วันนี้ (9 ธันวาคม) ตามที่มีการนำเสนอข่าวเครือข่ายยาเสพติดในประเทศใกล้เคียงใช้ไฟฟ้าจากประเทศไทย ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้เครือข่ายยาเสพติดดังกล่าวยังใช้บัญชีม้าจำนวนมากมาใช้ชำระค่าไฟฟ้าตามสัญญาการซื้อขายของบริษัทเอกชนในประเทศไทยกับ PEA ซึ่งผิดวิสัยการชำระหนี้กับหน่วยงานเป็นอย่างมาก
PEA ขอชี้แจงว่า การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ณ จุดซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน มีบริษัท Allure Group (P&E) จำกัด เป็นคู่สัญญา ได้รับสิทธิสัมปทานการซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคงของไทยแล้ว ก่อนจะส่งไฟฟ้าต่อไปยังคณะกรรมการการไฟฟ้าเมืองท่าขี้เหล็กเป็นผู้จำหน่ายให้ประชาชนในพื้นที่ สถานศึกษา ศาสนสถาน และสาธารณสุข
ในส่วนของการชำระเงิน บริษัท Allure Group (P&E) จำกัด ชำระเงินผ่านเช็คสั่งจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าตามใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าของ PEA มาโดยตลอด ทั้งนี้ ในช่วงเกิดภาวะโรคระบาดโควิดมีการปิดด่านข้ามแดนอำเภอแม่สาย-เมืองท่าขี้เหล็ก ทำให้บริษัทไม่สามารถนำเช็คมาจ่ายให้ PEA ได้ โดยบริษัทแจ้ง PEA ว่าจะขอชำระโดยวิธีโอนผ่านธนาคาร
แต่เนื่องจากธนาคารของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามีข้อจำกัดในการโอน บริษัทจึงใช้บริการจากบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตราเอกชน โดยบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตราเอกชนดังกล่าวได้โอนเงินผ่านบัญชีหลายบัญชี เพื่อให้ได้วงเงินตามใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าของ PEA ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติตามปกติของธุรกิจในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทำให้เป็นที่มาของการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่ามีการโอนเงินผ่านบัญชีม้าที่เกี่ยวพันกับยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องบริษัท Allure Group (P&E) จำกัด ในคดีดำที่ ย1249/2565 และคดีแดงที่ ย84/2567
ต่อมาภายหลังจากมีการเปิดด่านอำเภอแม่สาย-เมืองท่าขี้เหล็ก บริษัทมอบอำนาจให้คณะกรรมการการไฟฟ้าท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลของเมืองท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้เป็นผู้ชำระค่าไฟฟ้าแทน โดยคณะกรรมการไฟฟ้าท่าขี้เหล็ก ชำระเงินผ่านการประสานงานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย-เมียนมา เพื่อฝากเข้าบัญชีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สาย ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากด่านศุลกากรแล้ว เนื่องจากยังมีหลักประกันการใช้ไฟฟ้าครอบคลุมวงเงินค่าไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าไปยังประเทศใกล้เคียงเป็นรูปแบบภาครัฐต่อภาครัฐ (G to G) ซึ่ง PEA จะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้เพียงกับหน่วยงานภาครัฐหรือนิติบุคคลที่ได้รับสัมปทานอนุญาตการซื้อขายไฟฟ้าจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม PEA พร้อมดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าหากตรวจพบการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ