×

กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เผชิญความท้าทาย มีความเสี่ยงตกยุคหากไม่เร่งตัวปรับ ทางรอดคืออะไร?

23.09.2024
  • LOADING...
electronics-industry-challenges-adaptation-survival

จิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า โครงสร้างกลุ่มสินค้าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในปัจจุบันส่งออกสินค้าในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ออกไปยังตลาดโลกเป็นสัดส่วนที่สูงสุด

 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีสัดส่วนกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังตลาดโลกในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก เช่น ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 0.6% จากอดีต มาอยู่ที่ 1.7% ในปี 2022 

 

อีกทั้งการส่งออกสินค้าแผงควบคุมตู้ระบบไฟฟ้าที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากอดีตที่เคยอยู่ที่ระดับ 1.5% โดยในปี 2022 มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 3.1% แต่ในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มสินค้าบางส่วนที่ส่งออกลดลง ได้แก่ กลุ่มคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบที่มีการส่งออกลดลงจากสัดส่วนระดับ 1% ในปี 2012 ลงมาอยู่ที่ระดับสัดส่วน 0.6% ในปี 2022 

 

เหล่านี้สะท้อนว่า การส่งออกสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูในภาพรวมของ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โลกในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโลกปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่ภายใต้แรงกดดันจากหลายปัจจัย เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบให้มีการแบ่งขั้วทางการค้า นำมาสู่การย้ายฐานการผลิต รวมถึงกระแสรักษ์โลก การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ ดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงความต้องการใช้กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของ Global Value Chain ครั้งใหม่

 

เปิดชื่อ 3 กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปขายตลาดโลก

 

SCB EIC จำแนกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก (พิจารณาจากกลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดโลกมากที่สุด) ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มสินค้าเครื่องปรับอากาศที่มีการเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่ปี 2019 ที่จีนถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ในการนำเข้ากลุ่มสินค้าเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยไปยังสหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่อง

 

โดยประเมินว่าในระยะถัดไปแนวโน้มการส่งออกเครื่องปรับอากาศไทยออกไปยังตลาดโลกจะยังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตจากต่างชาติ ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ที่เข้ามาขยายฐานใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพิ่มมากขึ้น

 

กลุ่มที่ 2 กลุ่มสินค้าที่อยู่ในช่วงการพัฒนาที่กำลังปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าเพิ่ม ได้แก่ กลุ่มแผงวงจรรวม กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่ไทยกำลังมีสัดส่วนทยอยออกไปยังตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นจากความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และในกลุ่มอุตสาหกรรมชิปที่ทยอยเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบสัดส่วนในการส่งออกชิ้นส่วนชิปและวงจรรวมกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าการส่งออกแผงวงจรรวมกับชิปของไทยไปยังต่างประเทศยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เนื่องจากประเทศไทยยังขาดการพัฒนาในการผลิตชิประดับต้นน้ำ

 

กลุ่มที่ 3 อุตสาหกรรมแผงวงจร (PCB) ซึ่งคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออก PCB ของไทยในปี 2025 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ PCB ของโลกที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น

 

โดยระยะถัดไป SCB EIC ประเมินว่า อุตสาหกรรม PCB ของไทยจะยังคงขยายตัวได้ดี จากแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ของผู้ผลิตสัญชาติจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมามีมูลค่าลงทุนรวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ ประเมินว่ากลุ่มพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังเติบโตได้ดีคือกลุ่มหม้อแปลงไฟฟ้า ที่ประเทศไทยมีแนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในตลาดโลกและกลุ่มอาเซียนที่เพิ่มขึ้น

 

กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่กำลังจะตกเทรนด์โลก

 

จิรภากล่าวต่อว่า ยังมีกลุ่ม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน อีกทั้งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก ได้แก่

 

  • กลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีแนวโน้มการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดโลกขยายตัวค่อนข้างต่ำ เนื่องจากประเทศไทยมีการลงทุนในกลุ่มสินค้าไฮเทค เช่น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ มีจำนวนที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย ที่มีความพร้อมมากกว่าไทย

 

  • กลุ่มสินค้าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่สูงที่ไทยผลิต ปัจจุบันจะเห็นว่าความต้องการของตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยไทยยังคงเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่สำคัญของโลกรองจากจีน

 

ขณะที่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่างปรับตัวหันไปผลิตกลุ่มสินค้าโซลิดสเตทไดรฟ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตลาดโลกกำลังมีความต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

นอกจากนี้ภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังมีอัตราการเติบโตที่ถือว่าค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยไปยังตลาดโลกขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ต่อปี ในขณะที่เวียดนามขยายตัวถึงระดับประมาณ 20% ต่อปี ส่วนมาเลเซียขยายตัวถึง 7% ต่อปี

 

นอกจากนี้หากพิจารณาการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งยังพบว่า สินค้าของไทยส่งออกมากที่สุด 2 อันดับแรก คือกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงจากตลาดโลกที่กำลังมีความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ในขณะที่เวียดนามกับมาเลเซียปรับตัวมุ่งไปผลิตกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น กลุ่มชิป สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

 

เจาะข้อจำกัดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย

 

โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้จำกัดมีอยู่ 3 ปัจจัย ดังนี้ 

 

  1. การลงทุน FDI ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยที่ยังมีการลงทุนขยายตัวค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยจากข้อมูลการลงทุน FDI กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนในปี 2023 ระบุว่า การมีลงทุน  FDI ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนมากกว่า 50% ยังอยู่ในประเทศมาเลเซีย เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีการลงทุน FDI ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนซึ่งมีสัดส่วนเพียง 13% ของทั้งหมดเท่านั้น

 

  1. การขาดการพัฒนาและวิจัยในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ โดยในปี 2022 ระบุว่า ไทยส่งออกอุปกรณ์ชิปในระดับต้นน้ำและกลางน้ำด้วยสัดส่วนเพียง 1.7% ของสัดส่วนการส่งออกทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

  1. การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะสูง เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ จึงไม่สามารถดึงดูดความสนใจของเงินทุนจากต่างประเทศได้ เปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย ที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนโดยทุ่มงบประมาณพัฒนาแรงงานทักษะสูง รวมถึงเปิดให้กลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพเข้ามาลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานเพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุน

 

เปิดทางรอด อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย

 

แม้จะมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่รุนแรงในอาเซียน แต่มองว่าไทยยังมีความหวังในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันเพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งขึ้น เพื่อรักษาฐานการผลิตสินค้าในกลุ่มเดิมที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มเครื่องปรับอากาศ กลุ่มแผงวงจรรวมหรือกลุ่มชิป ในขณะเดียวกัน ไทยควรลดการผลิตกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ เช่น กลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รุ่นเก่าที่มีความจุน้อย และเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีความจุเพิ่มขึ้นและมีขนาดเล็กลง

 

อีกทั้งควรหันไปเริ่มการลงทุนในกลุ่มโซลิดสเตทไดรฟ์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ของทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงปรับตัวและพัฒนาในสิ่งที่ขาดโดยวางแผนกลยุทธ์หลักใน 4 ประเด็นดังนี้

 

  1. เน้นลงทุนเพื่อขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียว ตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต และบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม

 

  1. พัฒนาและส่งเสริมกลุ่มแรงงานทักษะสูงตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตรเริ่มตั้งแต่สถาบันการศึกษา เพื่อให้สอดรับความต้องการของตลาดโลก เช่น บุคลากรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์  
  2. ส่งเสริมด้านการวิจัยและการลงทุนเพื่อปรับตัวมุ่งไปสู่กลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงได้ โดยไทยต้องรักษาบทบาทในการเป็นฐานการประกอบกลุ่มอุตสาหกรรมวงจรชีวิตที่มีอยู่เดิมเอาไว้ และพัฒนาต่อยอดผลิตชิปไปยังกลุ่มต้นน้ำมากขึ้น รวมทั้งตั้งศูนย์วิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์ และปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานของแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกลุ่มบริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาและกลุ่มสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่มากขึ้น

 

นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งด้านดิจิทัลและพลังงาน ทั้งระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G เพื่อรองรับเทคโนโลยี AI รวมถึงใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลกับเอกชนที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนในอนาคตของไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X