วันนี้ (25 มีนาคม) สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกระแสข่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่อกรณีการยื่นขอคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเริ่มเปิดลงทะเบียนในวันนี้เป็นวันแรก และเกิดกระแสข่าวที่ว่าคนที่ได้รับเงินประกันไฟฟ้าคืนไปแล้วนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้าอีกต่อไป
สนธิรัตน์กล่าวว่า “ตนได้ทราบเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว และได้ติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น โดยขอยืนยันว่านโยบายครั้งนี้เป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงานต้องการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนเงินค่าประกันไฟฟ้านั้นอยู่กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยในข้อเท็จจริงไม่ได้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขใดๆ จากเดิม และไม่เกี่ยวข้องกับการรับเงินประกันคืน เพราะมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้าทั้งสองแห่งอยู่แล้ว
“แต่ถ้าหากผู้ใช้ไฟฟ้าได้ทำมิเตอร์ไฟฟ้าเสียหายอันเกิดจากการใช้งานของตนเอง เช่น แตก หรือใช้ไฟฟ้าเกิน ก็ต้องรับผิดชอบ ซ่อมแซมหรือต้องเปลี่ยนมิเตอร์ ไม่ว่าจะมีเงินประกันหรือไม่มีเงินประกัน ส่วนมิเตอร์ไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานมานานเสื่อมสภาพ หรือเกิดจากภัยธรรมชาติที่ทำให้เสียหาย กรณีนี้ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นเงื่อนไขเดิม
“โดยขอยืนยันว่าประชาชนจะไม่มีการเสียสิทธิ์จากเดิมที่มี และไม่เกี่ยวข้องกับการไปขอรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืน และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เกิดความเข้าใจผิด เพราะนโยบายนี้คือนโนบายที่กระทรวงพลังงาน หน่วยงานด้านพลังงานต้องการช่วยพี่น้องประชาชนในเวลาที่ยากลำบากอย่างแท้จริง” สนธิรัตน์กล่าว
ทางด้าน จาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า วันนี้ตลอดทั้งวันมีผู้ลงทะเบียนรับขอเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทุกช่องทางกว่า 2 แสนคน คิดเป็นจำนวนเงินที่จะต้องคืนประชาชนกว่า 400 ล้านบาท จนช่วงสายที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนแห่ลงทะเบียนทางออนไลน์พร้อมกันเป็นจำนวนมากจนระบบเกิดขัดข้อง
ทั้งนี้จาตุรงค์ย้ำว่า การลงทะเบียนขอเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะไม่มีหมดเขต ไม่ต้องรีบร้อน ซึ่งขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงทางออนไลน์ ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ สะดวก สบาย ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันปิดรับการลงทะเบียนแต่อย่างใด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า