×

มองปัจจุบันสะท้อนภาพอนาคตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเทศไทย

01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ปัจจุบันภาครัฐบาลไทยและกระทรวงพลังงานกำลังผลักดันนโยบายพลังงานไทย 4.0 อย่างหนัก เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็นสมาร์ตซิตี้ (Smart City) ภายในระยะเวลา 19 ปีข้างหน้า หรือในปี 2579 โดยตั้งเป้าไว้ว่า ประเทศจะเปลี่ยนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปพึ่งพาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และ ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ก็เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของแผนการดำเนินการดังกล่าว โดยรัฐตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2579 ไทยจะต้องมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนให้ได้มากถึง 1.2 ล้านคัน
  • ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมองว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรทำในตอนนี้คือ การสร้างระบบนิเวศและวางโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้แน่นเสียก่อน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเร่งสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
  • หลังจากที่สร้างระบบนิเวศและวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว ขั้นตอนในการเป็นฐานทัพการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องจากภาคผู้ผลิตรถยนต์จะกล้ามาลงทุนในตลาดนี้มากยิ่งขึ้น และต่อไปในอนาคตข้างหน้า หากเราสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง ต้นทุนในการผลิตรถยนต์พลังงานสะอาดเช่นนี้ก็จะมีราคาถูกตามลงไปด้วย

     ไม่ว่าจะเหลียวมองไปที่ประเทศใด กระแสความสนใจเรื่อง ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV)’ ก็กลายเป็นวาระที่หน่วยงานในหลายๆ ประเทศต่างให้ความสำคัญและลงทุนพัฒนาอย่างจริงจังไปเสียหมด เพราะนอกจากจะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์ได้แล้ว พลังงานไฟฟ้าก็ยังเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

     ประเทศอย่างญี่ปุ่นที่นอกจากจะเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ในเวทีโลกแล้ว พวกเขายังเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่เห็นความสำคัญของรถยนต์พลังงานสะอาดรูปแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ผ่านนโยบายของรัฐบาลที่รณรงค์ส่งเสริมให้พลเมืองในประเทศหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แลกกับการลดหย่อนภาษีราคารถและภาษีประจำปี

     ฝั่งค่ายผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็เริ่มหันมาตีตลาดผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าน้อมรับกระแสโลกมากขึ้น เช่นเดียวกันกับที่บางค่ายเริ่มกดสูตรข้ามช็อตหันไปพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ (Self-driving cars) กันแล้ว

     เมื่อมองกลับมาที่บ้านเรา ถึงแม้ใครต่อใครอยากจะประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสุดล้ำ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า (EV Station) ที่พบเห็นได้น้อยมากๆ หรือราคารถยนต์ประเภทนี้ที่แพงหูฉี่ โอกาสที่ใครหลายคนจะได้เป็นเจ้าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็ดูจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

     แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำไปสู่คำถามที่หลายๆ คนคงรู้สึกคลางแคลงใจไม่ต่างกันคือ ‘ประเทศไทยมีนโนบายที่จะส่งเสริมการใช้และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าบ้างหรือไม่?’

     คำตอบคือ ‘มี’ โดยปัจจุบันภาครัฐบาลไทยและกระทรวงพลังงานกำลังผลักดันนโยบายพลังงานไทย 4.0 อย่างหนักเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็น  สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ภายในระยะเวลา 19 ปีข้างหน้า หรือในปี 2579

     โดยรัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ว่าประเทศจะเปลี่ยนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปพึ่งพาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมได้ และแน่นอนว่า ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ก็เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของแผนการดำเนินการดังกล่าวด้วย โดยรัฐตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2579 ไทยจะต้องมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนให้ได้มากถึง 1.2 ล้านคัน

     แล้วขั้นตอนการเดินทางสู่ประเทศไทยเวอร์ชันสมาร์ตซิตี้ โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?

 

ไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบเกื้อหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

     เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และกองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ได้ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาในหัวข้อ ‘Create The Future Energy : อนาคตพลังงานไทย 4.0’ โดยมี ดร. ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, ดร. พิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด เข้าร่วมเป็นวิทยากรให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับทิศทางความเป็นไปของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

     ประเด็นสำคัญที่วิทยากรทั้งหลายลงความเห็นไม่ต่างกันคือ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยควรจะสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้แน่นเสียก่อน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเร่งสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่สนใจยานยนต์พลังงานไฟฟ้าว่า หากพวกเขาซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้ ก็จะมีสถานีชาร์จพลังงานรองรับการใช้งานตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ

     ในขณะเดียวกัน เมื่อดีมานด์ของยานยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้น อุปทานก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย พลอยทำให้ภาคผู้ผลิตรถยนต์เกิดความเชื่อมั่นและกล้ามาลงทุนในตลาดนี้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและประกอบรถยนต์เบอร์ต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียนเช่นนี้ นายสมโภชน์มองว่า เราจึงยิ่งไม่ควรปล่อยโอกาสในการครองตำแหน่งฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญให้หลุดลอยไปเป็นอันขาด โดยเจ้าตัวยังเชื่ออีกด้วยว่า ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ (Electric Vehicle) วิ่งอยู่บนท้องถนนมากถึง 70% เลยทีเดียว

 

มาตรการสนับสนุนเพื่อการสร้าง EV Station โดยหน่วยงานต่างๆ

     จากการเปิดเผยโดย ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าประมาณ 100 กว่าแห่งตามสถานที่สาธารณะทั่วไป เช่น ห้างสรรพสินค้าและลานจอดรถ โดยตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ กรุงเทพฯ จะต้องมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 200 กว่าแห่งให้ได้ โดยที่ปัจจุบันกระทรวงพลังงานก็มีนโยบายในการสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าประมาณ 30% ของต้นทุนเช่นกัน

     นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ได้เปิดเผยมาตรการเบื้องต้นในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเร่งสร้างสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าเบื้องต้น ดังนี้

  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีสำหรับผู้ประกอบการ
  • ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

     โดยมีข้อแม้ว่าผู้ประกอบการรายดังกล่าวจะต้องไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานอื่น และต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 นี้ นอกจากนี้สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่สร้างก็จะต้องเสนอแผนพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) โดยจะต้องมีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 หัวจ่าย และเป็นระบบชาร์จเร็ว 1 หัวจ่าย รวมถึงต้องได้รับมาตรฐาน ISO 18000 ภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม

     ส่วนผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรายใดที่สนใจจะลงทุนสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า ก็สามารถติดต่อที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้เหมือนกัน

     ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟจากผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายเจ้ายังเปิดให้ทดลองใช้ฟรีอยู่ แต่จะมีอัตราค่าไฟกลางที่การไฟฟ้าจะขายปลีกให้กับผู้ประกอบการแต่ละเจ้า ซึ่ง ดร. ทวารัฐ เปิดเผยว่า ในช่วงแรกๆ นี้จะยังไม่มีมาตรการกำหนดราคากลางในการใช้บริการชาร์จไฟฟ้า แต่ในกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็ต้องกำหนดราคาโดยเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ให้ดี มิเช่นนั้นก็อาจจะเป็นดาบสองคมหากค่าบริการชาร์จไฟไม่แตกต่างจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ มากนัก

     ด้านหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,292 วันที่ 31 สิงหาคม – 2 กันยายน 2560 รายงานว่า ‘บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด’ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงและพันธมิตรอีก 22 ราย ในการเร่งสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อและใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และแบบรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่จำนวน 1,000 สถานีภายในปี 2561

     นายสมโภชน์ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจว่า “EA Anywhere ไม่ได้ลงทุนเฉพาะสถานีชาร์จ แต่เริ่มสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมเพื่อกักเก็บไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายใหญ่ในการขายแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าลิเธียม”

     สำหรับ EA Anywhere ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้ารายต้นๆ ในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีจุดบริการอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น GA North และสยามคาร์พาร์ก ชั้น GB


เสริมมาตรการขั้นต่อไปด้วยการเป็นแหล่งศึกษาการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าด้วยตัวเอง

     ดร. พิมพา นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า สาเหตุของปัญหาที่ทำให้ราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังคงแพงจนไกลเกินเอื้อมมาจากการที่ ‘แบตเตอรี่ที่ใช้ในการกักเก็บประจุ’ สำหรับรถยนต์ประเภทดังกล่าวยังมีราคาแพงอยู่ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณกว่า 60% ของราคารถยนต์เสียด้วยซ้ำ! แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีแนวโน้มว่าราคาแบตเตอรี่ดังกล่าวจะลดลงอย่างรวดเร็ว

     ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งของเวทีสัมนา นายสมโภชน์ได้ยกตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจของโมเดลการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน โดยบอกว่า “จุดเริ่มต้นที่ทำให้จีนเข้ามาในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและการผลิตแบตเตอรี่มาจากนโยบายที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะต้องเป็นผู้นำและเจ้าตลาดรถยนต์ให้ได้ภายใน 10-20 ปีข้างหน้า แต่เมื่อมาวิเคราะห์เรื่องแบรนด์และเทคโนโลยีดูแล้ว จีนพบว่าตัวเองยังคงตามหลังค่ายผู้ผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น พวกเขาจึงยกเอาวิกฤตด้านปัญหามลพิษและกำลังซื้อของตลาดในประเทศมาเป็นแรงขับเคลื่อนและโอกาสในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแทน เพื่อที่จะครองตลาดนี้ให้ได้

     “และเมื่อเขาทราบว่าผู้พัฒนาภายในประเทศไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ รัฐบาลจีนจึงออกกฎว่า แบตเตอรี่ของรถยนต์ในประเทศรุ่นใดไม่ได้ผลิตโดยผู้ผลิตในจีนที่ได้รับการรับรอง ก็จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ก็สนับสนุนให้มีการจัดตั้งหน่วยงาน ‘กั๋วเหลียน’ ด้วยทุนมหาศาล โดยกั๋วเหลียนมีหน้าที่พัฒนาแบตเตอรี่ภายในประเทศให้ทัดเทียมแบตเตอรี่ที่ผลิตในญี่ปุ่นและเกาหลีให้เร็วที่สุด ก่อนที่พวกเขาจะถูกองค์การการค้าโลกมาบังคับให้เปิดตลาด”

     นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นายสมโภชน์ตัดสินใจซื้อกิจการของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (Amita Technologies) ค่ายผู้พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชั้นนำในประเทศจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด เพื่อสร้างทางลัดในการนำความรู้และวิทยาทานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาต่อยอดให้กับ EA Anywhere เพื่อเป้าหมายผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าลิเธียมในอนาคต

     ฝั่งนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยอย่าง ดร. ยศพงษ์ มองว่า การที่ไทยจะกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยาก แต่รัฐบาลจะต้องทำให้ประเทศมีระบบนิเวศที่พร้อมเพรียงและสมบูรณ์ต่อการผลิตเทคโนโลยีดังกล่าว เมื่อถึงเวลานั้น การแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินความเป็นจริงแต่อย่างใด

     ขณะที่นายโชคดี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้แจ้งสถานการณ์เพิ่มเติมว่า ในตอนนี้มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น, จีน, สหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรปจำนวนทั้งหมด 4 เจ้า ที่ให้ความสนใจเข้ามาปรึกษาในกรณีการลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชื่อดังโดย อีลอน มัสก์ อย่าง Tesla ทาง BOI ก็ได้มีการพูดคุยหารือเช่นกัน แต่การเจรจายังไม่เป็นบรรลุเป้าประสงค์ตามที่ควร

     เมื่อพินิจพิเคราะห์ตามภาพรวมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงแรกของการผลัดใบสู่การสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบในการเกื้อหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจริงๆ ดังนั้น อย่างที่หลายฝ่ายได้กล่าวไปในตอนต้น สิ่งที่เริ่มทำได้ง่ายและดำเนินการได้รวดเร็วที่สุดในตอนนี้คือ การเร่งสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ให้มากขึ้นเสียก่อน

     ในช่วงปีที่ผ่านมา The Guardian ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า หนึ่งในประเทศผู้นำเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างญี่ปุ่น ก็รุดหน้าด้านการเพิ่มสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าไปมาก โดยตอนนี้พวกเขามี EV Station มากถึง 40,000 แห่งทั่วประเทศ แถมมีมากกว่าสถานีบริการน้ำมันที่มีเพียง 35,000 จุดเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้ไปเยือนจังหวัดมิยาซากิ (Miyazaki) ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน โดยพบว่าถึงแม้มิยาซากิจะเป็นชนบท แต่พวกเขาก็มีจุดให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าอยู่มากมายกระจายตามส่วนต่างๆ ของเมือง

     นี่คงเป็นหนึ่งในวิธีที่ญี่ปุ่นสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งตัวผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ส่วนโอกาสที่เราจะได้เป็นเจ้าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้จะมีมากน้อยเพียงใด? ไทยดีพอที่จะเป็นฐานทัพการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าหรือไม่? ที่สุดแล้วก็คงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบขึ้นมาตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือเปล่านั่นเอง

 

อ้างอิง:

FYI

     สถานีบริการน้ำมันอย่าง ปตท. และ บางจาก ก็มีนโยบายส่งเสริมให้ติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่หรือ EV Station ภายในสถานีบริการน้ำมันบางสาขาเช่นกัน

     เทคโนโลยีของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันสามารถจำแนกประเภทของรถออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานผสมระหว่างเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานไฟฟ้าจากการกักเก็บของประจุแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่ารถยนต์ปกติทั่วไป
  • รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) ยานยนต์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด โดยที่สามารถใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานไฟฟ้าได้พร้อมๆ กัน ซึ่งแบตเตอรี่ที่ใช้ก็สามารถชาร์จไฟเพิ่มเพื่อกักเก็บประจุตามต้องการได้
  • รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) เป็นรถยนต์พลังงานสะอาดที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบบ 100% เป็นเชื้อเพลิงในการเคลื่อนที่ จึงทำให้ไม่เกิดการปล่อยมลพิษทางอากาศ โดยมีข้อเสียอยู่ที่ระยะทางการวิ่งที่จำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ และยังต้องอาศัยการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บประจุพลังงานไฟฟ้าในทุกๆ ครั้งที่ใช้งาน

      ข้อมูลจากปี 2016 ระบุว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ทั่วประเทศประมาณ 9,000 แห่ง น้อยกว่าสถานีบริการน้ำมันที่มีมากถึง 114,500 สาขาทั่วประเทศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X