หากลองนึกย้อนไปถึงช่วงที่ อีลอน มัสก์ ยังไม่พูดถึง Twitter มากนัก เวลานั้นพ่อมดอย่างมัสก์จุดประกายความหวังโลก ทั้งโครงการตั้งรกรากบนดาวอังคาร โครงการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ และโครงการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่สำคัญคือสุดยอดโปรเจกต์อย่าง Hyperloop ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านท่อยาว โดยมัสก์เคยอ้างว่า Hyperloop จะช่วยให้การเดินทางจากลอสแอนเจลิสถึงซานฟรานซิสโกทำได้ในเวลาเพียง 30 นาที เร็วกว่าเดิมที่ต้องใช้เวลาขับรถกว่า 6 ชั่วโมง
จนในปี 2016 บริษัท Boring ของมัสก์ ได้สร้างสนามทดสอบยาว 1 ไมล์ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท SpaceX ในเมืองฮอว์ธอร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ปัจจุบันแท่นทดสอบสำหรับสิ่งที่มัสก์มองว่าเป็นการคมนาคมแบบใหม่ที่ปฏิวัติวงการนั้นกำลังจะโบกมือลา เพราะสำนักข่าว Bloomberg รายงานเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มีการทุบรื้อเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับที่จอดรถของพนักงาน SpaceX
The Boring Company ไม่ได้เปิดเผยว่าเหตุใดจึงปิดแทร็กทดสอบ ซึ่งไม่กี่วันต่อมาบริษัทกลับทวีตว่า การทดสอบ Hyperloop อย่างเต็มรูปแบบได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อไม่ได้ระบุว่าการทดสอบนี้เกิดขึ้นที่ใด จึงมีการคาดเดาว่าแทร็กอาจตั้งอยู่ในเท็กซัส เนื่องจาก Boring Company เคยซื้อที่ดินใกล้กับโรงงาน Tesla Gigafactory ในออสติน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่บริษัทต้องการย้ายการดำเนินการทดสอบลงไปทางใต้ของสหรัฐอเมริกา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Hyperloop เป็นหมันแล้ว? อุโมงค์ต้นแบบของ อีลอน มัสก์ ถูก ‘รื้อออก’
- Virgin Hyperloop เผยวิดีโอที่แสดงถึงการเดินทางในท่อใกล้สุญญากาศที่วิ่งด้วยความเร็ว 1,070 กม./ชม.
- ไฮเปอร์ลูปใกล้แค่เอื้อม! Virgin Hyperloop ประสบความสำเร็จในการทดสอบวิ่งพร้อมผู้โดยสารจริง
ความเป็นไปได้นี้สะท้อนว่า Hyperloop ยังไม่ถึงกาลอวสาน และหากมองไปนอกเหนือจากจักรวาลของมัสก์แล้ว กลุ่มคนและบริษัทต่างๆ ทั่วโลกยังคงเคลื่อนไหวเรื่อง Hyperloop อยู่ โดยพยายามผลักดันความฝันให้เกิดขึ้นได้ในไม่กี่ปีจากนี้
หลายประเทศยังรอ
รัฐบาลของหลายประเทศมองภารกิจเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าในอนาคตไปในทางเดียวกัน นั่นคือการยกระดับให้การขนส่งทำได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นวัตกรรมมากมายถูกพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่ถนนทางหลวงอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงรถไฟพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และรถหรือเรือไฟฟ้าบินได้ ซึ่งการให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาการเดินทางในอนาคตนี้เองที่นำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU หลายฉบับ ทำให้ไม่เพียงนักลงทุนมีความหวัง แต่ประชาชนก็หวังให้เกิดการขยายผลมากขึ้น
หนึ่งในแนวคิดที่อาจดูเหมือนหลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์คือ Hyperloop ซึ่งเป็นระบบของยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้เร็ว เพราะรูปลักษณ์เทียบได้กับขบวนรถที่ลอยอยู่ในท่อยาว โดยเมื่อความกดอากาศลดลงเหลือ 1 ใน 10 ของระดับน้ำทะเล ระบบลดแรงต้านของอากาศจะทำให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 700-800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (KMPH)
แนวคิดตั้งต้นคือท่อเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อระหว่างเมืองกับเมืองได้ตั้งแต่ 2-3 กิโลเมตร ไปจนถึง 200-300 กิโลเมตร และสามารถเคลื่อนย้ายได้ทั้งกรณีบรรทุกสินค้าและผู้โดยสาร ทั้งหมดถูกประกาศครั้งแรกโดยองค์กรของ อีลอน มัสก์ ในปี 2014 แม้ว่าจะเป็นแนวคิดเก่าอายุกว่า 20 ปี ซึ่งวิศวกรได้พยายามมองหาวิธีที่จะส่งยานพาหนะเดินทางผ่านอุโมงค์สุญญากาศมานานแล้วก็ตาม
ในช่วงที่มัสก์พูดถึงเทคโนโลยีนี้ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก นักวิจารณ์พยายามพุ่งประเด็นไปที่ปัญหาและข้อจำกัดของ Hyperloop ที่ใช้การลอยตัวรถด้วยชุดแม่เหล็กที่ถูกดูดติดอยู่กับรถไฟและท่อสุญญากาศว่า Hyperloop จะมีราคาแพงอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งการสร้าง Hyperloop ตามเส้นทางระหว่างลอสแอนเจลิสและซานฟรานซิสโกนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวที่รัฐแคลิฟอร์เนียได้ลงทุนหลายปีและอัดฉีดเงินหลายล้านดอลลาร์ เพื่อพยายามสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสำหรับการเดินทาง
แม้ว่า Hyperloop จะพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยและเชื่อถือได้ แต่มีโอกาสที่ผู้โดยสารอาจไม่ชอบความรู้สึกของการพุ่งท่อลงมาด้วยความเร็วกว่าเสียง ดังนั้น Hyperloop จึงเริ่มเสื่อมความนิยมเมื่อหลายปีผ่านไป ความฝันดั้งเดิมในแคลิฟอร์เนียของมัสก์ดูเหมือนจะไปไม่ถึงไหน ทำให้หลายคนรู้สึกว่า Hyperloop อาจเป็นจินตนาการที่มัสก์ไม่ได้ตั้งใจจริงจัง ขณะเดียวกันก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า Boring Company ของมัสก์ ได้เปลี่ยนทิศทางความพยายามของบริษัทไปสู่การขุดอุโมงค์เส้นทางขนาดเล็กใต้เมือง แทนที่จะสร้างท่อเพื่อเชื่อมต่อกัน
อย่างไรก็ตาม อุโมงค์ Loop เหล่านี้มีไว้สำหรับรถยนต์ทั่วไป ไม่ใช่รถไฟลอยในท่อสุญญากาศ และแม้อุโมงค์ Loop จะดึงดูดอุตสาหกรรมมากมาย แต่ Loop ก็ยังประสบปัญหาการจราจรติดขัดใต้ดินในลาสเวกัส ทำให้อนาคตของ Hyperloop ในรัศมีมัสก์ยังไม่ชัดเจน ทั้งที่มัสก์ได้เสนอแนวคิดแบบ Open Source ซึ่งกระตุ้นให้ผู้ที่ชื่นชอบ Hyperloop บริษัทอื่นทั่วโลกสนใจและลุกขึ้นมาเตรียมวิ่งไปพร้อมกัน
จับตา HyperloopTT
Hyperloop One ของ อีลอน มัสก์ นั้นถูกนำไปโยงกับบริษัท Hyperloop Transportation Technologies (HyperloopTT) บ่อยครั้ง สำหรับ HyperloopTT นั้นเป็นบริษัทที่วางโฟกัสที่การบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่แทนการขนส่งผู้โดยสาร พื้นที่หลักของ HyperloopTT คือท่าเรือที่พลุกพล่านในเขตฮัมมิง ประเทศเยอรมนี ซึ่ง HyperloopTT ต้องการมาแทนที่การใช้รถยนต์รับของที่ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งเหล่านั้น เพื่อเพิ่มความเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตัว HyperloopTT เป็นบริษัทที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2013 ไล่ตามหลังการประกาศของมัสก์ไม่นาน จน 10 ปีผ่านไป กลุ่มบริษัท HyperloopTT จึงเริ่มมีการแข่งขันทดสอบในฝรั่งเศส การสร้างต้นแบบเชิงพาณิชย์ที่ดูไบและโครงการในอิตาลีที่จะเริ่มก่อสร้างปี 2023
ขณะนี้ HyperloopTT อยู่ระหว่างการร่างมาตรฐานแนวทางด้านกฎหมายกับคณะกรรมาธิการยุโรป และกำลังจัดระเบียบความคุ้มครองและการทำงานแวดล้อมของระบบ เพื่อให้เกิดโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม ดังนั้น HyperloopTT จึงถูกจับตาว่าเป็นผู้พัฒนา Hyperloop ที่ก้าวหน้าเป็นพิเศษ ซึ่งคาดว่าหลายประเทศจะต้องพัฒนารูปแบบข้อตกลงที่ครอบคลุมเช่นกัน โดยเฉพาะอินเดียและจีนที่เร่งปลุกปั้น Hyperloop เต็มที่
ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนได้ประกาศความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยี Hyperloop ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างรถไฟที่เดินทางได้ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทประสบความสำเร็จ
ความสำเร็จนี้สอดคล้องกับที่ HyperloopTT ย้ำว่า ยุคแห่งการขนส่งด้วยเทคโนโลยี Hyperloop นั้นอยู่ห่างออกไปแค่ ‘ไม่กี่ปี’ เนื่องจากการพัฒนา Hyperloop กระจายไปทั่วโลก เช่น การสร้างต้นแบบขนาดเต็มศักยภาพในเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส และโครงการของประเทศอิตาลีที่สร้างระบบ Hyperloop ระยะทาง 10 กิโลเมตร
ทั้งหมดนี้ได้รับแรงหนุนจากความต้องการรูปแบบการขนส่งที่รวดเร็วขึ้น ลดเวลาที่ใช้ในการเดินทาง สามารถครอบคลุมระยะทางได้มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง สามารถบรรทุกสินค้าและผู้โดยสารได้มากขึ้นในวันเดียวกัน นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับธุรกิจนอกเหนือจากการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้มีส่วนทำให้ตลาดเติบโต
แนวโน้มและความท้าทาย
การวิเคราะห์ล่าสุดของบริษัทวิจัย Technavio ชี้ว่า ความต้องการรูปแบบการขนส่งที่ยั่งยืนถือเป็นแนวโน้มหลักในตลาด ดังนั้น Hyperloop จึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะการขนส่งผ่านท่อแรงดันต่ำโดยใช้แคปซูลห้องโดยสารลอยได้ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า นั้นมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานและการปล่อย CO2 ในขณะที่เพิ่มความเร็วในการเดินทางได้อย่างชัดเจน
แม้ความต้องการรูปแบบการขนส่งที่ยั่งยืนจะมีอิทธิพลเชิงบวกทำให้ Hyperloop มีแนวโน้มเติบโตมาก แต่ความท้าทายเรื่องต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าสูงของ Hyperloop กำลังขัดขวางการเติบโตของตลาด รายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของ Hyperloop โดย NASA มีการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายไว้ที่ราว 25-27 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไมล์สำหรับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้การจัดหาที่ดินยังเป็นความท้าทายที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีนี้ต้องการการบำรุงรักษาเป็นประจำ และอาจกลายเป็นปัญหาได้ เนื่องจากเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลกประสบปัญหาในการบำรุงรักษาสะพาน รางรถไฟ และถนนในตัวอย่างแรก ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ศักยภาพการเติบโตในตลาด Hyperloop ลดลง
ที่สุดแล้ว Hyperloop จะไม่เป็นหมันและไม่ได้ขนแค่ผัก เมื่อมีกฎข้อบังคับสำหรับระบบที่ชัดเจน ทั้งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับโปรแกรมและราง ระบบความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร รวมถึงการรักษาและจัดสรรสิทธิ์ของผู้สร้างเส้นทาง ทั้งหมดนี้ทำให้คำถามของ Hyperloop ไม่ได้อยู่ที่จะเกิดเมื่อไร แต่อยู่ที่ความสามารถในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ต้องใช้ในการดูแลทำความสะอาดให้ปลอดภัยกว่าระบบขนส่งในปัจจุบัน
อ้างอิง:
- https://swarajyamag.com/tech/indias-ultra-high-speed-hyperloop-passenger-transport-ambitions-appear-crushed-but-some-desi-alternatives-emerge
- https://www.railway-technology.com/analysis/hyperlooptt-future-transport-toulouse-innovation/
- https://www.newcivilengineer.com/latest/transport-is-now-just-years-away-from-the-age-of-hyperloop-06-09-2022/
- https://finance.yahoo.com/news/hyperloop-technology-market-record-usd-110000319.html
- https://infra.economictimes.indiatimes.com/news/urban-transportation/niti-aayog-panel-to-finalise-report-on-hyperloop-technology-by-november-end-civil-aviation-or-railways-to-be-chosen-as-nodal-ministry/95291784
- https://www.inverse.com/innovation/hyperloop-closed-test-trackhttps://www.inverse.com/innovation/hyperloop-closed-test-track