×

เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย 4 ร่าง จาก 4 ผู้เสนอ หวังประเทศไทยยกระดับคุ้มครองสิทธิสู่ระดับสากล

โดย THE STANDARD TEAM
15.09.2021
  • LOADING...

วันนี้ (15 กันยายน) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าสู่วาระการพิจารณาเรื่องด่วนที่ 3 คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคล สูญหาย พ.ศ. ….

 

โดยก่อนการพิจารณา จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอใช้ข้อบังคับต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า หากวันนี้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีสมาชิกต้องการอภิปรายจำนวนมาก และมาพิจารณาเอาช่วงเย็น ขอให้มีการประชุมสภาต่อในวันพรุ่งนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนดังกล่าว โดยชวนเห็นชอบด้วย และขณะเดียวกันมีร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันถูกเสนอเข้าสู่สภาอีก 3 ร่าง รวม 4 ร่าง จึงให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกัน จากนั้นได้เปิดให้ผู้เสนอร่างได้นำเสนอหลักการของกฎหมาย

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำเสนอหลักการและเหตุผลในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ต่อที่ประชุมว่า การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย จึงสมควรที่จะกำหนดความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ให้สอดรับกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ

 

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ฉบับดังกล่าว ยังได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ โดยร่าง พ.ร.บ. จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ. นี้

 

ด้าน กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ฉบับของพรรคประชาชาติว่า การทรมานเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์ ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจยกเว้นให้กระทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใดๆ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลจากการถูกค้นตัว จับคุมขัง หรือกระทำใดที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุผลที่กฎหมายกำหนดจะกระทำมิได้ จึงจำเป็นจะต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิดเฉพาะ และมาตรการป้องกันปราบปรามเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นจะเป็นการยกระดับการคุ้มครองหลักสิทธิมนุษยชนของไทยให้สอดคล้องกับระดับสากล 

 

กมลศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ตนในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ รู้สึกดีใจที่สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ก่อนปิดสมัยประชุม ซึ่งหากร่างกฏหมายดังกล่าวไม่สามารถพิจารณาได้ในสมัยประชุมนี้ มองว่าการเมืองในปัจจุบันหากมีการยุบสภา กฎหมายดังกล่าวก็จะตกไป ตนในฐานะ ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ยินเสียงสะท้อนเข้ามาอย่างหนาหูว่าเป็นดินแดนแห่งการซ้อมทรมานและบังคับใช้กฎหมายพิเศษมาตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา

 

“การซ้อมทรมานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าได้เกิดวิวัฒนาการซ้อมทรมานมาโดยตลอด ซึ่งต้องขอบคุณผู้กล้าหาญที่กล้านำคลิปวิดีโอการซ้อมทรมานที่จังหวัดนครสวรรค์มาเปิดเผย ทำให้รัฐบาลต้องรีบเร่งเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา โดยวันนี้การซ้อมทรมานไม่ใช่เพียงการคลุมถุงดำเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณี ซึ่งการคลุมถุงดำวันนี้ไม่ใช่ถุงดำแห้งแบบปกติแล้ว ถุงดำเปียกก็มี หรือการถอดเสื้อผ้าในห้องเย็น ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ซ้อมทรมานและเกิดขึ้นจริงในสังคมนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเกราะป้องกันสิทธิมนุษยชน และทำให้หลักนิติธรรมเกิดรูปธรรมและเป็นจริงในทางปฏิบัติได้” กมลศักดิ์กล่าว

 

ด้าน สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเสนอร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยกล่าวว่า การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายถือเป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวกับการทรมานหรือสูญหาย จะเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ หรือบังคับให้เป็นพยาน หรือกรณีอุ้มหายผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง โดยการทำให้หายตัวไป สำหรับประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับบุคคลจำนวนมากนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ซึ่งเป็นผลของการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะสมัยรัฐเผด็จการ เช่น กรณีการสังหารอดีตรัฐมนตรี 4 คน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งระหว่างการย้ายที่คุมขัง อดีตรัฐมนตรีได้ถูกยิงจากเจ้าหน้าของรัฐที่บริเวณสี่แยกบางเขน โดยอ้างว่าเป็นการแย่งชิงตัวจากโจรในครั้งนั้น ภายหลังจากการพิจารณาของศาล เป็นที่ชี้ชัดแล้วว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม่กระทั่งกรณีของ เตียง ศิริขันธ์ อดีตรัฐมนตรี 3 สมัย ที่ถูกอุ้มฆ่าบริเวณป่าจังหวัดกาญจนบุรี หรือกรณีของ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่ได้หายไปพร้อมกับลูกชาย และอีกหลายกรณีมากมาย เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความสม่ำเสมอและมีหลายมาตรฐาน และยังขาดกลไกความรับผิดชอบและกฎหมายโดยตรง ไม่มีกลไกการตรวจสอบและการควบคุมการกระทำความผิดพิเศษในการรับมือกับความซับซ้อนของคดี จึงจำเป็นต้องพิจารณากฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน

 

ส่วน อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. จังหวัดยะลา พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนำเสนอหลักการและเหตุผลในร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การกระทำให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องถูกลงโทษ การกำหนดให้มีกลไกป้องกันตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นญาติ ทนายความ หรือผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอเปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้ ให้ศาลสามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และกำหนดวิธีเยียวยาความเสียหายหลังจากการไต่สวน หากมีมูลเหตุในการกระทำความผิดจริงสามารถกำหนดการเยียวยาโดยคณะกรรมการที่บัญญัติในกฎหมายได้ รวมถึงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วนได้ทั้งร่างกายและจิตใจ 

 

ขณะเดียวกัน ในร่างกฎหมายได้บัญญัติให้คดีความที่เกี่ยวกับการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายไม่มีอายุความ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องสืบสวนจนกว่าจะรู้ชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหาย และสอบสวนคดีสูญหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบตัวหรือเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายด้วย

 

“รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อร้องเรียนและกำหนดนโยบาย รวมถึงกรอบในการเยียวยาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทรมานและสูญหาย ซึ่งสัดส่วนคณะกรรมการต้องประกอบไปด้วย ผู้แทนของรัฐ อดีตผู้เสียหาย ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิสูจน์หลักฐาน นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบ” อาดิลันกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising