ปี 2022 อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ปีชง’ ของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla, SpaceX และ Twitter ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวปัญหาดราม่ามากมาย และเรื่องราวเหล่านั้นได้ส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าหุ้นในบริษัทของเขาด้วย
โดยเฉพาะกับ Tesla อู่ข้าวอู่น้ำสำคัญที่ประสบปีที่เลวร้าย เมื่อมูลค่าหุ้นตกลงจากเดิมถึงกว่า 65% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6.72 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 22.78 ล้านล้านบาท ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปีหายนะของมัสก์ รวมถึงบรรดาผู้ถือหุ้นที่ไม่พอใจในตัวซีอีโอที่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความตกต่ำที่รวดเร็วจนเกินทำใจ โดยที่นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่ามีโอกาสที่หุ้นของ Tesla จะตกลงไปมากกว่านี้อีก เพราะดูเหมือนมัสก์จะกลายเป็นเป้าโจมตีในหลากหลายประเด็นดราม่าที่บ่อยครั้งก็มาจากการพูดไม่คิดของเขาเอง
เรื่องนี้นำไปสู่คำถามสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวของซีอีโออย่างมัสก์ ว่าตกลงแล้วภาพลักษณ์ของความเป็น ‘โทนี สตาร์ก’ ในโลกแห่งความเป็นจริง ยอดนักประดิษฐ์ผู้มีวิสัยทัศน์ล้ำหน้า และจะพามนุษยชาติไปสู่การผจญครั้งใหม่ด้วยการย้ายถิ่นฐานออกนอกโลกนั้นที่แท้แล้วเป็นคนที่เก่งในแบบที่ทุกคนเข้าใจจริงๆ
หรือมันเป็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ที่เราถูกทำให้เชื่อแบบนั้น?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ไม่มีความเป็นผู้นำ-อีโก้สูง-ไล่ใครก็ได้ออกตามอำเภอใจ’ เสียงสะท้อนของพนักงาน Tesla ถึง ‘อีลอน มัสก์’
- อดีตพนักงานเชื่อ อีลอน มัสก์ เป็นส่วนผสมของ Einstein, Tesla และ Rockefeller ถึงอย่างนั้นแม้แต่แม่ของเขาก็ยังยอมรับว่าไม่มีใครอยากเป็นเขา
- ‘วัฒนธรรมพี่น้อง ไม่ดีสำหรับธุรกิจ’ อดีตรองผู้บริหารจาก NASA กล่าว พร้อมเตือน อีลอน มัสก์ ‘ไม่ควร’ หลงระเริงกับอีโก้ของตัวเองมากนัก
- ‘อีลอน มัสก์’ กลายเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่ความมั่งคั่งหดหายไปถึง 2 แสนล้านดอลลาร์
Tesla ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์… ซะเมื่อไร!
เมื่อพูดถึงชื่อของ อีลอน มัสก์ สิ่งแรกๆ ที่ทุกคนคิดถึงย่อมหนีไม่พ้นการเป็นซีอีโอของ Tesla บริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสุดล้ำที่ใครก็อยากได้มาครอบครองทั้งนั้น
ภาพของมัสก์แทบไม่ได้ต่างไปจาก สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple และกลายเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท โดยเฉพาะหลังการกลับมารับบทซีอีโอเป็นครั้งที่ 2 และนำบริษัทก้าวทะยานสู่การเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ที่แม้วันนี้จ็อบส์จะไม่อยู่มาเกือบครบสิบปีแล้ว แต่ Apple ยังคงแข็งแกร่งเหมือนเก่า
แต่ในความเป็นจริงแล้ว Tesla ไม่ได้เป็นผลงานจากแนวคิดของเขาเลยด้วยซ้ำ
บริษัท Tesla ซึ่งตั้งชื่อตาม นิโคลา เทสลา (Nicola Tesla) อัจฉริยะของโลกผู้ค้นพบไฟฟ้ากระแสสลับและการส่งพลังงานแบบไร้สายเป็นคนแรก และเป็นคู่ต่อกรของ โทมัส อัลวา เอดิสัน อัจฉริยะนักประดิษฐ์ เจ้าของทฤษฎีไฟฟ้ากระแสตรง โดย Tesla ถูกก่อตั้งโดย 2 นักประดิษฐ์ในยุคปัจจุบันอย่าง มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และ มาร์ค ทาร์เพนนิง (Marc Tarpenning)
โดยทั้งคู่เคยร่วมกันทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อว่า Rocket eBook อันโด่งดังในช่วงปลายยุค 90 และได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในปี 2003 หลังจากที่อีเบอร์ฮาร์ด ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ตั้งใจที่จะสร้างรถยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานที่มีจำกัดและส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมอย่างน้ำมันอีกต่อไป
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Tesla Motors ที่จะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่
เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด
การพบกันระหว่างอีเบอร์ฮาร์ดและทาร์เพนนิง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นซีอีโอและซีเอฟโอของ Tesla ในวันเริ่มต้นกับ อีลอน มัสก์ นักลงทุนชาวแอฟริกาใต้ เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
จุดเชื่อมโยงระหว่างทั้งสามคนไม่ได้เป็นเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอะไร หากแต่เป็นเรื่อง ‘อวกาศ’ เพราะพวกเขาได้พบกันครั้งแรกในงานสัมมนาเกี่ยวกับอวกาศ ซึ่งด้วยความพูดคุยกันถูกคอ ทำให้อีเบอร์ฮาร์ดและทาร์เพนนิงตัดสินใจที่จะเอ่ยปากชักชวนให้มัสก์มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Tesla
มัสก์ตัดสินใจที่จะลงทุนกับ Tesla เป็นจำนวนเงิน 6.5 ล้านดอลลาร์ ในการระดมทุนใหญ่ที่ได้เงินรวม 7.5 ล้านดอลลาร์ ทำให้เขาได้รับตำแหน่งประธานบอร์ดและผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัท แต่งานหลักๆ แล้วยังเป็นของ 2 ผู้ก่อตั้งตามเดิม
หน้าที่ของเขาคือการหาเงินทุนเพิ่ม ซึ่งเป็นพาร์ตที่เขาถนัดที่สุด ในการชักชวนคนมาร่วมลงทุนด้วย มัสก์สามารถหาเงินทุนได้อีกมหาศาลถึง 105 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเพียงแค่ 18 เดือนเท่านั้น
ทุกอย่างดูจะเป็นไปได้สวยสำหรับ Tesla โดยเฉพาะหลังจากที่รถต้นแบบ ‘The Roadster’ ได้มีการเปิดตัวสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2006
แต่อีเบอร์ฮาร์ดและทาร์เพนนิงไม่รู้ตัวเลยว่าชะตากรรมของเขาจะไม่ได้ต่างจาก นิโคลา เทสลา ที่แทบไม่มีใครจดจำ
ในระหว่างที่อีเบอร์ฮาร์ดนำเสนอผลงานต่อที่ประชุมในงาน Motor Press Guild ในเดือนสิงหาคม ปี 2007 เขาไม่รู้ตัวเลยว่าบอร์ดบริหารได้มีการประชุมลับหลัง และเมื่อเขานำเสนองานเสร็จสิ้นก็มีเสียงโทรศัพท์จากมัสก์เข้ามาเพื่อแจ้งข่าวว่าเขาถูกปลดจากตำแหน่งซีอีโอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อีเบอร์ฮาร์ดถูกมัสก์ตลบหลังเพื่อชิงบริษัทที่เป็นผลงานของเขา ซึ่งแม้จะมีความพยายามต่อสู้ทางกฎหมาย แต่มัสก์ก็แข็งพอที่จะยืนยันคำเดิมว่าตำแหน่งซีอีโอนั้นไม่ใช่ของผู้ก่อตั้งตัวจริงอีกต่อไปแล้ว เขามีชื่อเอาไว้เฉยๆ ในบอร์ดบริหารแต่ไม่มีอำนาจใดๆ
สุดท้ายอีเบอร์ฮาร์ดต้องลาออกจากบริษัทของตัวเองในปี 2008 ก่อนที่ทาร์เพนนิงจะลาออกตามไปในปีถัดมา มัสก์จึงควบรวมอำนาจของ Tesla เอาไว้ในมือของตัวเองได้เสร็จสรรพ และทำให้ทุกคนจดจำเขาในฐานะตัวแทนของ Tesla อัจฉริยะผู้ที่นำอนาคตมาให้แก่มนุษย์ เหมือนที่เราจดจำว่า โทมัส เอดิสัน คือยอดนักประดิษฐ์ที่ผลิตหลอดไฟและผลงานอีกมากมายให้แก่โลกใบนี้
ทิ้งผู้ก่อตั้งตัวจริงเอาไว้เบื้องหลัง ไม่ต่างจาก นิโคลา เทสลา ที่แทบไม่มีใครจดจำได้
ห้องคิง! รวมคนเก่งไว้ก่อนมัสก์สอนไว้
ภายหลังจากที่ยึด Tesla มาเป็นสมบัติของตัวเองได้ อีลอน มัสก์ ได้เดินหน้านำบริษัทก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้พวกเขาไปได้ไกลยิ่งกว่าใครนั้นมาจากการมีนโยบายที่ชัดเจน
ใครเก่งไปดึงตัวมาร่วมงานให้หมด
นั่นทำให้มีกระแสข่าวมาเป็นระยะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า Tesla ได้ดูดบรรดาพนักงานในระดับหัวกะทิ โดยเฉพาะจากบริษัทคู่แข่งยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีที่มีพื้นฐาน ‘วัฒนธรรมการทำงาน’ ที่คล้ายกันอย่าง Apple มาร่วมงาน
หนึ่งในตัวอย่างคือ คริส แลตต์เนอร์ (Chris Lattner) ที่หากเป็นคนทั่วไปได้ยินชื่อก็อาจจะถามว่าคริสไหนนะ? ก่อนจะส่ายหัวด้วยความงงเพราะไม่รู้จักจริงๆ แต่สำหรับ ‘คนในวงการ’ แล้ว คริส แลตต์เนอร์ คือนักวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เก่งในระดับ ‘ร็อกสตาร์’ เลยทีเดียว เพราะเขาเป็นผู้สร้าง Swift ภาษาคอมพิวเตอร์ของ Apple
แต่ Apple ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีแผนที่จะสร้างรถยนต์ของตัวเอง ต้องเสียแลตต์เนอร์ไปให้กับ Tesla ที่ดึงตัวเขาไปรับงานในการออกแบบซอฟต์แวร์สำหรับระบบ Autopilot ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญและเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนรถ Tesla ให้เข้าใกล้สู่การเป็นยานยนต์ไร้คนขับ
แลตต์เนอร์ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกดูด ยังมียอดฝีมืออีกมากมายของ Apple และของบริษัทอื่นๆ ในวงการ ไม่ว่าจะเป็น Google, Amazon หรือ Facebook ที่ถูก Tesla ดูดมาเพื่อทำงานให้ ซึ่งการเป็นศูนย์รวมหัวกะทิในระดับเก่งที่สุดในโลกมารวมกันเช่นนี้ ทำให้ผลงานของ Tesla ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้มัสก์ยังมีการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบสมัยใหม่ที่ตัดความยุ่งยากวุ่นวาย สายบังคับบัญชาอะไรไม่ต้องมี ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง และเพื่อทำงานให้สำเร็จทุกคนต้องสามารถพูดคุยสื่อสารเรื่องงานกันภายในองค์กรได้
หรือการประชุมไม่ต้องถี่ ไม่ต้องเยอะ และไม่ต้องยาว เพราะมันจะเป็นการสิ้นเปลืองเวลาที่จะเอามาทำงาน
ด้วยภาพลักษณ์บวกกับวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง ทำให้ใครก็อยากมาร่วมงานกับ Tesla จนสามารถบอกว่าเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลคือสิ่งที่มัสก์เก่งและชำนาญที่สุด
เขาใช้คนเป็น และใช้คนได้เก่งมากด้วย
ต้นเป็นพิษ ผลก็เป็นพิษ
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าภายในองค์กร Tesla จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม มัสก์ได้ปลูกต้นไม้พิษเอาไว้โดยไม่รู้ตัว
เมื่อปีกลาย โซโลมอน เชา นักลงทุนรายหนึ่งที่ถือหุ้นของ Tesla ได้มีการฟ้องร้องบริษัท โดยกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงว่ามีส่วนในการทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ หรือ Toxic Culture Workplace จนแพร่ระบาดไปทั่วบริษัท
วัฒนธรรมที่เป็นพิษมาจากการที่ผู้บริหารในระดับสูง ซึ่งรวมถึงมัสก์ ได้ปล่อยปละละเลยจนเกิดการล่วงละเมิดในหลายรูปแบบ ไปจนถึงการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และเพิ่งเริ่มที่จะเห็นว่าต้นไม้ที่เป็นพิษก็ให้ผลที่เป็นพิษ
เชาเชื่อว่าวัฒนธรรมที่เป็นพิษนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างของ Tesla โดยเฉพาะการเงินและชื่อเสียงที่จะไม่สามารถแก้ไขได้
สิ่งที่ทำให้แย่หนักขึ้นไปอีกคือคนที่เป็นคนดูแลต้นไม้อย่างมัสก์เองก็พ่นพิษออกมาไม่แพ้กัน ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเขาส่งผลกระทบต่อบริษัทของตัวเองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Tesla, SpaceX ลามไปจนถึง Twitter ที่ในสายตาของผู้คน ภาพลักษณ์ของเขาเสียหายอย่างร้ายแรงในช่วงรอบปีที่ผ่านมา
ตกลงแล้ว อีลอน มัสก์ เก่งจริงไหม?
เรื่องราวทั้งหมดทำให้เราเริ่มกลับมาคิดและทบทวนกันว่าตกลงแล้ว อีลอน มัสก์ เก่งจริงไหม หรือทุกอย่างเป็นแค่ภาพลักษณ์ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา
หากมองเรื่องราวของการเข้ามาลงทุนกับ Tesla ก่อนจะตลบหลังผู้ร่วมก่อตั้งตัวจริงจนได้มาเป็นซีอีโอเอง ไปจนถึงเรื่องราวของความเจ้าอารมณ์เอาแน่เอานอนไม่ได้ในระยะหลังที่อาการหนักขึ้นทุกที แน่นอนว่ามันชวนให้คิดว่าเขาเก่งไม่จริง
อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง มัสก์เป็นคนที่มี ‘วิสัยทัศน์’ (Vision) กว้างไกล เขากล้าหาญที่จะฝันให้ไกล และพยายามจะทำอย่างไรก็ได้ที่จะไปให้ถึง
เขามองไปยังอนาคตเสมอและสิ่งที่เขาลงมือทำก็ล้วนแต่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่โลก ตั้งแต่เมื่อครั้งการร่วมก่อตั้ง X.com บริการการเงินออนไลน์ในยุคที่ยังไม่มีคำว่าฟินเทค ที่ต่อมาพัฒนาไปสู่ PayPal ซึ่งแม้จะถูกขับจากบริษัทแต่เขาก็ยังได้เงินส่วนแบ่งมหาศาล ซึ่งเป็นต้นทุนที่ถูกนำมาต่อยอดที่ Tesla ในเวลาต่อมา
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทุกคนจะมี และถึงจะมีก็ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้
มัสก์ยังเป็นยอดนัก (ขาย) ฝันที่เก่งกาจ เพราะนอกจากนักลงทุนจะเชื่อใจแล้ว เขายังสามารถรวบรวมคนเก่งโดยทำให้เชื่อและอยากมาร่วมงานด้วย เป็นสกิลพิเศษที่ไม่ใช่ทุกคนจะมี
ในส่วนเรื่องการบริหารจัดการคน การใช้งานคนเก่งคือสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของมัสก์ เพราะเขารู้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนกับสิ่งที่ สตีฟ จ็อบส์ ทำกับ Apple หรือผู้บริหารระดับสูงสุดที่ไหนก็ทำกัน
มันคืองานของเขา เขาเท่านั้นที่ทำได้
เพียงแต่จากวิกฤตการณ์ของ Tesla และวิกฤตศรัทธาในตัวของมัสก์ ที่ส่งผลต่อความมั่งคั่งของเขา ซึ่งลดลงจากช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 3.4 แสนล้านดอลลาร์ จากการที่ Tesla ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 1.37 แสนล้านดอลลาร์
ก็เป็นหน้าที่ของเขาเองที่จะต้องหาทางเรียกความมั่นใจกลับคืนมาให้ได้ ทั้งกับตัวเองและกับบริษัทอย่าง Tesla รวมถึงของร้อนอย่าง Twitter ที่ชาวทวิตเตียนจะรับน้องเด็กปากแจ๋วอย่างเขาค่อนข้างหนักทีเดียว
อาจจะเรียกได้ว่านี่เป็นความท้าทายอีกครั้งของมัสก์ เป็น New Year Challenge ของคนที่เป็นไอคอนของโลกในยุคปัจจุบัน
ภาพ: Nora Tam / South China Morning Post via Getty Images, Joshua Lott / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/2022/12/30/business/tesla-stock-elon-musk.html
- https://www.forbes.com/sites/qai/2022/12/11/elon-musks-six-rules-would-you-survive-working-for-elon-musk/?sh=50b2bb314a4b
- https://www.ft.com/content/ac5da588-445c-4ce4-b5cf-4caa731fa7bb
- https://www.wired.com/2017/01/tesla-snatching-apples-stars-make-new-apple/
- https://edition.cnn.com/2023/01/04/tech/tom-zhu-tesla-china-chief-profile-intl-hnk/index.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-01-05/tesla-board-takes-more-heat-over-elon-musk-succession-planning-tsla