Ajay Banga ประธานคนใหม่ของธนาคารโลก หรือ World Bank แสดงจุดยืนสนับสนุนบทบาทของธนาคารโลกในการขับเคลื่อนผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่ Banga ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ CNN เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 มิถุนายน) โดยเจ้าตัวชี้ว่าบทบาทของธนาคารโลกขณะนี้คือการให้ข้อมูลเพื่อให้ภาคเอกชนรับรู้ความเสี่ยง ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อขยายขีดความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารโลกและปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ
Banga กล่าวว่า แม้ปัจจุบันการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนจะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว แต่มันยังไม่เพียงพอ เพราะตัวเลขมูลค่าที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่ามีการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมและทั่วถึงน่าจะต้องสูงถึงระดับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ Banga ซึ่งเป็นอดีตซีอีโอของ Mastercard ยังกล่าวอีกว่า เงินทุนของภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเงินทุนจากรัฐบาล องค์กรการกุศล ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีอื่นๆ (MDBs) ไม่เพียงพอต่อการช่วยให้ประเทศยากจนปรับตัวเข้ากับและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนย้ำว่าหนทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้าคือการหาทางให้ภาคเอกชนเชื่อว่า การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ Banga ระบุว่า สิ่งที่ World Bank ต้องเร่งลงมือทำในเวลานี้คือการเร่งหาวิธีที่สอดคล้องกับบริบทของระบบการเงินการธนาคารในแต่ละพื้นที่ ในการคิดแนวทางที่แตกต่างออกไป เพื่อรับความเสี่ยงที่พวกเขาไม่สามารถรับได้ เนื่องจากบริษัทเอกชนทั้งหลายต้องส่งมอบผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นและไม่สามารถรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ แต่ธนาคารสามารถช่วยได้ด้วยการให้ข้อมูลสำคัญ เพื่อให้ภาคเอกชนรับความเสี่ยงอย่างรอบรู้ พร้อมชี้ว่าปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลในหลายกรณี เนื่องจากการปรับปรุงการจัดเก็บและระยะเวลาในการผลิต
ราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่จำเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหาใหม่เพื่อหลีกเลี่ยง ‘รูปแบบการเติบโตที่ปล่อยมลพิษมาก’ เพื่อให้สามารถลดควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2050
ผู้นำคนใหม่ของธนาคารโลกยังให้คำมั่นว่าจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับบรรดาธนาคารและองค์กรเพื่อการพัฒนาอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุความต้องการหลายอย่างในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
อ้างอิง: