วันนี้ (26 เมษายน) ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เผชิญความท้าทายต่างๆ ทันทีที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส สมัยที่ 2 แม้จะเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 20 ปีที่ชนะการเลือกตั้งผู้นำประเทศติดต่อกันได้ถึง 2 สมัย หลังจากที่ประธานาธิบดีฌัก ชีรัก เคยทำได้ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2002 แต่วิกฤตต่างๆ ที่รอให้ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็มีอยู่ไม่น้อย
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของมาครง ประเด็นเรื่องค่าครองชีพ เงินบำนาญ รวมถึงการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลมาครงยังคงต้องเร่งแก้ไข โดยในการเลือกตั้งรอบ 2 ช่องว่างความต่างระหว่างคะแนนเสียงที่มาครง และ มารีน เลอ แปน คู่แข่งคนสำคัญจากพรรคประชานิยมปีกขวา กลับลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งรอบ 2 ในปี 2017
จากการบริหารประเทศในสมัยที่ผ่านมา ทำให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยมีทัศนคติต่อตัวมาครงเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย ส่วนหนึ่งที่มาครงยังคงได้รับชัยชนะ เพราะฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสต้องการให้ฝ่ายขวาสุดโต่งห่างไกลจากพื้นที่ของอำนาจ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างพรรครีพับลิกัน พรรคกรีน และพรรคสังคมนิยม ซึ่งผลโพลแห่งหนึ่งชี้ว่า 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้มาครงสูญเสียอำนาจเสียงข้างมาก และแชร์อำนาจกับบรรดาขั้วตรงข้ามในสภาวะอยู่ร่วมกัน (Cohabitation) จากการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) หรือสภาล่างฝรั่งเศส ที่จะจัดขึ้น 2 รอบในวันที่ 12 และ 19 มิถุนายนนี้
มาครงจำเป็นต้องจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเฟ้นหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฝรั่งเศสแทน ฌ็อง กัสแต็กซ์ ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะเป็น เอลิซาเบธ บอร์น รัฐมนตรีแรงงานคนปัจจุบัน เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านประเด็นทางสังคม ประเด็นด้านแรงงานและการจัดหางาน ซึ่งประเด็นการปฏิรูปสังคมเป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลมาครงกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของเงินบำนาญที่อาจจะมีการปรับเพิ่มเกณฑ์อายุที่จะได้รับเงินบำนาญจาก 62 ปีเป็น 65 ปี ซึ่งอาจทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจอีกระลอกในฝรั่งเศส ดังนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลและฟังเสียงประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดเหตุความไม่สงบตามมา
ภาพ: Ludovic Marin / AFP
อ้างอิง: