การใช้จ่ายทางการคลังเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังทำให้ระดับหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชียสูงขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เตือนประเทศตลาดเกิดใหม่ประสบความลำบากในการกู้ยืมเงินมากขึ้น เหตุดอลลาร์แข็งค่า
ตามข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุว่า หนี้ของภาครัฐและเอกชนในประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชียในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2022
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
โดยหนี้ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 252.4% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากระดับ 250.2% ในปีก่อนหน้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชียมีตัวเลขที่เติบโตอย่างมาก ตัวอย่างเช่น หนี้สาธารณะของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็น 176.2% จาก 147.6% ของ GDP ขณะที่หนี้สาธารณะของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 76.2% จาก 69.9% ของ GDP
นอกจากนี้ หนี้ของภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในเวียดนาม หนี้องค์กรเพิ่มขึ้นเป็น 107.9% จาก 100.6% ของ GDP ขณะที่ในฮ่องกง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 94.5% จาก 92.1% ของ GDP
สำหรับหนี้ภาครัฐและเอกชนทั่วโลก ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ IIF เปิดเผยว่า อยู่ที่ 349% ของ GDP นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส
IIF ยังกล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอทางเศรษฐกิจตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและยุโรป และความตึงเครียดทางสังคมที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลกู้ยืมมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าหนี้ต่อ GDP โลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2% สิ้นปี
พร้อมทั้งเตือนว่า การกู้ยืมกำลังเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ลดลงเหลือ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม-มิถุนายน จากมากกว่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
นอกจากนี้ การออกพันธบัตรโดยรวมยังอ่อนแอลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการของประเทศผู้กู้ โดยความเปราะบางด้านหนี้สินที่สูงขึ้น ยังได้บีบให้ผู้ออกตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูงจำนวนหนึ่งต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมถึงศรีลังกาและกานา
แม้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้น แต่หนี้โดยรวมทั่วโลกกลับลดลง
อย่างไรก็ตาม IIF ระบุว่าในช่วง 3 เดือน (เมษายนถึงมิถุนายน) หนี้โดยรวมทั่วโลกในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์ เหลือ 300 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นการลดลงรายไตรมาสครั้งแรกตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ รวมถึงการออกตราสารหนี้ที่ชะลอตัวลง
ภาคเอกชนเสี่ยงล้มละลายมากขึ้น
แรงกดดันต่อต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นยังน่าจะดำเนินต่อไป ตามการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอย่างน้อย 0.75% ในสัปดาห์หน้า
IIF กล่าวอีกว่า องค์กรต่างๆ เสี่ยงที่จะล้มละลายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับธนาคารกลางนำเศรษฐกิจลงจอดแบบ Soft Landing โดยไม่มีผลกระทบด้านลบต่อตลาดงาน
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Economy/Inflation-spending-to-swell-debt-in-emerging-Asia
- https://www.reuters.com/markets/europe/slowing-growth-exacerbates-debt-strains-corporate-bankruptcies-loom-iif-2022-09-14/
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP