×

EIC ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอซ้ำเติมไทย จับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ชนวนเร่ง Decoupling เกิดเร็วขึ้น ทำการส่งออกสะดุด

15.08.2022
  • LOADING...
EIC

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ( EIC ) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2022 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันที่ 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังสามารถขยายตัว 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้า หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QoQ SA) 

 

โดยเศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการเปิดรับนักท่องเที่ยว 

 

EIC ระบุว่า หากพิจารณาในฝั่งการผลิต (Production Approach) พบว่า มีการฟื้นตัวได้ดีในหลายภาคเศรษฐกิจ นำโดยภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องกับภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามปริมาณผลผลิต 

 

อย่างไรก็ดี ภาคการก่อสร้างยังคงหดตัวจากการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัว ประกอบกับการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจากที่เคยขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาแนวโน้มปริมาณการส่งออกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวในบางตลาดสำคัญ เช่น จีน และสหรัฐฯ รวมถึงความกังวลต่อต้นทุนที่ยังผันผวน

 

เศรษฐกิจไทยระยะถัดไปจะฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นปัจจัยหลัก 

โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ EIC คาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัว จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด ตามการทยอยลดมาตรการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศ รวมถึงไทย โดย EIC คาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2022 อาจเพิ่มขึ้นแตะ 10 ล้านคน จากเดิม 7.4 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-Up Demand) สะท้อนจากสล็อตตารางการบินในช่วงฤดูหนาวปี 2022 (ตุลาคม 2022 – มีนาคม 2023) ของสนามบินนานาชาติหลักของไทยที่มีการจองล่วงหน้าสูง ส่งผลให้ภาคบริการและการบริโภคเอกชนในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะยิ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องในปี 2023 จากนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มกลับมาเดินทางระหว่างประเทศ โดยคาดว่ารัฐบาลจีนจะเริ่มทยอยผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ในช่วงปลายปี 2022 และปลดล็อกการเดินทางในปี 2023

 

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

EIC ประเมินว่า แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ในระยะถัดไปความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศมีเพิ่มสูงขึ้น สร้างแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการดำเนินมาตรการการเงินตึงตัว เศรษฐกิจยุโรปที่เผชิญความเสี่ยงจากด้านอุปทานพลังงานจากรัสเซีย รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีความเปราะบางในหลายภาคส่วน อีกทั้งเงินเฟ้อและราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูงทั่วโลก 

 

นอกจากนี้ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะท่าทีที่แข็งกร้าวระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในกรณีไต้หวัน ซึ่งจะเร่งให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ระหว่างทั้งสองประเทศเกิดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในด้านปริมาณ สะท้อนจากข้อมูลส่งออกสุทธิที่เคยเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสก่อน กลายมาเป็นปัจจัยฉุดต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสล่าสุด ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในระยะถัดไปมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นเดียวกัน 

 

ด้านความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการพยุงเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็นอยู่ แต่แรงส่งจะมีน้อยลง เนื่องจาก EIC ประเมินว่า เหลือเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่จะสามารถใช้ทำโครงการใหม่ได้เพียงราว 2.7 หมื่นล้านบาท และจะสิ้นอายุลงในเดือนกันยายน 2022

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising