หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า รับข่าวเชิงบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่าราว 1.2% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ Fed ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ทำให้เงินไหลเข้าสู่สกุลเงินดอลลาร์อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน โลหะทองแดงซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ปรับตัวลดลง เป็นผลสืบเนื่องจากทางการของจีนลดการถือครองสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมทั้งทองแดง เพื่อลดความร้อนแรงด้านราคา
- KCE ราคาอยู่ที่ 73.50 บาท +4.63%
- HANA ราคาอยู่ที่ 67.25 บาท +1.51%
- DELTA ราคาอยู่ที่ 548 บาท +3.40%
- CCET ราคาอยู่ที่ 3.52 บาท +2.92%
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ดอลลาร์แข็งค่าแรงกดดันหุ้น Commodity แต่ก็หนุนเงินบาทอ่อนค่าแรงเช่นกัน ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นส่งออก โดยสืบเนื่องจากการประชุม Fed ที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิมที่คาด สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินไหลเข้าสู่ค่าเงินสกุลดอลลาร์ สะท้อน Dollar Index แตะ 92 จุด แข็งค่ามากสุดตั้งแต่เดือนเมษายน 2564
ผลกระทบจากดอลลาร์ที่แข็งค่า ฝ่ายวิจัย ASPS ประเมินผลกระทบ 2 ส่วน คือ 1. ค่าเงินสกุลเงินต่างประเทศต่างๆ อ่อนค่าในเชิงเปรียบเทียบไปในในทิศทางเดียวกัน และมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ โดยเฉพาะค่าเงินบาท/ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าอยู่ที่ 31.4 บาท อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 1 เดือน นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ (Wtd)
การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าราว 1.2% ดีต่อภาคส่งออก และถือเป็น Sentiment เชิงบวก น่าจะทำให้เกิดการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ (KCE, DELTA, HANA), กลุ่มยานยนต์ (AH, SAT), กลุ่มเกษตรและอาหาร (STA, STGT, NER, TFG, CPF) และกลุ่มส่งออกเหล็ก (MCS)
2. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถูกกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่าแรง และจากข่าวในช่วงกลางสัปดาห์นี้คือ จีนประกาศว่าควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองแดง อะลูมิเนียม จะใช้ทองแดงภายในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยรวมทั้งหมดถือเป็นปัจจัยกดดัน สะท้อนได้จากราคา Soft Commodity ปรับลงแรงไปในทิศทางเดียวกัน
ฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า ราคาโภคภัณฑ์ปรับฐานถูกกดดันเพิ่มเติมจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ซึ่งแถลงว่า จีนจะยังคงระบายสต๊อกโลหะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ ทองแดง อะลูมิเนียม และสังกะสี จากคลังสำรองแห่งชาติต่อไป ส่งผลให้ราคาทองแดง อะลูมิเนียม ลดลง -3.64% และ -2.81% ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน สัญญาณ Dollar Index แข็งค่า ถ่วง Risk Asset และราคาโภคภัณฑ์ปรับฐาน กดดันตลาดหุ้น กลยุทธ์แนะ Selective รายกลุ่ม เน้น Earnings กลุ่มส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า-ต้นทุนลดจากราคาโภคภัณฑ์ที่จีนควบคุม กลุ่ม SET50-100 กลุ่มประกัน และ Re-opening ขณะที่คงน้ำหนักการลงทุนที่ 50%
ทั้งนี้ ได้เลือก KCE เป็นหนึ่งใน Top Pick โดยรับปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาทอ่อนค่า และแนวโน้มผลประกอบการดีจากกรฟื้นตัวของความต้องการกลุ่มรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
KCE ในภาพรวมธุรกิจยังดีมาก คำสั่งซื้อปัจจุบันเพียงพอถึงเดือนพฤศจิกายนแล้ว ตามกลุ่มลูกค้ารถยุโรปที่มีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ และเพื่อปิดความเสี่ยงในภาวะเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน ขณะที่บริษัทเตรียมเริ่มปรับราคากว่า 5% ตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เพื่อชดเชยผลกระทบจากทองแดงสูงขึ้น
มองกำไรไตรมาส 2/64 ราว 559 ล้านบาท เพิ่มทั้ง YoY, QoQ และมองกำไรทั้งปี 2.2 พันล้านบาท +103%YoY จากยอดขายปี 2564 โตกว่า +28% และอัตรากำไรที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ KCE ยังถูกนำเข้า SET50 มีผล 30 มิถุนายนนี้ อีกทั้งจีนมีมาตรการชะลอความร้อนแรงของโภคภัณฑ์ (รวมทองแดง) โดยการลดการถือครองในแหล่งสำรอง เป็นสัญญาณบวกต่อต้นทุนทองแดงของ KCE ช่วงถัดไป ในภาวะที่ปรับราคาขายขึ้นมาได้แล้ว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล