×

ผ่าแผน EA กับฝันอันยิ่งใหญ่ ยกเครื่องระบบขนส่งสาธารณะไทยด้วยธุรกิจ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)’

22.08.2022
  • LOADING...
ยานยนต์ไฟฟ้า

HIGHLIGHTS

  • ในปี 2030 มีการคาดการณ์ว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะคิดเป็นประมาณ 30-40% ของยอดขายยานยนต์ทั่วโลก จากปี 2019 ที่คิดเป็นเพียง 2.5% 
  • ในมุมของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ดูเหมือนว่าโอกาสในธุรกิจ EV จะอยู่ที่ยานยนต์เชิงพาณิชย์ ด้วยเทคโนโลยีอย่าง Ultra Fast Charge ที่คิดค้นขึ้นมา
  • เป้าหมายหนึ่งของ EA คือการยกระดับ ‘ระบบขนส่งมวลชน’ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรือ รถเมล์ และรถไฟ 
  • ความฝันของผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง EA อย่าง สมโภชน์ อาหุนัย คืออยากจะเห็น EA เป็นเหมือนบริษัท Apple ของเมืองไทย 

ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือที่หลายคนเรียกกันสั้นๆ ว่า EV เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงเวลานี้ ท่ามกลางเทรนด์ของการมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่สิ่งแวดล้อม 

 

ข้อมูลจาก Robeco บริษัทวิจัยเกี่ยวกับเทรนด์ของผู้บริโภคคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็นประมาณ 30-40% ของยอดขายยานยนต์ทั่วโลก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากสัดส่วน 2.5% เมื่อปี 2019 

 

สำหรับหนึ่งในบริษัทของไทยที่รุกเข้าสู่ธุรกิจ EV อย่างจริงจังมากที่สุดบริษัทหนึ่ง คือ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ซึ่งพยายามขยายการลงทุนเพื่อให้ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศของ EV 

 

ที่ผ่านมา EA เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ของตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ EV ก่อนจะขยายการลงทุนในส่วนของสถานีชาร์จ และเข้าสู่การผลิตตัวยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการโดยสารและขนส่ง 

 

อย่างไรก็ดี การกระโดดเข้าสู่ธุรกิจ EV ของ EA อาจจะแตกต่างไปจากบริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆ ที่เน้นการลงทุนในรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล แต่สำหรับ EA ดูเหมือนว่าโอกาสของบริษัทจะอยู่ที่ยานยนต์เชิงพาณิชย์ และระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ

 

THE STANDARD WEALTH ร่วมพูดคุยกับ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA เกี่ยวกับทิศทางธุรกิจ EV ของบริษัท พร้อมทั้งฉายภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะไทย 

 

โครงสร้างพื้นฐานที่ดีพร้อมสำหรับธุรกิจ EV 

“ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าคนอื่น ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าที่เรามีกำลังการผลิตกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในช่วงที่พีคที่สุดที่เพียง 3 หมื่นเมกะวัตต์ ถือเป็นไม่กี่ประเทศที่กำลังการผลิตยังไม่ได้ถูกใช้เยอะมาก” สมโภชน์เริ่มต้นฉายภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย

 

ขณะที่ระบบสายส่งไฟฟ้าของไทยถือว่าครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ส่วนสำคัญที่ยังมีไม่เพียงพอในขณะนี้คือสถานีชาร์จระหว่างเมืองสำหรับการเดินทางระยะไกล หรือจุดที่มีความต้องการสูงในบางพื้นที่

 

แต่การที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ไม่ถูกนำไปใช้ในสัดส่วนที่มาก เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยแพง เพราะเรามีต้นทุนคงที่ของกำลังการผลิตไฟฟ้า 5 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ใช้งานจริงเพียงแค่ราว 60% 

 

ฉะนั้นแล้ว การพัฒนาของอุตสาหกรรม EV ในปัจจุบัน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยให้การผลิตไฟฟ้าของไทยทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

EA กับเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Ultra Fast Charge

“EA มีเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Ultra Fast Charge ซึ่งเราจดสิทธิบัตรไว้ทั่วโลก เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เราชาร์จไฟได้ภายในเวลา 15-20 นาที ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก หรือแม้แต่เรือไฟฟ้าที่เราให้บริการอยู่” 

 

ไม่เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ EA เน้นพัฒนาเทคโนโลยี EV ทั้งระบบ ตั้งแต่แบตเตอรี่ ตัวรถ หัวชาร์จ เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยี Ultra Fast Charge จะเห็นว่า EA ไม่ได้เน้นการซื้อของมาติดตั้ง แต่เป็นการวิจัย พัฒนา ออกแบบ ผลิต และให้บริการด้วยตัวเอง 

 

หลังจากบริษัทพัฒนาเทคโนโลยี Ultra Fast Charge ขึ้นมา ทำให้เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะยานยนต์เหล่านี้ต้องการพลังงานมาก และไม่ต้องการจอดรอนาน ทำให้เราพยายามนำเทคโนโลยีที่ว่านี้เข้าไปในยานพาหนะหลายๆ อย่าง และหนึ่งในนั้นคือรถประจำทาง หรือ ‘รถเมล์’

 

ขยายธุรกิจ EV สู่ระบบขนส่งมวลชนของไทย 

หลังจากที่ให้บริการเรือไฟฟ้ามา 7-8 เดือน ก่อนที่ EA จะเข้าลงทุนใน บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เพื่อให้บริการเดินรถเมล์ ไม่เพียงแค่นั้น EA ยังได้เข้าลงทุนใน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ในสัดส่วนราว 23% แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ แต่อีกขาธุรกิจหนึ่งของ BYD คือการให้บริการเดินรถเมล์

 

ปัจจุบันสมาร์ทบัสมีสัมปทานเดินรถเมล์รวม 43 เส้นทาง ขณะที่ BYD มีเส้นทางเดินรถอยู่ 85 เส้นทาง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ไทยมีแผนปฏิรูปรถเมล์ โดยมีการศึกษาวิจัยว่ากรุงเทพฯ ควรจะมีรถเมล์กี่เส้นทาง ซึ่งโดยสรุปแล้วน่าจะมีราว 270 เส้นทาง 

 

เงื่อนไขสำคัญของแผนปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้คือ ผู้ที่จะได้รับสัมปทานเส้นทางเดินรถไม่ว่าจะเป็นรายใหม่หรือรายเก่า จะต้องปรับปรุงรถและปรับการให้บริการให้มีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์หลายราย และมีเส้นทางเหลือตกมาถึงมือบริษัทหน้าใหม่

 

สมาร์ทบัสเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเดิมที่ได้สัมปทานมา 43 เส้นทาง EA จึงเข้าไปซื้อกิจการ ส่วน BYD ได้สัมปทานใหม่มาเพิ่ม 77 เส้นทาง รวมกับ 8 เส้นทางที่มีอยู่เดิม และเมื่อรวมกับเรือ จะทำให้ทั้งหมดนี้กลายเป็นเน็ตเวิร์กที่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้น่าจะต้องใช้รถเมล์ไฟฟ้าเกือบ 4,000 คัน 

 

ทั้งนี้ บริษัทจะเริ่มให้บริการรถเมล์ไฟฟ้าสายแรกในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 คือสาย 8 

 

“หากเราทำตรงนี้ได้ และนำระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปใช้ จะช่วยให้คนเดินทางจากเส้นทางหนึ่งไปต่ออีกเส้นทางหนึ่งโดยที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม มันจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เรามีรถใหม่ มีการบริการที่ดี และช่วยให้ประชาชนทั่วไปประหยัดเงินได้เพิ่มขึ้น”  

 

ความท้าทายของการลงทุนในครั้งนี้ 

การลงทุนรอบนี้อาจจะใช้เงินลงทุนระดับ 1-2 หมื่นล้านบาท สำหรับส่วนของรถเมล์และสถานีชาร์จ หลายคนอาจมีคำถามว่าบริษัทจะทำอย่างไรให้การลงทุนครั้งนี้เป็นไปได้จริงหรือมีกำไร

 

สมโภชน์ให้มุมมองว่า นอกจากเงินลงทุนที่เป็นต้นทุนคงที่แล้ว โครงการนี้ยังมีต้นทุนผันแปรที่สำคัญคือ ราคาพลังงานและบุคลากร 

 

ส่วนของพลังงาน การที่นำเทคโนโลยี EV เข้ามาใช้ ทำให้ต้นทุนพลังงานลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 เทียบกับการใช้น้ำมัน ทำให้บริษัทสามารถนำส่วนของต้นทุนที่ลดลงนี้ไปใช้รีไฟแนนซ์รถ 

 

ส่วนบุคลากร เราต้องการที่จะเพิ่มคุณภาพคนขับรถ จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มรายได้ให้กับคนขับรถ ซึ่งทำให้ต้นทุนของโครงการเพิ่มขึ้นด้วย แต่สิ่งที่จะเข้ามาชดเชยคือการลดจำนวนบุคลากรต่อรถ แทนที่จะมีกระเป๋ารถเมล์ 1 คัน คนขับ 1 คน ก็เหลือเพียงคนขับรถแค่คนเดียว และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทน 

 

“เมื่อรถเมล์เปลี่ยนเป็นไฟฟ้า จะทำให้เราติดตามได้ตลอดว่ารถอยู่ที่ไหน ขับเร็วหรือไม่ จอดตรงป้ายหรือไม่ หากคนขับสามารถทำตามมาตรฐานได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น” 

 

ส่วนของเรือไฟฟ้าปัจจุบันมีเรือ 27 ลำ ซึ่งยังไม่เพียงพอ จึงต้องต่อเรือเพิ่มอีก 17 ลำ จะช่วยให้เราให้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้ทุกๆ 5 นาที และรองรับการใช้บริการ 3-4 หมื่นคนต่อวัน 

 

ปัจจุบันต้องยอมรับว่ารายได้จากธุรกิจนี้ยังไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งเพราะโควิด และการพยายามทำให้เป็นระบบชำระเงินไร้เงินสด ขณะที่เรือโดยสารยังมีจุดจอดที่ไม่ครอบคลุมทุกท่าน้ำ ทำให้เราได้ส่วนแบ่งเพียง 30% แต่เมื่อเรามีเครือข่ายของรถเมล์และเรือเพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ช่วยกำหนดเพดานของค่าโดยสาร สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การประหยัดจากขนาด (Economy of Scale)

 

“มันเป็นจุดเปลี่ยนพอดี และเราเข้ามาในเวลาที่เหมาะสม จึงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ถ้าไม่เกิดวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา ก็คงไม่สามารถรวบรวมเส้นทางมาได้ แต่หลายคนก็อาจจะมีคำถามว่า ที่ผ่านมาทำไมผู้ที่ให้บริการถึงไม่มีกำไร แล้วเราจะทำได้อย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้ามาของ EV” 

 

ในมุมของความเสี่ยงมี 2 ส่วนที่สำคัญ ประการแรกคือ เทคโนโลยีที่พัฒนา แม้ว่าบริษัทจะทดสอบมาก่อนแล้ว แต่ขณะนี้เรากำลังจะขยายการให้บริการเป็นหลักพันคัน ถือเป็นความเสี่ยงของการเร่งขยายธุรกิจ (Scale up) 

 

ประการที่สองคือ การประเมินรายได้และต้นทุนจากข้อมูลในอดีต แต่หลังจากเกิดโควิดพฤติกรรมคนอาจจะเปลี่ยน และประชาชนก็มีทางเลือกมากขึ้น อย่างเช่น รถไฟฟ้า แต่ในมุมของเรืออาจจะได้ประโยชน์จากการตัดผ่านรถไฟฟ้า 5 สถานี 

 

“การบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดีสุดคือ บริการ ถ้าเราบริการดีน่าจะทำให้ความเสี่ยงลดลง” 

 

ขยายธุรกิจ EV สู่ระบบราง 

EA ศึกษาเรื่องนี้ราว 1 ปีครึ่ง พร้อมกับลงนาม MOU กับบริษัทด้านรถไฟยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง China Railway Construction Corporation เพื่อร่วมพัฒนาหัวรถไฟที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนพลังงานที่ลดลงราว 50% แทนการใช้น้ำมัน 

 

ปัจจุบันหัวรถไฟคันแรกได้ร่วมกันผลิตและนำเข้ามาในไทยแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างทดสอบขั้นสุดท้าย และในอีก 1-2 เดือน จะเริ่มทดสอบการใช้งาน

 

“หากเราทำส่วนนี้สำเร็จ จะไม่ได้มีตลาดที่ใหญ่มาก เพียงแค่ประเทศไทย สำหรับทางรถไฟรางคู่ที่กำลังก่อสร้างกันอยู่นี้ ต้องใช้หัวรถจักรถึง 1,000 หัว ซึ่งมูลค่าตลาดระดับแสนล้านบาท หรือแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี จะเห็นว่าเส้นทางวิ่งของรถไฟเกือบ 60% ยังไม่มีสายไฟด้านบน และยังใช้น้ำมันดีเซลวิ่งอยู่”  

 

สิ่งที่ EA คาดหวังจากการนำรถไฟไฟฟ้าเข้ามาเติมเต็มคือ การเป็นระบบขนส่งมวลชนในเมืองรองทั่วประเทศไทย ซึ่งรถไฟไฟฟ้าจะช่วยลดต้นทุนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการสร้างระบบขนส่งในต่างจังหวัด และจะช่วยให้ความเจริญกระจายออกไปมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของโครงการเหล่านี้ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงเป็นความท้าทายที่จะทำให้ลูกค้าพอใจ รวมทั้งหน่วยงานกำกับก็ต้องพอใจด้วย

 

“ผมอาจจะโชคดีที่คิดมาเป็นระบบ เริ่มทำจากของเล็กให้คนเห็นว่าทำได้ และค่อยขยับไปทำของที่ใหญ่ขึ้น โดยหาพันธมิตรที่มีความสามารถมาร่วมกัน ถ้าเราสามารถบริหารจัดการลูกค้าให้เข้าใจ บริหารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน จะช่วยให้โครงการเกิดขึ้นได้” 

 

ความฝันของ EA ผ่านธุรกิจ EV 

สิ่งที่ EA อยากทำวันนี้คือ เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยเฉพาะกับประชาชนในระดับกลางและระดับล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ และมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันมาก 

 

เราจึงอยากได้การสนับสนุน ความมั่นใจจากภาครัฐ เพราะด้วยกฎเกณฑ์ที่มีบางส่วน ทำให้เราทำงานค่อนข้างยาก แต่จากการที่เราพยายามและตั้งใจทำ ทำให้คนเริ่มเห็นเรามากขึ้น เริ่มเห็นว่าเราทำได้ และเริ่มมีคนเข้ามาสนับสนุน 

 

“ถ้าพูดถึงความฝัน เราอยากเห็น EA เป็นบริษัท Apple ของประเทศ เพราะสิ่งที่เราทำเป็น State of the Art ไม่ใช่แค่คอนเซปต์ เราอยากทำให้ประเทศไทยเป็นโชว์รูม ถ้าทำได้ ทำไมเราจะไม่สามารถเอาของไปขายในที่ที่มีความต้องการคล้ายกับเรา และจะทำให้ความคิดที่ว่าเราเป็นประเทศที่ไม่ทำวิจัย ไม่มีแบรนดิ้ง ความคิดเหล่านี้จะเริ่มเปลี่ยนไป คนไทยก็จะเริ่มหันมาทำแบบนี้กันมากขึ้น ช่วยให้ประเทศเจริญ”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X