แม้ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตจะเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาได้ แต่ชัยชนะของเขาไม่ได้เด็ดขาดถล่มทลายเหมือนอย่างที่โพลได้ทำนายไว้ก่อนเลือกตั้ง โดยสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเขาได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนฮิสแปนิกน้อยกว่าสมัย ฮิลลารี คลินตัน
บทความนี้จะพาไปวิเคราะห์กันว่า เหตุใดคะแนนนิยมของไบเดนในคนกลุ่มนี้จึงลดลง
ชาวฮิสแปนิกบางกลุ่มกลัวคำว่าสังคมนิยมเป็นพิเศษ
ถ้าเราไปดูข้อมูลในระดับเคาน์ตี เราจะพบว่ามีอยู่หนึ่งเคาน์ตีในมลรัฐฟลอริดาที่ ทรัมป์ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น คือที่ ไมอามี-เดด เคาน์ตี ที่เขาแพ้ไบเดนไปแค่ 7% เทียบกับที่เขาเคยแพ้คลินตันอย่างขาดลอยถึง 29%
ไมอามี-เดด เคาน์ตี เป็นเคาน์ตีที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิก (เกิน 60%) และมักจะเป็นชาวฮิสแปนิกที่อพยพมาจากคิวบาและเวเนซุเอลา ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีภาพความทรงจำอันโหดร้ายของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจในมาตุภูมิของตนจากการบริหารประเทศภายใต้แนวคิดแบบสังคมนิยม ทำให้การโจมตีของทรัมป์ที่ว่าไบเดนเปรียบเสมือนม้าโทรจันให้ฝ่ายซ้ายสังคมนิยมในพรรคเดโมแครตอย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส เข้ามากุมอำนาจบริหารประเทศนั้น ได้ผลเป็นอย่างดี
ทรัมป์รู้ดีว่าเขาจำเป็นต้องชนะที่ฟลอริดาที่มีคะแนน Electoral College ถึง 29 เสียงจึงจะมีสิทธิชนะการเลือกตั้งในสมัยที่สอง ในขณะที่ฟลอริดาไม่ได้เป็นมลรัฐที่ไบเดน จำเป็นต้องชนะ ทำให้ทรัมป์ลงทุนลงแรงหาเสียงที่ฟลอริดามากกว่าไบเดน (ไบเดน ไปทุ่มเทหาเสียงที่เขตมิดเวสต์มากกว่า) รวมถึงการเข้าชุมชนชาวคิวบาในไมอามี-เดด เคาน์ตี ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้เขาสามารถสร้างภาพจำให้กับคนในชุมชนว่าการเลือกไบเดนคือการเลือกสังคมนิยม ซึ่งการลงทุนลงแรงของทรัมป์ครั้งนี้ก็ได้ผลตามที่เขาต้องการ เพราะเขาสามารถเอาชนะที่ฟลอริดาไปได้กว่า 3%
เส้นแบ่งของเมืองและชนบทอาจจะแน่นหนากว่าเส้นแบ่งเชื้อชาติ
ไบเดนไม่ได้ทำผลงานแย่ลงแค่กับชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบาและเวเนซุเอลาเท่านั้น ในหมู่ชาวฮิสแปนิกที่อพยพมาจากเม็กซิโก (ซึ่งเป็นชาวฮิสแปนิกส่วนใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา) เขาก็ทำผลงานได้แย่ลงกว่าคลินตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบชนบทติดเขตชายแดนเม็กซิโกทางตอนใต้ของมลรัฐเท็กซัส ที่เขาทำคะแนนได้น้อยลงกว่าสมัยคลินตันถึง 20-30%
แต่ในทางตรงข้าม ไบเดนยังคงทำผลงานได้ใกล้เคียงกับคลินตันในหมู่ชาวฮิสแปนิกในเขตเมืองอย่างที่เมืองฮิวสตันหรือฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าการที่ทรัมป์พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองว่าเขาคือฮีโร่ของชาวชนบทที่เคยถูกรัฐบาลหมางเมิน (โดยเฉพาะรัฐบาลของเดโมแครตที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นพรรคของคนเมือง) นั้นได้ผลดี ช่องว่างของความแตกต่างทางการเมืองคนอเมริกันในเมืองและชนบทยังคงกว้างเหมือนสมัยปี 2016 ที่สำคัญในปี 2020 นี้ ช่องว่างไม่ได้เกิดกับแค่กับคนขาวแล้วเท่านั้น แต่เกิดกับคนผิวสีอย่างชาวฮิสแปนิกแล้วด้วย
นี่ไม่ใช่การเลือกตั้งที่ทรัมป์ตะโกนว่า “Build the wall”
อีกประเด็นที่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาเมื่อวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้คือ ชัยชนะของคลินตันที่มีเหนือทรัมป์ในหมู่ชาวฮิสแปนิกในปี 2016 เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ กล่าวคือคลินตันชนะในหมู่ชาวฮิสแปนิกไปอย่างถล่มทลายถึงกว่า 60% ในขณะที่ปีก่อนๆ อย่างสมัยโอบามา เขาเคยทำได้ที่ประมาณ 40% ซึ่งการที่ไบเดนชนะในปี 2020 ที่เกือบๆ 40% อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แย่อะไรมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานของพรรคในยุคก่อนๆ
ซึ่งสาเหตุที่คลินตันชนะในหมู่ชาวฮิสแปนิกได้อย่างถล่มทลายขนาดนั้น เป็นเพราะนโยบายหลักในการหาเสียงของทรัมป์ในปี 2016 คือการต่อต้านผู้อพยพ ทรัมป์ปราศรัยตั้งแต่วันแรกของการหาเสียงเลยว่าเขาจะจำกัดจำนวนผู้อพยพ เพราะมองว่าผู้อพยพชาวเม็กซิกันมักจะเป็น ‘โจร นักค้ายา และอาชญากรข่มขืนผู้หญิง’ โดยนโยบายที่เด่นที่สุดของเขาในการหาเสียงในปี 2016 คือเขาสัญญาว่าจะสร้างกำแพงกั้นระหว่างสองประเทศเพื่อที่จะสกัดกั้นการหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าการชูนโยบายเหยียดเชื้อชาติแบบนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจกับชาวฮิสแปนิก โดยเฉพาะคนที่มีเชื้อสายเม็กซิกัน
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งในปี 2020 ประเด็นเรื่องการอพยพไม่ใช่ประเด็นใหญ่ของการเลือกตั้งอีกแล้ว เพราะปัญหาโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะงักงันจากการระบาดเป็นประเด็นใหญ่ที่มาบดบังความสำคัญของประเด็นอื่นๆ ไปเสียหมด เราจึงไม่ได้เห็น ทรัมป์ปราศรัยบนเวทีว่าชาวเม็กซิกันคืออาชญากรค้ายาและเราต้องสร้างกำแพงมาป้องกันประเทศของเรา ซึ่งก็น่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นคนเหยียดผิวของเขาลดลง และชาวฮิสแปนิกจำนวนหนึ่งยอมที่จะกลับมาลงคะแนนให้เขา
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล