศไทย หลังจากที่มีผลการดำเนินการขาดทุนมาเมื่อสองสามปีที่แล้ว ผลการดำเนินการ 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ถือว่าดีเพราะธุรกิจพลิกกลับมามีกำไรแล้ว โดย 9 เดือนปี 2562 มีรายได้ 12,432 ล้านบาท กำไร 425 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนปี 2563 แม้รายได้ 12,488 ล้านบาทจะเติบโตเล็กน้อย 0.5% แต่กำไรกลับหวือหวาเพราะเติบโตมากถึง 301.6% เป็น 1,707 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านการเงิน และการสร้างความยั่งยืนของผลกำไร

 

สุดท้ายธุรกิจอาหารปัจจุบันมีทั้งสิ้น 649 สาขา ภายใต้ 24 แบรนด์ แบ่งเป็นภายใต้ เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย 339 สาขา, ฟู้ด ออฟ เอเชีย 40 สาขา และโออิชิ 270 สาขา โดยรายได้หลักของกลุ่มธุรกิจอาหารมาจากแบรนด์โออิชิและ KFC ทิศทางต่อไปของธุรกิจอาหาร จะขยายสาขาในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเติบโตที่มุ่งเน้นการขยายช่องทางการให้บริการหลายรูปแบบ นอกเหนือจากรูปแบบของการนั่งทานที่ร้าน และการนำเอาดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสามารถสร้างประสบการณ์ เป็นต้น

 

ด้านทิศทางลงทุนในปีงบประมาณ 2564 นั้น แม้จะยังใช้เงิน ‘หลักพันล้านบาท’ เหมือนเช่นทุกปี แต่จะมีการลดแผนลงทุนปกติประจำปี โดยยืดการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน ฐาปน ยกตัวอย่างว่า ปี 2563 วางงบลงทุน 5,000 ล้านบาท แต่ที่สุดแล้วก็ใช้ไปเพียง 3,500 ล้านบาทเท่านั้น ในปีนี้สิ่งที่จะลงทุนก็เช่น การขยายกำลังผลิต Phraya Elements โดยเฟสแรกจะใช้เงิน 500 ล้านบาท และเฟส 2 อีกไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจอาหารจะใช้เงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปกับการขยายสาขาใหม่ เป็นต้น 

 

สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือน (กันยายน 2562 – มิถุนายน 2563) ‘ไทยเบฟ’ มีรายได้ 190,099 ล้านบาท ลดลง 7.4%

กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย  32,851 ล้านบาท เมื่อแยกลงมาแต่ละธุรกิจพบว่า

 

  • ธุรกิจสุรา มีรายได้จากการขาย 88,455 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.5% ในขณะที่ปริมาณการขายสุรารวมลดลง 2.5%
  • ธุรกิจเบียร์ มีรายได้ 79,317 ล้านบาท ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการขายทั้งหมดลดลง 15.5% เป็น 1,741.6 ล้านลิตร สาเหตุที่ลดลงเยอะเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในไทยและเวียดนาม โดย ‘ซาเบโก’ ในเวียดนามได้รับผลกระทบมากที่สุด 
  • ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเป็น 12,488 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณการขายลดลง 3.8% ขณะเดียวกันยังทำกำไรได้ดีเพราะมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างระมัดระวัง ทั้งการทำโฆษณาและโปรโมชัน
  • ธุรกิจอาหาร มีรายได้จากการขายจำนวน 9,935 ล้านบาท ลดลง 14.7% เนื่องจากต้องปิดร้านในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising