วานนี้ (25 ธันวาคม) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) มีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 นั้น
โดยที่รัฐบาลได้ดําเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ทําให้การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้ผลดีขึ้นเป็นลําดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันพบการระบาดของโรคระลอกใหม่ขึ้นในบางเขตพื้นที่
รัฐบาลจึงมีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการกระชับและยกระดับบรรดามาตรการต่างๆ ที่จําเป็นเพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดลุกลามเป็นวงกว้างต่อไป อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การห้ามใช้หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค ห้ามประชาชนใช้ เข้าไป หรืออยู่ในพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ของโรค
ข้อ 2 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดออกคําสั่งโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ของโรคไว้เป็นการชั่วคราว
ข้อ 3 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศและกําหนด
ข้อ 4 มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการ เฝ้าระวัง ตรวจและคัดกรองการเดินทางและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการที่นายกรัฐมนตรีกําหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ข้อ 5 การปฏิบัติและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ได้เคยกําหนดไว้ในข้อกําหนด (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และข้อกําหนด (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 อย่างเคร่งครัด
ข้อ 6 การประสานงาน ให้ ศปก.ศบค. ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้อํานวยการศูนย์ ทําหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยเร็วควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 พิจารณามาตรการและเร่งรัดการปฏิบัติการตามหน้าที่และอํานาจเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็วและชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศปก.ศบค. ตามที่ได้รับการร้องขอหรือประสานงาน
ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดําเนินการทั้งในส่วนของประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อกําหนดนี้ ให้หารือ ศปก.ศบค. และคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามลําดับ
ข้อ 7 เพื่อให้การกําหนดมาตรการป้องกันโรคเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การออกประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 เพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ให้ดําเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีหรือตามที่ ศบค. กําหนด
ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพิจารณาประเมินและกําหนดพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดใหม่ ตามแนวทางและเงื่อนไขการจัดเขตพื้นที่ สถานการณ์ที่ ศบค. กําหนด และเสนอต่อ ศปก. ศบค. และนายกรัฐมนตรีทราบต่อไป
ข้อ 8 ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นคําสั่งตามข้อกําหนดนี้
ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกําหนดนี้ใช้บังคับ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกําหนด ประกาศ หรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: