×

ปิดมหากาพย์ดีล Twitter! ‘อีลอน มัสก์’ ได้อะไร? จะส่งผลอย่างไรต่อบริษัทและผู้ใช้งาน?

28.10.2022
  • LOADING...
อีลอน มัสก์

ในที่สุดดีลการซื้อ Twitter ของมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดอันดับ 1 ของโลกอย่าง อีลอน มัสก์ ก็ได้บทสรุปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง CNBC รายงานว่ามัสก์เข้ามานั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Twitter อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมูลค่าการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.65 ล้านล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม ดีลดังกล่าวถือว่ายืดเยื้อและพลิกไปพลิกมาพอสมควร หลังจากที่มัสก์ประกาศว่าจะเข้าซื้อ Twitter เมื่อ 6 เดือนก่อน ก่อนที่เขาจะประกาศล้มดีลในเวลาต่อมา จนนำไปสู่การฟ้องร้องโดยบริษัท ทำให้มัสก์ต้องกลับลำอีกครั้ง และนำมาสู่การปิดดีลในที่สุด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ไทม์ไลน์ดีลซื้อ Twitter ของอีลอน มัสก์

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2022 มัสก์เริ่มต้นเข้าซื้อหุ้น Twitter Inc. (TWTR) เป็นครั้งแรก ก่อนจะค่อยๆ สะสมหุ้นจนมีสัดส่วนราว 5% ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

 

ก่อนที่มัสก์จะเคลื่อนไหวอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2022 ด้วยการทวีตข้อความผ่านบัญชีส่วนตัวว่า เขากำลังคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการสร้างแพลตฟอร์มอื่นเพื่อเป็นทางเลือกแทนที่ Twitter โดยตั้งประเด็นเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และตั้งข้อสงสัยว่า Twitter คำนึงถึงประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน 

 

มัสก์ไม่ได้หยุดแค่นั้น หลังจากนั้นเพียง 1 วัน เขาได้เข้าพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับคณะกรรมการบริหารของ Twitter รวมทั้งผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ‘แจ็ค ดอร์ซีย์’ เพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการร่วมเป็นกรรมการของบริษัท

 

ถัดมาวันที่ 4 เมษายน มีรายงานออกมาว่ามัสก์ได้ถือหุ้น Twitter เพิ่มเป็น 9% หรือราว 73.5 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 5.4 หมื่นล้านบาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท 

 

หลังจากนั้น Twitter ได้เสนอตำแหน่งกรรมการให้กับมัสก์ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องไม่ถือหุ้นรวมเกิน 14.9% ขณะที่ซีอีโอของ Twitter ในขณะนั้นอย่าง พารัก อัคราวาล ได้ทวีตว่า “มันชัดเจนสำหรับเราว่ามัสก์จะนำสิ่งที่ดีมาให้กับทีมบริหาร” เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

 

ความสัมพันธ์อันดีระหว่างมัสก์กับอัคราวาลคงอยู่ได้เพียงเวลาอันสั้นอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ มัสก์ได้ทวีตตั้งคำถามว่า “Twitter กำลังจะตายหรือ?” ก่อนที่อัคราวาลจะโต้ตอบว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และตามมาด้วยการตอบกลับแบบตัดจบของมัสก์ว่า “เสียเวลาเปล่า เดี๋ยวจะเสนอซื้อ Twitter แล้วนำออกจากตลาด” 

 

14 เมษายน 2022 Twitter เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า มัสก์ได้ยื่นข้อเสนอซื้อบริษัทด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเขาจะแบ่งขายหุ้น Tesla ออกมาบางส่วน คิดเป็นมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสมทบทุนซื้อ Twitter 

 

สำหรับแนวทางที่มัสก์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง Twitter ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการที่เขากล่าวว่า จะปลดแบนบัญชีของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งมัสก์มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 พฤษภาคม 2022 มัสก์ได้ประกาศพักแผนซื้อ Twitter ชั่วคราว เพื่อใช้เวลาตรวจสอบจำนวนบัญชีปลอม จนกดดันให้ราคาหุ้น Twitter ร่วงลงทันที ก่อนที่มัสก์จะประกาศล้มดีลในวันที่ 8 มิถุนายน โดยอ้างว่า Twitter ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีปลอม

 

Twitter ตัดสินใจฟ้องมัสก์เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม เพื่อบังคับให้เขาเดินหน้าปิดดีลซื้อกิจการตามที่เคยประกาศไว้ จากนั้นไม่นาน ศาลของรัฐเดลาแวร์ได้มีคำสั่งให้ดีลนี้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนในเดือนตุลาคม 

 

มัสก์จึงกลับมายื่นข้อเสนอซื้อตามเดิมอีกครั้งเมื่อต้นเดือนตุลาคม ขณะที่ศาลได้เลื่อนวันครบกำหนดในการทำข้อตกลงมาเป็นวันที่ 28 ตุลาคม ระหว่างนั้นมีรายงานออกมาว่า มัสก์มีแผนที่จะปลดพนักงานของบริษัทถึง 75% จากพนักงานทั้งหมด 7,500 คน 

 

แต่รายงานจาก The Washington Post ได้ชี้ว่า ถึงไม่มีการเข้าซื้อจากมัสก์ ผู้บริหารของ Twitter ก็วางแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเดือนลงประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งคิดเป็นตัวเลขพนักงานที่ต้องหายไปราว 1 ใน 4

 

เอ็ดวิน เฉิน นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล ซึ่งเคยดูแลเรื่องสแปมของ Twitter และปัจจุบันเป็นซีอีโอของ Surge AI สตาร์ทอัพด้านการดูแลเนื้อหา แสดงความคิดเห็นว่า ผลกระทบของการเลิกจ้างดังกล่าวจะเกิดขึ้นทันที แม้เขาเชื่อว่า Twitter มีพนักงานมากเกินไป แต่การหั่นคนออก 75% นั้น ‘เป็นไปไม่ได้’ 

 

ทว่าในที่สุดมหากาพย์การยื่นซื้อ Twitter ของมัสก์ก็เดินมาถึงบทสรุป เมื่อมัสก์ได้โพสต์วิดีโอของตัวเองที่กำลังเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของ Twitter ก่อนจะมีรายงานออกมาว่ามัสก์ได้ไล่ซีอีโอและซีเอฟโอของ Twitter ออกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา และขึ้นมาเป็นซีอีโออย่างเป็นทางการ

 

สิ่งที่แรกมัสก์ทำคือการไล่ผู้บริหารสำคัญออก ทั้ง พารัก อักราวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO), วิจายา แกดเด หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย นโยบาย และความไว้วางใจ และ เน็ด เซกัล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) เนื่องจากมองว่าผู้บริหารกลุ่มนี้หลอกลวงเขาและนักลงทุน Twitter เกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

 

ก่อนหน้านี้ Equilar ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยได้ระบุว่า หากอักราวาลต้องหลุดจากตำแหน่งหลังจากเปลี่ยนแปลงเจ้าของ Twitter ภายใน 12 เดือน เขาจะได้รับเงินชดเชยราว 42 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.6 พันล้านบาท ทว่าการปลดอักราวาลไม่ได้เกินความคาดหมาย เมื่ออ้างอิงจากรายงานของ Bloomberg ที่ระบุว่า มัสก์กับอักราวาล ‘ไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไร’ และปะทะคารมกันเรื่อยมานับตั้งแต่เริ่มดีล

 

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

แน่นอนว่าสิ่งที่มัสก์จะได้เข้ามาอยู่ในมือคือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดสื่อหนึ่งในปัจจุบัน โดย Twitter ก็เป็นช่องทางหลักที่มัสก์ใช้ในการสื่อสารความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ มาโดยตลอด และมีผู้ติดตามกว่า 109 ล้านราย 

 

ประเด็นหนึ่งที่มัสก์ต้องการจะเห็นคือ การเปิดให้ Twitter เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของบริษัทที่ใช้พิจารณาปิดกั้นเนื้อหาบางส่วน และจะดำเนินการปลดล็อกให้กับบัญชีต่างๆ ที่ถูกแบนไปก่อนหน้านี้ เช่น บัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนกังวลว่าจะเป็นผลกระทบที่อาจตามมาคือ เนื้อหาหรือความคิดเห็นแย่ๆ (Toxic Content) รวมไปถึงการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการเมืองทั่วโลก ซึ่งเราน่าจะได้เห็นตัวอย่างกันในไม่ช้าว่าการเข้ามาของมัสก์จะส่งผลต่อประเด็นอ่อนไหวเช่นนี้มากน้อยเพียงใด จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของบราซิลรอบที่ 2 วันที่ 30 ตุลาคม และการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งก่อนหน้าที่มัสก์จะเข้ามาครอบครองกิจการนั้น Twitter ได้ประกาศไว้ว่าจะแบนบัญชีที่ให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจส่งผลต่อผลลัพธ์การเลือกตั้ง

 

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งของ อีลอน มัสก์ กับผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter อย่าง แจ็ค ดอร์ซีย์ และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก คือ มัสก์ค่อนข้างจะเปิดเผยเกี่ยวกับความเห็นทางการเมืองของตัวเอง อย่างการเปิดเผยว่าเขาจะลงคะแนนให้พรรครีพลับลิกันสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมในปีนี้ และมีแนวโน้มจะสนับสนุน โรนัลด์ เดอซานติส ตัวแทนจากพรรครีพลับลิกันลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024 รวมถึงการแสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน และสงครามในยูเครน 

 

เดวิด เคย์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของ University of California กล่าวว่า การที่มัสก์เข้ามาเป็นผู้นำ Twitter จะมีผลต่อโลกที่แท้จริง บริษัทควรที่จะพิจารณาดูว่าการแสดงความคิดเห็นของผู้นำโลกควรจะทำได้แค่ไหน 

 

ไม่ให้ ‘พูดแย่ๆ’ ได้อย่าง ‘เสรี’ อีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม มัสก์ได้เปิดเผยว่า Twitter จะไม่เป็นพื้นที่ที่เปิดให้พูดอะไรแย่ๆ ได้โดยเสรี ซึ่งเป็นการขยายความเพิ่มเติมจากการที่เขาเคยบอกไว้ว่า “Twitter เป็นเหมือนจัตุรัสกลางเมือง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทุกคนจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย” 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนแสดงความกังวลคือ การที่มัสก์ต้องการจะเปลี่ยนสถานะ Twitter จากบริษัทมหาชนเป็นเอกชน ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่จำเป็นจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ต่อสาธารณะ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสายตาของคนทั่วไป

 

มัสก์ยังมีความพยายามที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจของ Twitter ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งที่ผ่านมาคือ ผู้ที่สร้างเนื้อหาบนแพลตฟอร์มเป็นประจำ คิดเป็นเพียงไม่ถึง 10% ของผู้ใช้งานแต่ละเดือน แต่กลับเป็นผู้ที่ช่วยกันทวีตข้อความประมาณ 90% ของข้อความทั่วโลก และสร้างรายได้ราวครึ่งหนึ่ง

 

สิ่งที่มัสก์ต้องการจะเห็นคือ การยกระดับ Twitter จากการเป็นแค่โซเชียลมีเดียแอปพลิเคชันให้เป็นซูเปอร์แอป ซึ่งคล้ายกับ WeChat ของจีน ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการได้หลากหลาย ตั้งแต่การชำระบิล สั่งสินค้า หรือสื่อสารกับเพื่อน

 

ขณะเดียวกันมัสก์ยังพยายามที่จะแก้ปัญหาบัญชีที่เป็น ‘บอต’ ซึ่งมักจะโพสต์เนื้อหาสแปมจำนวนมาก ซึ่งมัสก์คาดว่า Twitter มีบัญชีบอตอยู่ประมาณ 20% 

 

มัสก์ได้กล่าวในวันที่ 27 ตุลาคมว่า เขาไม่ได้ซื้อ Twitter เพื่อสร้างรายได้ แต่ “เพื่อพยายามช่วยเหลือมนุษยชาติที่ผมรัก” ซึ่งคำพูดนี้เหมือนจะย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย เมื่อข่าวหลุดก่อนหน้านี้ได้เผยถึงเป้าหมายที่เขาอยากให้ Twitter มีรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายใน 3 ปี

 

นอกจากนี้ สิ่งที่มัสก์อาจจะตัดสินใจทำตามมาคือการปลดพนักงานจำนวนมากถึง 75% เพื่อลดต้นทุนของบริษัทในส่วนของค่าจ้างพนักงานไปอย่างน้อย 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในวันที่เขาเข้าไปที่สำนักงานใหญ่ของ Twitter มัสก์บอกกับพนักงานว่าเขาไม่ได้วางแผนที่จะลดพนักงาน 75% เมื่อเขาเข้าเป็นเจ้าของอย่างเป็นทางการ

 

“ส่วนที่ง่ายสำหรับมัสก์คือการซื้อ Twitter และส่วนที่ยากคือการแก้ไข” แดน อีฟส์ นักวิเคราะห์ทางการเงินของ Wedbush Securities กล่าว “มันจะเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะพลิกสถานการณ์นี้”

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านบรรษัทภิบาลชี้ว่า หากมัสก์ต้องการปลดพนักงานจำนวนมาก สิ่งที่เขาต้องทำคืออธิบายให้ชัดเจนถึงทิศทางต่อไป เพราะหากไม่มีพนักงานแล้ว ใครจะเป็นคนทำงานแทน หรือเขาจะใช้ AI เข้ามาแทนที่? 

 

ในแง่ของธุรกิจ มัสก์ตั้งใจที่จะขยายโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ อย่างเช่นการทำระบบสมาชิกสำหรับการเข้าถึงเนื้อหาพิเศษ (Exclusive Content) ของผู้ที่มีชื่อเสียง (Twitter กำลังทดลองกับรูปแบบดังกล่าวที่เรียกว่า Twitter Blue)

 

แต่ข้อมูลของ Twitter พบว่าการสมัครรับข้อมูลอาจไม่สร้างรายได้ใหม่อย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากลูกค้าเริ่มจ่ายค่าสมัครสมาชิกรายเดือนและไม่มีโฆษณา จะกลายเป็นการทุบหม้อข้าวของตัวเอง เพราะจะกระทบกับ ‘โฆษณา’ อันเป็นแหล่งรายได้หลักทันที

 

เพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้จากโฆษณา มัสก์ได้ให้ความมั่นใจกับผู้โฆษณาถึงคำวิจารณ์ที่ผ่านมาของเขาเกี่ยวกับกฎการดูแลเนื้อหาของ Twitter โดยกล่าวในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ลงโฆษณาว่า “เห็นได้ชัดว่า Twitter จะไม่สามารถเป็น ‘free-for-all hellscape’ ที่ใครจะสามารถทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับกับผลกระทบที่ตามมา!”

 

หลังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความเห็นของพนักงานในบริษัท Twitter ดูเหมือนจะแตกออกเป็นสองฝั่ง บางส่วนดูจะไปในโทนบวก โดย The Washington Post รายงานว่า หนึ่งในพนักงานเปิดเผยว่า ทุกคนพร้อมที่จะมุ่งไปสู่สิ่งที่กำลังจะมาถึงภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันพนักงานบางส่วนก็ได้ลงนามในจดหมายที่ระบุว่า การปลดพนักงานจะกระทบต่อความสามารถของ Twitter ในการเปิดพื้นที่ให้กับสาธารณชนได้พูดคุยกันอย่างเสรี 

 

อย่างไรก็ตาม หุ้น Twitter ปิดการซื้อขายในวันพฤหัสบดี (27 ตุลาคม) ที่นิวยอร์ก เพิ่มขึ้น 0.3% ที่ 53.86 ดอลลาร์ ลดราคาเล็กน้อยเหลือ 54.20 ดอลลาร์ต่อราคาซื้อขายหุ้น และหุ้นจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในวันศุกร์ (28 ตุลาคม)

 

หลังจากนี้ไปก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า เมื่อ Twitter มาอยู่ในมือของผู้บริหารที่เดาใจได้อยากอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ ผลจะออกมา ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’ กันแน่!

 

ภาพ: Muhammed Selim Korkutata / Anadolu Agency / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising