เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไทย ตุรกี และปากีสถานต่างจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศพวกเขา แม้ในขณะนี้อาจจะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่สัญญาณต่างๆ และภาพบรรยากาศที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในสังคมต้องการ ‘การเปลี่ยนแปลง’
การเลือกตั้งในไทย
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนเสียงและที่นั่งในสภานำมาเป็นอันดับ 1 ในขณะนี้ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ได้ประกาศถึงความพร้อมที่พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล น้อมรับฉันทมติของพี่น้องประชาชน พลิกขั้วเปลี่ยนข้างจากฝ่ายค้านเดิมมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยจะจับมือกับอีก 5 พรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้มีเสียงรวมกัน 309 เสียง เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และปิดประตูการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD
โดยแคนดิเดตที่จะได้รับคัดเลือกให้ดำรงนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย จำเป็นที่จะต้องได้เสียงสนับสนุนในสภา 376 เสียง จึงอาจจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยเช่นกัน สิ่งที่ต้องจับตามองก็คือ ส.ว. เหล่านี้จะลงคะแนนเสียงสวนทางกับมติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศหรือไม่
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD
แต่อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ได้ขับเคลื่อนให้การเมืองของประเทศนี้เป็นการเมืองของ ‘ความหวัง’ ไม่ใช่ ‘ความหวาดกลัว’ ทั้งยังเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศในขณะนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลง หลังประเทศไทยติดหล่มและอยู่ภายใต้ระบบการสืบทอดอำนาจของนายทหารระดับสูงและกองทัพมาตลอดในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารเมื่อปี 2014 ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องไปต่อ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD
การเลือกตั้งในตุรกี
หลังจากนับคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีไปแล้ว 99.05% ผลปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้รับคะแนนเสียงเกิน 50% เป็นเหตุให้ผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงสูงที่สุด 2 อันดับแรกจะต้องแข่งขันกันอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบสองที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้
โดยเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน (ชายด้านขวามือ) จากพรรค AKP ที่ครองอำนาจนำทางการเมือง และดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีตุรกีมายาวนานถึง 2 ทศวรรษ ได้คะแนนเสียงไป 49.4% ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญอย่าง เคมัล คิลิกดาโรกลู ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากกลุ่มพันธมิตร Nation Alliance และหัวหน้าพรรค CHP มีคะแนนเสียงอยู่ที่ 45% ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีเมื่อปี 2014 และ 2018 แอร์โดอันคว้าชัยชนะตั้งแต่การเลือกตั้งรอบแรกด้วยการได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากถึง 51.79% และ 52.59% ตามลำดับ
ภาพ: Adem Altan / AFP
การเลือกตั้งตุรกีปีนี้นับเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สร้างความท้าทายให้กับแอร์โดอันเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เขาอาจจะหลุดจากเก้าอี้ผู้นำตุรกี หลังจากเผชิญหน้ากับกระแสความไม่พอใจในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่ตุรกีเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด ประกอบกับการบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่ไม่มีประสิทธิภาพ จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อช่วงต้นปี 2023 อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียงสนับสนุนและคะแนนความนิยมในตัวแอร์โดอันลดน้อยลง ขณะที่ระดับความนิยมในตัวคิลิกดาโรกลู (ชายเนกไทสีแดง) กลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังคมตุรกีในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้
ภาพ: Adem Altan / AFP
การเลือกตั้งในปากีสถาน
ปากีสถานในขณะนี้กำลังประสบกับวิกฤตทางการเมือง โดยอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน (ชายสวมแว่นตาสีดำ) ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหลายคดี พร้อมถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 เรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานชุดปัจจุบันประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ขึ้นโดยเร็วที่สุด เนื่องจากข่านและบรรดาผู้สนับสนุนของเขาต่างมองว่าข่านตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองระดับชาติ โดยมีแรงจูงใจทางการเมืองแอบแฝง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลปากีสถานและกองทัพจะจับมือกันบีบเขาให้พ้นจากตำแหน่ง
ความพยายามในการนำตัวข่านมาดำเนินคดีในชั้นศาล รวมถึงการลอบสังหารและการจับกุมตัวเขา ต่างปลุกกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวปากีสถานจำนวนไม่น้อย หลายฝ่ายมองว่าชาวปากีสถานต่างยกให้ข่านเป็นเหมือนเส้นสีแดง (Red Line) ที่ไม่สามารถก้าวข้ามได้ เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นกับข่าน สังคมปากีสถานจะเข้าสู่ความโกลาหลและยากที่จะควบคุม
ภาพ: Aamir Qureshi / AFP
นักวิชาการไทยมองว่าสถานการณ์ในปากีสถานขณะนี้ค่อนข้างที่จะไม่แน่นอน เหตุการณ์สำคัญที่คาดว่าจะเป็นตัวตัดสินชี้ขาดคือการเลือกตั้งในแคว้นปัญจาบและแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา (KPK) ในวันที่ 14 พฤษภาคม และ 8 ตุลาคมตามลำดับ ซึ่งเสียงจากผู้สมัครของทั้งสองแคว้นนี้นับเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาปากีสถาน โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหากมีการจัดการเลือกตั้งขึ้น ผู้สมัครจากพรรค PTI ของข่านมีโอกาสสูงมากที่จะชนะการเลือกตั้งในทั้งสองแคว้นนี้อย่างขาดลอย นั่นหมายความว่าชัยชนะเหล่านี้อาจทำให้รัฐบาลปากีสถานชุดปัจจุบันสูญเสียอำนาจนำและเสียงข้างมากในรัฐสภา จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในอนาคต
ภาพ: Arif Ali / AFP