×

นายก วสท. ห่วงความปลอดภัยทีมกู้ภัย ชี้ รื้อซากตึก สตง. ถล่ม ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญคุม ประเมินละเอียดทุกขั้นตอน

โดย THE STANDARD TEAM
29.03.2025
  • LOADING...
นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยให้คำแนะนำการรื้อถอนซากตึก สตง. และการประเมินรอยร้าวอาคารหลังแผ่นดินไหว

วันนี้ (29 มีนาคม) ที่จุดเกิดเหตุอาคารก่อสร้าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่มธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์อาคารถล่ม ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบหาสาเหตุของการถล่มของโครงสร้างอาคารได้อย่างแน่ชัด

 

ยอมรับว่ามีความกังวลต่อปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิต เนื่องจากการรื้อถอนโครงสร้างที่พังถล่มลงมาเพื่อเข้าถึงผู้ที่อาจติดค้างอยู่นั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากและมีความเสี่ยงสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญคอยตรวจสอบและประเมินแรงเคลื่อนตัวของโครงสร้างอาคารอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมต่อทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ยังติดอยู่ภายใน

 

สำหรับการรื้อถอนในขณะนี้ นายก วสท. แนะนำว่า ในบริเวณที่ยังตรวจพบสัญญาณชีพ ควรใช้เครื่องจักรเบาหรือเครื่องจักรขนาดเล็ก เพื่อความระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายเศษซาก ส่วนเครื่องจักรหนักสามารถนำมาใช้รื้อถอนในส่วนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่คาดว่ามีผู้รอดชีวิตได้

 

ส่วนกรณีที่มีแนวคิดจะใช้วิธีเจาะโพรงเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิตนั้น ธเนศ ยอมรับว่าเป็นวิธีการที่อาจเข้าถึงตัวผู้ประสบภัยได้รวดเร็วที่สุด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน ดังนั้น ทุกขั้นตอนในการดำเนินการด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องมีการประเมินอย่างละเอียดรอบคอบ

 

หากในอนาคตจำเป็นต้องรื้อถอนโครงสร้างอาคารที่ถล่มลงมาทั้งหมดจะต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยมีหลักการคือต้องรื้อถอนจากชิ้นส่วนด้านบนสุดไล่ระดับลงมา

 

นอกจากนี้ ธเนศ ยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประเมินรอยร้าวของอาคารทั่วไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหว โดยแบ่งระดับความรุนแรงของรอยร้าวได้ดังนี้:

 

* สีเขียว: รอยร้าวอยู่ในระดับปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก ผู้อยู่อาศัยยังคงปลอดภัย

* สีเหลือง: โครงสร้างเริ่มมีการแตกร้าว ต้องเฝ้าระวังและอาจต้องตรวจสอบเพิ่มเติม

* สีแดง: รอยร้าวอยู่ในระดับอันตราย บ่งชี้ว่าโครงสร้างเสียหายหนัก ไม่ควรเข้าไปอยู่อาศัยหรือใช้งานอาคาร

 

นายก วสท. เน้นย้ำว่า รอยร้าวที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือรอยร้าวที่สามารถมองทะลุไปเห็นอีกฝั่งของผนังได้ หรือรอยร้าวที่ลึกจนเห็นโครงเหล็กภายใน ซึ่งลักษณะเช่นนี้บ่งชี้ว่าโครงสร้างหลักของอาคารได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่และให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินโดยด่วน

 

ส่วนรอยร้าวที่เป็นลักษณะแตกบนผิวผนัง ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอน

 

หากมองจากอีกด้านของผนังแล้วไม่พบรอยลักษณะเดียวกัน หรือไม่สามารถมองทะลุได้ มักจะเป็นรอยร้าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลกระทบต่อปูนฉาบหรือวัสดุปิดผิวผนัง ไม่ใช่ความเสียหายที่โครงสร้างหลัก แต่ถ้ารอยร้าวเกิดขึ้นบริเวณมุมผนังในแนวแยกออกจากกัน อาจแสดงว่าโครงสร้างอาคารได้รับผลกระทบ

 

ธเนศ สรุปว่า หากบ้านเรือนหรืออาคารใดได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและพบว่ามีรอยร้าวเกิดขึ้น ควรแจ้งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้ามาตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยโดยละเอียดเสมอ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising