×

EIC ชี้ วิกฤตขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ป่วนภาคการผลิตโลก คาดปัญหาส่อลากยาว แนะไทยเร่งวิจัยและพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการโลก

17.11.2021
  • LOADING...
semiconductor

ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงทั่วโลก มีสาเหตุหลักมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 

 

  1. Trade War และ Tech War ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2018
  2. ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นมากจากวิกฤตโควิด
  3. การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในช่วงปลายปี 2020
  4. ปัญหา Supply Chain Disruption ที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติและการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในปี 2021 ที่ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์รุนแรงขึ้น

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า วิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ในวงกว้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งพบว่าได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงและชัดเจน สะท้อนได้จากการปรับลดกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ อันเป็นผลมาจากการส่งมอบชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่ล่าช้า จนไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ โดย IHS Markit คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ในปี 2021 มากถึงราว 7.7 ล้านคัน หรือคิดเป็น 9% ของเป้าหมายการผลิตรถยนต์ทั่วโลกในปีนี้

 

อนึ่ง EIC คาดการณ์ว่า ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จะยังคงลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ระยะเวลาในการผลิตและส่งมอบชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ หรือ Lead Time ยังมีแนวโน้มนานขึ้นจากปัญหา Supply Chain Disruption ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดในอาเซียน ซึ่งกระทบต่อขั้นตอนการประกอบและทดสอบที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์นี้จะค่อยๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้นและคลี่คลายลงได้ในปี 2023 เป็นต้นไป

 

EIC ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต่างเร่งปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตของตนไปสู่รูปแบบ Regionalization หรือ Localization มากขึ้น ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนและให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศตนเอง รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนา ออกแบบ และผลิตเซมิคอนดักเตอร์เองภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากผู้ผลิตในฝั่งเอเชีย และป้องกันปัญหา Supply Chain Disruption ที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต

 

สำหรับนัยต่อไทยนั้นเราพบว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลดีต่อการส่งออกของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลก แต่ในทางกลับกันปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวเนื่องด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจน

 

ขณะที่ในระยะยาว EIC มองว่า ไทยควรเร่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการพึ่งพาแรงงานคน พร้อมๆ ไปกับการออกนโยบายด้านการลงทุนที่จูงใจเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) มายังผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีศักยภาพการเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising