‘แลกเงินเดือนให้กลายเป็นชีวิตส่วนตัว’ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์การทำงานที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์การลาออกครั้งใหญ่ ที่ผู้คนตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อเอาเวลาไปใช้พักผ่อนและทำสิ่งที่ชอบ แม้ว่าการลดชั่วโมงการทำงานจะหมายถึงค่าตอบแทนที่ได้น้อยลง และต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดมากขึ้นก็ตาม
ภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ ทำให้หลายคนไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากทำงานหนักตัวเป็นเกลียวและมีงานเสริมจนไม่ได้มีเวลาให้ตัวเอง แต่บางคนที่โชคดีเพราะมีงานที่มั่นคงและค่าตอบแทนที่น่าพอใจอยู่แล้วก็ตัดสินใจแลกค่าตอบแทนให้กลายเป็นเวลาที่เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เพราะ ‘งานในฝัน’ ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับชาว Gen Z อีกต่อไป อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ และ ‘บอส’ ทุกคนควรทำความเข้าใจ
- นี่คือ ‘การแก้แค้น’ รู้จัก ‘การอดหลับอดนอนเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดที่เวลาว่างไม่พอ’ นิสัยที่กำลังทำร้ายสุขภาพ
- หนุ่มสาวชาวจีนปล่อยวาง ‘เรื่องความสำเร็จ’ ไม่ต้องการงานรายได้สูง หันมาทำงานก๊อกแก๊กเท่าที่หาได้เลี้ยงตัวเองไปวันๆ โดยไม่คิดอะไร
เทรนด์นี้เป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัวในโลกที่โหดร้าย ทั้งค่าที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นทุกปี อัตราเงินเฟ้อที่แซงหน้าเงินเดือนไปไกล จะสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างไรไม่ให้เหนื่อยจนท้อ พวกเขาเลยเลือกที่จะถอยกลับไปใช้ชีวิตอย่างประหยัด ให้เวลาชีวิตกับตัวเองมากขึ้น ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่ารีบจนเครียดและไม่รู้ว่าจะได้มีความสุขในตอนไหน
จากการสำรวจล่าสุดของ Murmuration ที่องค์กรด้านการศึกษาและมูลนิธิ Walton Family Foundation พบว่ากว่า 61% ของคนอายุ 15-25 ปี บอกว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว
ในขณะที่อีก 42% กล่าวว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการหาเงินให้เยอะที่สุดมากกว่า และยังมีการสำรวจของ FlexJobs พบว่ากว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ เลือกที่จะรับค่าตอบแทนที่น้อยลงเพื่อสมดุลชีวิตที่มากขึ้น
Jérôme Lemay เป็นเจ้าหน้าที่โทรคมนาคมวัย 36 ปี เขาและภรรยามีรายได้ประมาณ 100,000 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) ต่อปี หลังจากที่พวกเขาทั้งคู่ตัดสินใจเลือกทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ และถูกหักค่าตอบแทนไป 20%
“มันคือการหาความสมดุลของชีวิต ลองหยุดวิ่งตามการแข่งขันที่โหดร้าย และกลับมามีความสุขกับเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวอีกครั้ง” เขาพูดถึงการเลือกไลฟ์สไตล์แบบนี้ พวกเขาเลือกซื้อของมือสอง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วยตัวเอง แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับลูกกับผู้คนในชุมชน พักผ่อนหย่อนใจที่เทศกาลดนตรีที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และทำกิจกรรมนอกบ้านในบางครั้ง
การใช้ชีวิตอย่างประหยัดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกาก็มีกลุ่ม ‘r/antiwork’ ในเว็บไซต์ Reddit ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมคนที่หันหลังให้กับวัฒนธรรมการทำงานหนักและกลับมาใช้เวลากับชีวิตมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มก็มีสมาชิกกว่า 2 ล้านคนเลยทีเดียว
จีนก็มีการเคลื่อนไหวเรียกว่า ‘lie-flat’ ที่ต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 อันเลื่องชื่อของจีน ที่เป็นตัวเลขเรียกแทนการทำงานตั้งแต่ 09.00 น. จนถึง 21.00 น. เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ส่วนฝรั่งเศสก็มีกลุ่ม ‘Détravail’ ที่มีแนวคิดว่าทำงานให้น้อยลงและใช้ชีวิตให้มีคุณภาพขึ้น พวกเขามีการนัดเจอกันในทุกเดือนตามพื้นที่สาธารณะเพื่อแชร์เทคนิคการใช้ชีวิตอย่างประหยัด การลดค่าใช้จ่าย และการต่อรองเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ลดลง
พนักงานที่เลือกค่าตอบแทนที่น้อยลงเพื่อแลกกับเวลาล้วนตอบตรงกันว่าการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติที่ไม่ได้เห็นมานานจากการทำงานหนัก และระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP