×

แบงก์ชาติหนุนผู้ประกอบการไทยใช้สกุลเงินท้องถิ่นค้าขาย ลดความผันผวนค่าเงิน เล็งผ่อนเกณฑ์ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเพิ่มในไตรมาส 3

27.06.2023
  • LOADING...
สกุลเงินท้องถิ่น

ธปท. มองเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน หนุนผู้ประกอบการใช้สกุลเงินท้องถิ่นค้าขายภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น พร้อมเตรียมผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศเพิ่มจาก 5 หมื่นดอลลาร์เป็น 2 แสนดอลลาร์ และขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยจาก 5 ล้านดอลลาร์เป็น 10 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ช่วยลดผลกระทบ

 

อลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยเฉพาะในประเทศ โดยตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศหลักเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ, แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาคการท่องเที่ยวและสถานการณ์ทางการเมืองของไทย เป็นปัจจัยเสริมทำให้เงินบาทมีความผันผวนเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลา

 

“นับจากต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลงมาราว 1.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูไม่มาก แต่ระหว่างทางเราเห็นความผันผวนพอสมควร มีบางช่วงที่ลงไปแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะขึ้นมาที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค เงินบาทจะมีค่าความผันผวนที่ 6.5% เป็นรองแค่เงินวอนของเกาหลีใต้และเงินเยนของญี่ปุ่น” อลิศรากล่าว

 

อลิศรากล่าวอีกว่า แม้ความผันผวนของค่าเงินบาทในปัจจุบันปรับลดลงแล้วจากช่วงต้นปี แต่ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและจีน รวมถึงปัจจัยภายในประเทศอย่างความไม่แน่นอนทางการเมืองและธุรกรรมการซื้อ-ขายทองคำ และแนวโน้มการออกไปลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทย ที่อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนขึ้นในระยะต่อไป

 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนสูงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX Ecosystem) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินได้อย่างยั่งยืน โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความสะดวก และลดต้นทุนการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของผู้เล่นในตลาด ผ่านแผนงานต่างๆ ที่ดำเนินการแล้ว เช่น ผ่อนเกณฑ์ให้ทำธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี โอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น

 

โดยในปี 2566 นี้ ธปท. มีแผนงานเกี่ยวกับ New FX Ecosystem ที่จะทำเพิ่มเติม ดังนี้ 

 

  1. สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคมีสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น ขณะที่แนวโน้มทิศทางของเงินสกุลท้องถิ่นและเงินบาทมักเคลื่อนไหวในทางเดียวกัน ธปท. จึงสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เช่น หยวน, เยน, ริงกิตมาเลเซีย และรูเปียห์อินโดนีเซีย ให้เป็นอีกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินดอลลาร์ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยแผนงานในระยะถัดไปของ ธปท. ครอบคลุมถึงการร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคเพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม การร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ

 

  1. ผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศให้คล่องตัวขึ้น ได้แก่ 2.1 ขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่า จาก 5 หมื่นดอลลาร์เป็น 2 แสนดอลลาร์, 2.2 อนุญาตให้บริษัทไทยโอนเงินไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่อง (Notional Pooling) และ 2.3 ขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยไม่ผ่านตัวแทน จาก 5 ล้านดอลลาร์เป็น 10 ล้านดอลลาร์ 

 

  1. เพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ 3.1 ขยายขอบเขตโครงการ Non-Resident Qualified Company (NRQC) ให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจชำระเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมโครงการได้ โดยโครงการ NRQC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยได้คล่องตัวขึ้น อีกทั้งปรับขั้นตอนการสมัคร NRQC ให้สะดวกขึ้น และ 3.2 ให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหลักทรัพย์ไทยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินไทยได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องทำธุรกรรมผ่านตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศเท่านั้น 

 

“เกณฑ์ใหม่เหล่านี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 3 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งนี้ การผลักดัน FX Ecosystem เป็นนโยบายระยะยาวที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบจากค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก” อลิศรากล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising