×

แสงสว่างปลายอุโมงค์คือแสงแห่งหัวรถจักร

13.05.2021
  • LOADING...
แสงสว่างปลายอุโมงค์คือแสงแห่งหัวรถจักร

ในบทความที่ลงในเว็บไซต์ THE STANDARD เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (บทความ: หรือแสงสว่างปลายอุโมงค์จะมาจากหัวรถจักร) เราได้เตือนผู้อ่านและตัวเราเองว่า อย่าให้ความหวังกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากปัจจัยเชิงบวกทั้งหลายจนเกินไป เช่น การอนุมัติของวัคซีนที่จะมาป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ท่านใหม่ที่มาพร้อมกับนโยบายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจ

 

ในปัจจุบันหนึ่งในความเสี่ยงที่เราเตือนไว้เป็นจริงแล้ว หลังจากมีการระบาดรอบที่ 3 ณ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่เป็นการระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากอังกฤษ ผู้ติดเชื้อใหม่ก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยประมาณวันละเกือบ 2 พันราย และมีผู้เสียชีวิตในระดับสองหลักต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราที่ประเทศไทยไม่เคยประสบมาก่อน และทำให้ทางการต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับการระบาดรอบแรกอีกครั้ง

 

ภาพเหล่านี้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทำให้ทาง SCBS ต้องปรับสมมติฐานและการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ จากที่เคยมองไว้ว่าจะขยายตัวประมาณ 3.1% เหลือ 2.0% โดยมีการปรับ 4 สมมติฐานหลัก ดังนี้

 

  1. การฉีดวัคซีนจนถึงระดับ 70% ของจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 
  2. การเบิกจ่ายมาตรการภาครัฐ สามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมในวงเงิน 2.25 แสนล้านบาทตามมาตรการเพิ่มเติมของรัฐที่ประกาศในที่ประชุม ครม. วันที่ 5 พฤษภาคม 
  3. เราปรับลดการคาดการณ์นักท่องเที่ยวเหลือ 5 แสนราย โดยอยู่บนสมมติฐานว่า Phuket Sandbox สามารถทำได้ตามแผน ขณะที่วัคซีนและ Booster สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสสายพันธุ์อินเดียได้ในระดับหนึ่ง
  4. มูลค่าการส่งออกสินค้าในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10% ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น

 

ในประเด็นวัคซีนนั้น จากการประกาศแผนการผลิตและการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลและภาคเอกชนนั้น ณ ปัจจุบัน (11 พฤษภาคม) เราคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีการนำเข้าและผลิตวัคซีนได้ประมาณ 80 ล้านโดสในปีนี้ ใกล้เคียงกับที่รัฐบาลประกาศที่ 100 ล้านโดส โดยกว่า 77% เป็นวัคซีน AstraZeneca 13% เป็น Pfizer 4% เป็น Sinovac และอื่นๆ อีกประมาณ 6% ในขณะที่การฉีดวัคซีนนั้นจะเร่งขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 5.4 หมื่นโดสต่อวันในเดือนพฤษภาคม เป็น 3 แสนโดสต่อวันในช่วงกลางปี อันเป็นช่วงที่วัคซีน AstraZeneca เริ่มทำการผลิตในประเทศไทยแล้ว 

 

ด้วยอัตราดังกล่าว จะทำให้กว่า 70% ของจำนวนประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ขณะที่ประมาณ 30-40% ของประชากรได้รับวัคซีน 2 เข็ม ภาพดังกล่าวจึงทำให้การเปิดเมือง หรือการที่ประชากรไทยสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยเสรียังไม่สามารถทำได้จนถึงไตรมาสที่ 4 (รูปที่ 1 และ 2)

 

ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ เราปรับประมาณการลงจาก 5 ล้านคน เหลือประมาณ 5 แสนคน ซึ่งเป็นผลทั้งจากการระบาดรอบใหม่ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ระบาดง่ายขึ้น และมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราตั้งสมมติฐานว่า มาตรการ Phuket Sandbox จะสามารถดำเนินการได้ตามคาด โดยนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าในภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัวในเดือนกรกฎาคม ขณะที่พื้นที่นำร่องอื่นๆ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, สมุย, พัทยา และเชียงใหม่ สามารถเดินทางเข้าได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 (รูปที่ 3)

 

ทั้งนี้การประมาณการดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานว่า การฉีดวัคซีนและ Booster ยังสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์อินเดียได้ ทำให้นักท่องเที่ยวจากซีกโลกตะวันตก ไม่กังวลกับการเดินทางเข้าทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้เหลือประมาณ 4.25 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท

 

ในส่วนของการเบิกจ่ายภาครัฐ เรามองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่อนุมัติในหลักการในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 พฤษภาคม อยู่ในกรอบวงเงินประมาณ 2.25 แสนล้านบาท จะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจได้ 4.7 แสนล้านบาท หรือ 0.3% ของ GDP ตามที่รัฐบาลคาด โดยกว่า 2 ใน 3 ของมาตรการจะเป็นมาตรการที่เริ่มมีผล ณ เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ได้แก่ การเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเพิ่มเงินเพื่อช่วยบุคคลที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือพิเศษ มาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 และ มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งทั้ง 4 มาตรการ คิดเป็น 62% ของวงเงินรวม และมีผลต่อการจับจ่ายในครึ่งปีหลังเป็นหลัก ขณะที่การต่ออายุมาตรการเราชนะ และ ม33 เรารักกัน จะเป็นการช่วยประคับประคองการบริโภคในช่วงไตรมาส 2 (รูปที่ 4)

 

ในส่วนของภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่อาจยังเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้บ้างในปีนี้ ได้แก่ ภาคการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้เราปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยขึ้นเป็น 10% จาก 6.2% ที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อน (รูปที่ 5 และตารางที่ 1) 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าความเสี่ยงที่เรากังวล ได้แก่ การที่ไวรัสกลายพันธุ์กลับมาระบาดรอบใหม่ กระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขของไทยได้เกิดขึ้นแล้ว และความเสี่ยงจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนกว่าประชากรไทยได้รับวัคซีนที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ ซึ่งในระหว่างทาง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้นจึงจะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยรอดพ้นจากหายนะได้

 

แสง ณ ปลายอุโมงค์คือแสงแห่งหัวจักรรถไฟที่กำลังจะวิ่งเข้ามา มาตรการรัฐ การส่งออก และการเร่งฉีดวัคซีน จะเป็น 3 ความหวังที่จะช่วยฉุดไทยให้รอดพ้นจากหัวรถจักรได้

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising