×

ประสบการณ์เลือกตั้งของคนต่างรุ่น เทียบบรรยากาศหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ต่างยุค

โดย THE STANDARD TEAM
23.05.2022
  • LOADING...
ประสบการณ์เลือกตั้ง

ผ่านไปแล้วกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

THE STANDARD พูดคุยกับครอบครัวสุรฤทธิ์ธำรง ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเขตบางซื่อ กทม. และอยู่ร่วมกันหลายช่วงวัยถึงเรื่องสเปกผู้ว่าฯ กทม. ในดวงใจ และความแตกต่างของช่วงวัยต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

 

บรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ร้อนแรงมาเคียงคู่กับกระแสตื่นตัวของชาว กทม. ที่รอคอยการเลือกตั้งครั้งนี้ ภายหลังจากที่ต้องรอคอยมามากกว่า 9 ปี จนเชื่อได้ว่าผู้ว่าฯ กทม. ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นสนทนาของคนทุกเพศทุกวัยในทุกวัน

 

เป็นเรื่องแน่นอนว่าผู้คนต่างมีทัศนคติเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็แสดงความเห็นกับเพื่อนฝูง กับเพื่อนร่วมงาน หรือบนโลกออนไลน์ หากมีคนกี่เปอร์เซ็นต์ที่นำเรื่องผู้ว่าฯ กทม. มาพูดคุยภายในครอบครัว

 

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการเคารพความแตกต่าง เรานำเสนอบรรยากาศภายในครอบครัวใหญ่อันประกอบไปด้วยชาว กทม. 3 รุ่น คือคุณย่า คุณแม่ และลูก สำรวจความคิดเห็นของพวกเขาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่ามีความคล้ายหรือแตกต่างกันเพียงไร ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการเลือกผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ และการเมืองเป็นเรื่องที่คุยกันไม่ได้ภายในครอบครัวจริงหรือไม่

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

ครอบครัวใหญ่ใต้ชายคาเดียว

ครอบครัวสุรฤทธิ์ธำรงอาศัยอยู่ในเขตบางซื่อ เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกสามรุ่นอาศัยอยู่ร่วมกันคือคุณย่าสมพิศ ผ่องไพโรจน์ อายุ 68 ปี แม่เพชร-เพชรลดา สุรฤทธิ์ธำรง อายุ 48 ปี และ กิ๊ฟซ่า-ปกรณ์ สุรฤทธิ์ธำรง อายุ 21 ปี เมื่อพิจารณาความห่างของอายุแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละช่วงวัยย่อมผ่านประสบการณ์ในการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน อย่างเช่นคุณย่าและคุณแม่เพชรที่เคยเดินเข้าคูหากาเบอร์ที่ชอบมาก่อน

 

“ไปทุกช็อตค่ะ ไม่เคยพลาด” คือคำตอบของคุณแม่เมื่อสอบถามถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

 

แตกต่างจากกิ๊ฟซ่าที่เรียกได้ว่านี่เป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หากไม่นับการเลือกตั้งในสถานศึกษา และเธอเองก็ตั้งตารอคอยวันที่จะได้ใช้สิทธิอยู่เช่นกัน

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

โทรทัศน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

ความกระตือรือร้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของสมาชิกภายในบ้านสุรฤทธิ์ธำรงไม่ได้แสดงออกเพียงการออกไปใช้สิทธิอย่างสม่ำเสมอไม่เคยพลาดแม้แต่ครั้งเดียว แต่ยังรวมถึงความตื่นตัวในการรับข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งทางสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์

 

อย่างคุณย่าสมพิศมักจะติดตามข่าวสารการเลือกตั้งจากทางโทรทัศน์ หรือถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้ที่ทางบ้านยังรับบริการหนังสือพิมพ์ เธอเองก็ชอบอ่านจากสิ่งพิมพ์ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ผู้สมัคร และนโยบาย คุณย่าเสริมเติมว่าสังคมปู่ย่าตายายก็นำกระแสร้อนแรงนี้มาพูดคุยกันระหว่างการพบปะเช่นกัน แต่โดยทั่วไปเธอจะไม่ใช่คนเปิดบทสนทนาในเรื่องนี้ และจะเน้นไปที่การฟังแต่ไม่ได้ออกความคิดเห็น เพราะคิดว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ควรพูดกับเพื่อนฝูง

 

สำหรับคุณแม่ การติดตามข่าวสารมีการขยับรุ่นลงมาตามยุคสมัย เธอมักจะใช้เฟซบุ๊กในการติดตามความเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นจากเพจที่รวบรวมและนำเสนอข่าวการเลือกตั้ง หรือการประชาสัมพันธ์จากตัวผู้สมัครเอง นอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว คุณแม่เพชรมีการอัปเดตข้อมูลจากการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนอีกด้วย

 

ถัดมาสำหรับรุ่นสุดท้องของบ้าน กิ๊ฟซ่ามีส่วนคล้ายกับคุณแม่คือรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางโลกออนไลน์ แต่จะอาศัยแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน เธอใช้งานทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊กเป็นหลัก และมีความแตกต่างกับคุณแม่ในส่วนที่เธอจะไม่ค่อยได้คุยเรื่องการเลือกตั้งครั้งนี้กับกลุ่มเพื่อนมากนัก เนื่องจากกลุ่มเพื่อนไม่น้อยมีทะเบียนบ้านนอกกรุงเทพฯ

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

คุณสมบัติของผู้ว่าฯ กทม.

ความต่างวัย ต่างสังคม สะท้อนผ่านช่องทางในการเชื่อมต่อตนเองกับโลกภายนอกไม่น้อย แล้วช่วงอายุที่มีช่องว่างระหว่างกันนี้จะส่งผลต่อเหตุผล ข้อสนับสนุน และปัจจัยในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ ในสายตาของคนแต่ละรุ่น แล้วผู้ว่าฯ กทม. จะต้องอุดมไปด้วย ‘คุณสมบัติ’ อย่างไรบ้าง

 

สำหรับผู้อาวุโสที่สุด คุณย่าสมพิศให้ความเห็นสั้นๆ ว่า สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของนโยบายที่ผู้สมัครแต่ละคนนำเสนอ ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่หลักของคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ จะต้องดูแลภาพรวมของพื้นที่ กทม. ให้น่าอยู่ที่สุดสำหรับทุกคน

 

“แต่สุดท้ายแล้ว (นโยบาย) มันก็เป็นเรื่องขายฝัน ทุกคนที่ผ่านมาก็ขายฝัน”

 

คือประโยคสำทับในช่วงท้ายของคุณย่าสมพิศผู้ผ่านการเลือกตั้งมาก่อน

 

คุณแม่เริ่มออกความเห็นต่อไปว่าสำหรับเธอ 3 เรื่องที่สำคัญคือจะต้องเป็นผู้ว่าฯ ที่เข้าถึงง่าย จับต้องได้ มีช่องทางในการติดต่อที่สะดวกรวดเร็ว และต้องเป็นผู้รักประชาธิปไตย อย่างเรื่องการติดต่อประสานงานเข้ามาแก้ไขอย่างทันท่วงทีคุณแม่เพชรมองว่าสำคัญมาก เพราะในปัจจุบันบ้านหลังนี้ก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมภายในหมู่บ้าน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการสร้างทางด่วนในบริเวณใกล้เคียง

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

“ถ้าเรามีปัญหาในชุมชน เราสามารถที่จะไปยื่นให้ประธานชุมชน ประธานไปยื่นที่เขต เอาเรื่องของหมู่บ้านของเราไปให้ผู้ว่าฯ ได้ แล้วผู้ว่าฯ ก็สั่งการเข้ามา เช่นเรื่องน้ำท่วมในซอยนี้ ทุกครั้งที่ฝนตกซอยนี้น้ำท่วม ผู้ประสานงานก็บอกว่า ‘เดี๋ยวมันก็ผ่านไป สัก 2 ชั่วโมงก็จะแห้งไปเองตามสภาพ’ แต่มันก็ท่วมเลยเข่า ออกจากบ้านไม่ได้เลย แล้วก็เกือบ 5 ชั่วโมงกว่าจะยุบ”

 

ส่วนกิ๊ฟซ่ามองทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ คือผู้สมัครจะต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในเขต กทม. ทราบว่า หน้าที่ ความรับผิดชอบ และความสำคัญของผู้ว่าฯ กทม. ครอบคลุมในประเด็นไหนบ้าง มิติใดบ้างในชีวิตความเป็นอยู่ของชาว กทม. ที่ผู้ว่าฯ จะเข้ามาเกี่ยวข้อง และผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดใน กทม. จะอุทิศตนเองอย่างไรให้กับเมืองนี้

 

สำหรับประเด็นอื่นที่มีผู้สมัครหลายคนใช้เป็นตัวชูโรง อย่างเช่นเรื่องระดับการศึกษา ชื่อพรรคการเมืองที่สังกัด หรือปัจจัยเรื่องหน้าตา สำหรับทั้งสามคนปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อการเลือก ‘คนที่ใช่’ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของแผนนโยบายและการสร้างความเชื่อมั่นว่าหากผู้สมัครได้เข้ามาทำหน้าที่แล้วจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อคน กทม.

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

วิธีการหาเสียงที่อาจจะล้าสมัย

เมื่อมีการเลือกตั้งก็ย่อมมีการหาเสียง จากการสำรวจกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ของผู้สมัครแต่ละรายในครั้งนี้เริ่มมีการงัดเอาไม้เด็ดต่างๆ ออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในช่องทางการสื่อสารออนไลน์เพื่อคว้าใจวัยรุ่น การใช้วัฒนธรรมย่อยเพื่อการเข้าถึงกลุ่มปัจเจก หรือว่าอุปกรณ์การหาเสียงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คนต่างวัยในบ้านหลังนี้การหาเสียงที่ ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ เป็นอย่างไรบ้าง

 

คุณย่าย้อนความหลังให้ฟังว่า ในยุคก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างที่แยกจากกันไม่ออก การหาเสียงก็จะเป็นในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่มสังคม อย่างของเธอก็เป็นกลุ่มเพื่อนที่นัดพบปะสังสรรค์กันในสวนสาธารณะ ในช่วงการเลือกตั้งก็มักจะมีคนเดินทางเข้ามาชักชวนให้ไปฟังการปราศรัยบนเวทีที่จัดภายในสวนหรือพื้นที่สาธารณะใกล้เคียง อย่างเธอเองก็เคยแวะไปฟังการประกาศนโยบายเช่นกัน

 

ส่วนคุณแม่เพชรด้วยความที่มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายของตามตลาดในพื้นที่ต่างๆ ทั่ว กทม. จึงมีโอกาสได้พบปะกับผู้สมัครที่เดินลงพื้นที่หาเสียงจำนวนไม่น้อย วิธีที่ตรงใจของเธอไม่พ้นการแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น การมาปรากฏตัวให้เห็นในลักษณะของการเดินเท้าเข้ามาในตลาด เดินไปเคาะตามบ้านเรือน คอยพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ แตกต่างกับผู้สมัครบางรายที่ประชาสัมพันธ์แบบฉาบฉวย ไม่เคยเห็นตัวจริง ไม่เคยเดินลงพื้นที่ด้วยตัวเอง มีเพียงทีมสนับสนุนที่คอยขับรถติดเครื่องกระจายเสียง เปิดเพลงประจำตัวผู้สมัครเคล้าไปกับการย้ำชื่อและหมายเลขผู้สมัคร

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

จากประเด็นในช่วงท้ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถกระจายเสียง กิ๊ฟซ่าเสริมในส่วนที่ไม่ชอบว่า สำหรับเธอแล้วไม่ชอบการใช้ลำโพงเช่นนี้ แต่ก็เข้าใจว่านี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การนำเสนอในการเข้าถึงผู้คนบางกลุ่ม บางวัย เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะติดตามข่าวสารจากช่องทางออนไลน์ ซึ่งความพอดีในการจัดตารางการเดินรถเพื่อไม่ให้รบกวนผู้อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่ควรจะนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง 

 

นอกจากนี้การหาเสียงของผู้สมัครผ่านการไปออกรายการตามสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ไม่ว่าจะเป็นกระแสหลักหรือว่าออนไลน์ก็เป็นอีกปัจจัยที่กิ๊ฟซ่าให้ความเห็น อย่างในกรณีที่ตกลงเข้าร่วมรายการดีเบต หากไม่ปรากฏตัวในวันจริง การปฏิบัติเช่นนี้ก็ส่งผลให้มีความรู้สึกในทางลบต่อการหาเสียงได้เช่นกัน

 

“ถือว่าลบเลยค่ะ ค่อนข้างลบมากพอสมควร เพราะช่วงการหาเสียงคือช่วงที่ทำให้คนเชื่อมั่นและเชื่อใจว่าเขา (ผู้สมัคร) จะสามารถทำตามนโยบายที่บอกกับเราไว้ได้จริง แต่การที่เขาผิดสัญญาอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นระดับการปราศรัยหรือว่าออกรายการ การเทมันคือการแสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีความรับผิดชอบ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่การบริหารงานจริงๆ แต่นี่ก็สร้างความไม่น่าเชื่อถือแล้ว”

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

ป้ายหาเสียงที่สร้างปัญหาให้คนทุกวัย

เมื่อกล่าวถึงเรื่องการเลือกตั้งในครั้งนี้ ประเด็นเรื่องป้ายหาเสียงจำนวนมากที่แทรกตัวล้นตามฟุตปาธจนแทบไม่มีทางเดิน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ระงม จุดประเด็นความไม่เอาใจเขามาใส่ใจเราและความพอดีในการหาเสียงที่จะไม่สร้างความลำบากให้คนใช้ชีวิตในเมืองหลวง 

 

อย่างประสบการณ์ตรงที่คนในบ้านสุรฤทธิ์ธำรงเผชิญ สามารถเริ่มต้นจากการเรียกแท็กซี่ของคุณย่าสมพิศ ในบางครั้งคุณย่าจำเป็นต้องใช้บริการรถแท็กซี่สำหรับเดินทางไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล หากป้ายหาเสียงที่ปิดพื้นที่การเดินเท้าทำให้คนชราอย่างเธอยากลำบากต่อการแทรกตัวออกไปหน้าถนนเพื่อโบกเรียกรถ

 

คุณแม่เพชรเสริมว่าป้ายหาเสียงสร้างความเดือดร้อนให้กับการเดินทางมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการติดล้ำออกไปนอกถนนจนทำให้รถที่ขับผ่านหน้าซอยหมู่บ้านเกิดอุบัติเหตุ การนำป้ายมาวางไว้โดยไม่มีการมัดลวดสร้างความแข็งแรง พอเกิดฝนฟ้าพายุก็มีเหตุการณ์ที่ป้ายล้มระเนระนาดเกะกะถนน หรือครั้งหนึ่งถึงขั้นว่า ‘ป้ายลอย’ มายังรถของเธอที่ขับอยู่บนถนน

 

“มีการเอาป้ายไปติดทับของคนอื่น ไปพ่วงกับป้ายของคนอื่น โดยที่ไม่ใช้ลวดหรืออะไรผูกเลย บางครั้งมีลมแรงมาแล้วกระเด็นมาที่ถนน วันนั้นคือป้ายลอยมาเลย ยังดีที่รถบ้านเราเป็นรถใหญ่เลยไม่เจออันตราย แต่ถ้าเป็นรถคันเล็กหรือว่ามอเตอร์ไซค์ก็อันตรายเหมือนกัน”

 

นอกจากเรื่องของป้ายหาเสียงที่ ‘ล้น’ จนเกินพอดีแล้ว คุณแม่ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของการติดตั้งป้ายเหล่านี้ว่า เธอเห็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐมาติดป้ายหาเสียงของผู้สมัครบางรายอีกด้วย

 

ในส่วนของรุ่นสุดท้องของบ้านให้ความเห็นว่า ณ ปัจจุบันการใช้ป้ายหาเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ แต่เธอค่อนข้างเชื่อว่าในอนาคตการหาเสียงจะขยับไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นเป็นลำดับ เพราะเป็นช่องในการสื่อสารที่เข้าถึงคนรุ่นเธอได้เป็นวงกว้าง และจะเป็นการลดปัญหาเรื่องป้ายหาเสียงที่เจอกันอยู่ในปัจจุบันไปโดยปริยาย

 

“Gen Z (Generation Z) เข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็จะแชร์ๆ กันทางออนไลน์ อย่างเรื่องป้ายก็ยังคิดว่าจำเป็นสำหรับคนที่ยังไม่คุ้นชินกับทางออนไลน์หรือไม่เข้าถึงออนไลน์ได้ง่าย แต่ในอนาคตถ้าการเข้าถึงออนไลน์ทำได้ง่าย ก็คงลดลง”

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

การเมืองเป็นเรื่องที่พูดได้ในครอบครัว

คำถามส่งท้ายคงไม่พ้นประเด็นโลกแตกของหลายครอบครัว นั่นคือเรื่องของการเมืองเป็นเรื่องที่ควรเอาออกห่างจากครอบครัวให้ได้มากที่สุด อันเนื่องมาจากประสบการณ์ ‘บ้านแตก’ ของหลายคนที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหรือหนักหนาถึงขั้นว่าคนละขั้ว

 

โดยกิ๊ฟซ่าผู้มีรายชื่อสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้เป็นครั้งแรกเล่าว่า เธอเองมีการคุยเรื่องการเลือกตั้งกับครอบครัวในหลายโอกาส มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าควรเลือกใคร ด้วยเหตุผลอะไร รับฟังความคิดเห็นโดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาปกติภายในครอบครัว และไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้

 

“ถามแม่นะ เราควรเลือกใครดี ทำไมถึงเลือกคนนี้ เราก็ฟังเหตุผลของแม่ แต่เราก็เลือกตามความชอบของเรา เอาไปวิเคราะห์ดูกันต่อไป”

 

ส่วนคุณแม่ในฐานะที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมคนอีกสองรุ่น ประสบการณ์ที่เธอเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในครอบครัวคือการเปิดใจรับฟังเป็นสิ่งสำคัญเสมอ หากในกรณีที่อีกฝ่ายมีความคิดเห็นไม่ตรงกับเรา การห้ามปรามหรือกีดกันก็คงจะพาแต่ความแตกร้าวที่มากกว่าเดิมมาให้ หน้าที่ของผู้ปกครองคือส่งเสริมและเพิ่มข้อมูลให้มีวิจารณญาณในการเลือกมากกว่า

 

ประสบการณ์เลือกตั้ง

 

 

“แม่ว่าเป็นเรื่องปกติ เหรียญยังมีหน้ามีหลัง แม่ให้ใจลูกเต็มร้อย ให้เขาใช้ความคิดของเขาเป็นหลัก เราเสริมแค่ว่าให้พิจารณาให้รอบด้าน… ถ้าเขาเลือกคนละคนกับเรา แม่ก็จะไม่เป็นไร อยู่ที่ความชอบของลูก ต่อให้ชอบคนละขั้วกัน แม่ก็แยกได้ เพราะว่าเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว จุดที่คนในครอบครัวความคิดไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถอยู่ด้วยกันได้ ทานข้าวโต๊ะเดียวกัน ทำกับข้าวเพื่อทุกคนในบ้านได้ เพราะว่าเราเป็นครอบครัว” 

 

แม้ครอบครัวสุรฤทธิ์ธำรงจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในบางรายละเอียด หากความเป็นสายสัมพันธ์ครอบครัวที่แนบแน่นก็ยังคงเหมือนเดิม

 

เรื่อง: จามาศ โฆษิตวิชญ / PLUS SEVEN

ภาพ: พีระพล บุณยเกียรติ / PLUS SEVEN

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising